รู้จักโรคละเมอแชต อาการที่คนติดมือถือต้องระวัง และวิธีป้องกัน

โรคละเมอแชต (Sleep texting) หมายถึงพฤติกรรมที่มีการใช้โทรศัพท์เพื่อตอบข้อความหรือส่งข้อความไปหาผู้อื่นขณะที่กำลังนอนหลับ โดยโรคละเมอแชตเป็นหนึ่งในลักษณะของความผิดปกติด้านการนอนหลับที่เรียกว่าการละเมอ ผู้ที่มีอาการละเมอแชตมักไม่รู้ตัวและจำไม่ได้ว่าเคยส่งข้อความไปหาผู้อื่น 

ละเมอเป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายถึงอาการหรือพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ เช่น การเดิน การพูดคุย รวมไปถึงการส่งข้อความหาผู้อื่นหรือโรคละเมอแชต โดยโรคละเมอแชตมักไม่เป็นอันตราย และไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวลหากเกิดขึ้นไม่บ่อย อย่างไรก็ตาม หากโรคละเมอแชตเกิดขึ้นบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

โรคละเมอแชต

ทำความรู้จักโรคละเมอแชต

โรคละเมอแชต หมายถึงการใช้โทรศัพท์เพื่อส่งข้อความไปหาผู้อื่นในขณะที่กำลังนอนหลับ โดยส่วนใหญ่โรคละเมอแชตมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีโทรศัพท์อยู่ใกล้ตัวขณะนอนหลับ ผู้ที่ติดโทรศัพท์หรือผู้ที่ได้ยินเสียงการแจ้งเตือนแล้วต้องหยิบโทรศัพท์มาดู 

ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเกิดโรคละเมอแชตอาจยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น โดยสมองของมนุษย์ขณะนอนหลับนั้นไม่ได้หลับพร้อมกันทุกส่วน ซึ่งสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวหรือการตอบสนองอาจกำลังทำงานอยู่ ในขณะที่สมองส่วนที่ควบคุมการตื่นอาจไม่ได้กำลังทำงาน เมื่อได้ยินเสียงการแจ้งเตือน จึงอาจทำให้หยิบโทรศัพท์มาส่งข้อความขณะนอนหลับได้

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างยังอาจส่งผลให้เกิดโรคละเมอแชตได้ เช่น

วิธีป้องกันโรคละเมอแชตอย่างเหมาะสม

โรคละเมอแชตมักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน แต่อาจสร้างความวิตกกังวลหรืออาจทำให้รู้สึกอับอายได้ อย่างไรก็ตาม โรคละเมอแชตสามารถป้องกันได้ไม่ยากด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ก่อนนอน โดยอาจปิดเสียงหรือปิดเครื่องโทรศัพท์ เนื่องจากเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์อาจกระตุ้นให้เกิดโรคละเมอแชตได้ 
  • เปลี่ยนยานอนหลับ เนื่องจากยานอนหลับหรืออาหารเสริมที่ช่วยในการนอนหลับอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคละเมอแชตได้ โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมต่อร่างกาย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7–9 ชั่วโมง เนื่องจากโรคละเมอแชตอาจเกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ปรับเปลี่ยนห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับ โดยห้องนอนควรเงียบ มืด มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งการปรับเปลี่ยนเหล่านี้อาจช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหาร คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน
  • ออกกำลังกายป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายมักช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากโรคละเมอแชตเกิดขึ้นบ่อย หรือทำให้รู้สึกกังวล ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจช่วยวินิจฉัยถึงสาเหตุของการเกิดโรคละเมอแชต รักษาโรคหรืออาการที่กระตุ้นให้เกิดการละเมอ หรือให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้โรคละเมอแชตมีอาการดีขึ้น