โรคซึมเศร้ากับน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไป

โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกอยากอาหารของผู้ป่วย โดยบางรายอาจอยากอาหารมากกว่าปกติจนทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่บางรายอาจรู้สึกเบื่ออาหารหรือไม่รับประทานอาหารเลยจนมีน้ำหนักตัวลดลง ดังนั้น การทำความเข้าใจและศึกษาแนวทางรับมือกับปัญหาน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากโรคซึมเศร้า ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดแล้วกลับมามีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้นอีกครั้ง

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าและน้ำหนักตัวเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละรายจะมีอาการที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เพศ และอายุ โดยโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสิ้นหวัง โศกเศร้า โดดเดี่ยว หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หรือรู้สึกว่าตนเองด้อยค่าเป็นเวลานานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และอาการดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และ 1 ในสัญญาณอาการที่พบได้มากของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ ความอยากอาหารที่เปลี่ยนไป ผู้ป่วยบางส่วนอยากอาหารมากขึ้นจึงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะรู้สึกอยากอาหารน้อยลงหรือเบื่ออาหารจนส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง

โรคซึมเศร้ากับความอยากอาหาร

อาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ของโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกหดหู่ โศกเศร้า ด้อยค่า เมื่อยล้า และเบื่อหน่าย อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหมดพลังหรือหมดความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสนใจในการรับประทานอาหารและทำให้เบื่ออาหารได้ด้วย ในทางกลับกัน อาการของโรคซึมเศร้าก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยอยากอาหารมากกว่าเดิมได้ โดยผู้ป่วยบางรายยิ่งเศร้ายิ่งอยากอาหารแม้ร่างกายจะไม่ได้หิวก็ตาม เพราะการรับประทานอาหารส่งผลต่อสารเคมีในสมองทำให้รู้สึกอิ่มและมีความสุขมากกว่าตอนท้องว่าง โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูงที่อาจทำให้รู้สึกดีขึ้นได้หลังรับประทาน ดังนั้น การบริโภคอาหารจึงเป็นการตอบสนองต่อความเศร้า ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายก็เศร้าจนไม่อยากรับประทานอาหารเช่นกัน

ยาต้านเศร้ากับน้ำหนักตัว

แม้ยาต้านเศร้าจะช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ควบคุมอารมณ์และความเครียดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ แต่ยาต้านเศร้าบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ด้วย มีหลายสมมติฐานที่คาดว่ายาต้านเศร้าส่งผลต่อน้ำหนักตัวได้โดยส่งผลต่อความอยากอาหารและระบบการเผาผลาญของร่างกาย หรือทำให้ผู้ป่วยมีความสุขกับการรับประทานอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไป ซึ่งปัจจุบันมียาต้านเศร้าให้เลือกใช้หลายชนิด ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาหากได้รับผลกระทบเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

โดยยาต้านเศร้าที่อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก เช่น ยาอะมิทริปไทลีน ยาอะม็อกซาปีน ยาเดซิพรามีน ยาด็อกเซปิน ยาอิมิพรามีน ยานอร์ทริปไทลีน เป็นต้น โดยน้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นแม้ใช้ยาในระยะเวลาสั้น ๆ หรือใช้เป็นเวลานานก็ตาม
  • ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ เช่น ยาพาร็อกซีทีน ยาเซอร์ทราลีน ยาฟลูออกซิทีน ยาไซตาโลแพรม เป็นต้น แม้ในระยะแรกของการใช้ยากลุ่มนี้จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่หากใช้เป็นเวลานานหรือตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาเมอร์เทซาปีน เป็นต้น

ส่วนยาต้านเศร้าบางชนิดที่อาจทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลงหรืออาจมีน้ำหนักตัวลดลง ได้แก่ ยาเอสไซตาโลแพรม ยาบูโพรเพียน ยาดูล็อกซีทีน ยาเวนลาฟาซีน หรือยาเซเลจิลีน เป็นต้น

เคล็ดไม่ลับจัดการปัญหาน้ำหนักตัวในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่าปกตินั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือภาวะขาดสารอาหาร เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ เพื่อจัดการปัญหาน้ำหนักตัวให้อยู่หมัด

  • ทำความเข้าใจ ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้ากับความอยากอาหาร จากนั้นจึงสำรวจความรู้สึกของตนเองเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออาหารใหม่ โดยควรตระหนักว่าอาหารเป็นแหล่งของสารโภชนาการและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แทนที่จะรับประทานหรือไม่รับประทานอาหารเพียงเพราะกำลังมีอาการซึมเศร้า
  • ค่อย ๆ ใช้เวลา การเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อรับมือโรคซึมเศร้าควรเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ และให้เวลาได้ลงมือทำอย่างไม่รีบร้อน เมื่อสำเร็จตามเป้าหมายแล้วก็จะรู้สึกดีกับตัวเองและมีกำลังใจในการทำเป้าหมายต่อไป
  • ออกกำลังกายมากขึ้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมักไม่ค่อยชอบขยับตัวทำอะไร และอยากที่จะนั่งหรือนอนอยู่เฉย ๆ ซึ่งการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดน้ำหนัก ทั้งยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งจะปรับอารมณ์ ความรู้สึก และช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ โดยอาจเริ่มต้นจากการยืดเส้นยืดสาย เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน รวมถึงทำความสะอาดบ้าน ล้างรถ ทำสวน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
  • กินดีมีประโยชน์ ปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ปลาซาร์ดีน หรือปลาทูน่า อาจมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของสมอง และอาจช่วยให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาต้านเศร้าได้ดีขึ้น ส่วนอาหารอื่น ๆ ที่อุดมไปด้วยสารโภชนาการและวิตามินก็มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการขาดวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และสารทริปโตแฟนอาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ได้ นอกจากนี้ ความอยากอาหารที่ลดลงและการอดอาหารจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้นได้
  • ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากการใช้ยาต้านเศร้าบางชนิดเป็นเวลานานอาจทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนไปใช้ยาต้านเศร้าที่ยังคงประสิทธิภาพการรักษาแต่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักตัวน้อยลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเรียนรู้การคิดและการมองโลกในแง่บวก สังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ความรู้สึก และรายงานให้แพทย์ทราบเสมอ เพื่อหาทางออกและวิธีรักษาที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้ป่วยเอง