คลื่นไส้ (Nausea)

ความหมาย คลื่นไส้ (Nausea)

คลื่นไส้ (Nausea) คืออาการอึดอัดมวนภายในท้อง พะอืดพะอม ทำให้รู้สึกอยากอาเจียน ซึ่งต่อมาอาจอาเจียนออกมาหรือไม่ก็ได้ โดยคลื่นไส้เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพในร่างกาย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทสมอง ความสมดุลของหูชั้นใน และในบางกรณีก็เป็นผลข้างเคียงจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย

โดยอาการคลื่นไส้สามารถเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือเกิดอาการเรื้อรัง หากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหรือมีอาการน้อย มักหายไปได้เองโดยไม่เป็นอันตราย และสามารถดูแลอาการคลื่นไส้ได้ด้วยตัวเอง แต่หากมีอาการเรื้อรังหรืออาการมีความรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

คลื่นไส้

อาการคลื่นไส้

ผู้ที่เกิดอาการคลื่นไส้จะรู้สึกไม่สบายหรือพะอืดพะอมอยู่ข้างในท้องส่วนบน หน้าอก หรือลำคอ นอกจากนี้ อาจรู้สึกเอียนหรือเบื่ออาหาร หรืออยากอาเจียนออกมา หากเกิดอาการคลื่นไส้และรู้สึกอยากอาเจียน อวัยวะต่างๆ ในร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • กล้ามเนื้อหูรูดซึ่งอยู่ระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารจะคลายตัว ส่งผลให้อาหารภายในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร
  • กล้ามเนื้อบริเวณท้องและกะบังลมจะหดเกร็ง
  • หลอดลมจะปิด
  • ท้องส่วนล่างหดเกร็ง

เมื่อเกิดอาเจียนออกมา อาหารหรือสิ่งที่รับประทานเข้าไปถูกขับออกมาผ่านหลอดอาหารและปาก ส่งผลให้เกิดอาการสะอึกเมื่อรู้สึกคลื่นไส้ โดยอาการสะอึกนี้เกิดจากกล้ามเนื้อท้องและระบบทางเดินหายใจหดเกร็งเป็นจังหวะซ้ำ ๆ กัน บางครั้งอาจมีเหงื่อออกมาก  

นอกจากนี้ อาการคลื่นไส้อาจเกิดร่วมกับอาการป่วยอย่างอื่น เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือท้องร่วง

สาเหตุของการคลื่นไส้

คลื่นไส้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุที่มาจากปัญหาสุขภาพในร่างกาย และผลข้างเคียงจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ดังนี้

1. ปัญหาสุขภาพในร่างกาย

สาเหตุจากปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้นั้น สามารถแบ่งตามปัญหาสุขภาพที่เกิดกับร่างกายส่วนต่างๆ ได้แก่ อวัยวะเกี่ยวกับช่องท้อง ระบบประสาทและสมอง และความสมดุลภายในหูชั้นใน  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

อวัยวะเกี่ยวกับช่องท้อง
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับช่องท้องและก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้มีหลายโรคด้วยกัน ได้แก่ ไวรัสลงกระเพาะ หรือท้องเดินจากไวรัส (Gastroenteritis) การอักเสบที่ตับ ตับอ่อน หรือไต โรคกรดไหลย้อน กระเพาะอาหาร ผนังลำไส้ หรืออวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานเกิดการระคายเคือง ปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี

โรคทางระบบประสาทและสมอง
โรคที่เกี่ยวกับอวัยวะส่วนนี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคลื่นไส้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากปวดหัวไมเกรน ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเลือดออกข้างในหรือรอบ ๆ สมอง 

ทั้งนี้ อาการคลื่นไส้สามารถเกิดจากต้อหินได้ เนื่องจากเส้นประสาทตาถูกกดทับ และบางครั้งก็เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของสมองที่มีต่ออาการเจ็บปวดหรืออารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น การมองหรือได้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

ความสมดุลภายในหูชั้นใน
อาการคลื่นไส้อาจเกี่ยวข้องกับโรคบ้านหมุนซึ่งเป็นอาการเวียนหัวเพราะเห็นสิ่งต่าง ๆ หมุน หรือเคลื่อนไหวโคลงเคลง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขยับตัว บ้านหมุนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน การติดเชื้อไวรัสในหูชั้นใน และเนื้องอกที่สมองหรือเส้นประสาท

2. การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย 

ผลข้างเคียงของสารเคมีในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงนั้น สามารถก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ ดังนี้

ฮอร์โมนเพศ
สตรีมีครรภ์ประมาณร้อยละ 50 มักรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ และเกิดอาการไม่สบายอื่น ๆ ในตอนเช้า โดยจะเกิดอาการเหล่านี้ระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงเดือนแรก ๆ ทั้งนี้ อาการดังกล่าวยังเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากยาคุมกำเนิดด้วย

ยารักษาโรคบางอย่าง
ยารักษาโรคบางตัวไม่ว่าเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรล้วนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อันเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะยาที่ต้องรับประทานร่วมกับยาอื่นในคราวเดียวกัน ส่วนผู้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือใช้ยาต้านโรคซึมเศร้าก็อาจเกิดอาการคลื่นไส้ได้ เนื่องจากยาเหล่านี้มักก่อให้เกิดอาการดังกล่าว 

ดังนั้น หากต้องใช้ตัวยาอื่น ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดอาการคลื่นไส้เป็นธรรมดา

การใช้แอลกอฮอล์
ผู้ที่เกิดอาการเมาสุราหรือผู้ที่ถอนพิษสุรานั้น มักรู้สึกคลื่นไส้

การได้รับยาสลบ
ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด อาจมีอาการคลื่นไส้เมื่อฟื้นขึ้นมาและอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากยาดังกล่าว

การแพ้อาหารหรืออาหารเป็นพิษ
เชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมาในอาหารอาจทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการอาหารเป็นพิษ โดยเชื้อแบคทีเรียนั้นจะก่อให้เกิดพิษซึ่งนำไปสู่อาการปวดท้องและคลื่นไส้ ทั้งนี้ ผู้ที่รับประทานอาหารมากเกินไป รับประทานอาหารบางอย่างหรืออาหารที่ตัวเองแพ้  ก็สามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน

การวินิจฉัยอาการคลื่นไส้

เนื่องจากอาการคลื่นไส้เกิดจากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยอาการดังกล่าวจึงต้องพิจารณาร่วมกับอาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยสาเหตุของอาการคลื่นไส้จากประวัติการรักษาและการใช้ยาของผู้ป่วย 

โดยผู้ป่วยอาจบอกอาการอื่น ๆ ที่มี อาหารที่รับประทาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้แก่แพทย์เพิ่มเติม รวมทั้งความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ช่วงของรอบเดือน หรือวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ เพื่อช่วยให้แพทย์ตรวจการตั้งครรภ์อันอาจเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจท้อง ตรวจระบบประสาท และการตรวจต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นและประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเพิ่งประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจต้องตรวจสแกนศีรษะร่วมด้วย

การรักษาอาการคลื่นไส้

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะรักษาอาการคลื่นไส้ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น ผู้ป่วยที่เกิดอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา โดยเบื้องต้นสามารถดูแลอาการคลื่นไส้ได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • หากผู้ป่วยรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ควรรับประทานยารักษาโรคนั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการของโรคและอาการคลื่นไส้ เช่น หากอาการคลื่นไส้เกิดจากโรคกรดไหลย้อนหรือแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานยาลดกรดเพื่อช่วยลดการสร้างกรด รวมทั้งเคลือบผนังกระเพาะอาหาร
  • ผู้ที่รู้สึกคลื่นไส้จากการเมารถเมาเรือ ควรนั่งเบาะแถวหน้าของรถหรือเรือ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวให้ทุเลาลงได้ ทั้งนี้การรับประทานยาแก้อาเจียนก็ช่วยรักษาและป้องกันไม่ให้เมารถและเกิดอาการอยากอาเจียนได้ โดยยาแก้อาเจียนที่ควรรับประทาน เช่น ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine)
  • ดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้กระเพาะอาหารฟื้นตัวเร็ว เช่น น้ำขิง หรือชาดอกคาโมมายล์
  • หากคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย ควรดื่มน้ำสะอาดเพื่อเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
  • เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้ำอัดลม กาแฟ หรือชา
  • รับประทานอาหารมื้อย่อย โดยแบ่งเป็นมื้อเล็กและรับประทานบ่อย ๆ เพื่อให้กระเพาะอาหารค่อย ๆ ย่อยอาหาร
  • ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสจืดหรืออาหารอ่อน ๆ เพื่อช่วยในการย่อย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
  • เลี่ยงอาหารเผ็ดและอาหารทอด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการคลื่นไส้บางรายอาจต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที หากรู้สึกคลื่นไส้และเกิดอาการต่อไปนี้

  • เจ็บหน้าอกเหมือนถูกแทง ปวดหัวอย่างรุนแรง เจ็บบริเวณขากรรไกรหรือแขนซ้าย ซึ่งเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • รู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง คอแข็ง หายใจติดขัด หรือรู้สึกสับสนมึนงง
  • รู้สึกคลื่นไส้จนไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง
  • อาการคลื่นไส้ไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับประทานยาที่ซื้อจากร้านขายยาทั่วไป
  • สันนิษฐานว่าอาการคลื่นไส้ที่เกิดขึ้นอาจมาจากการได้รับสารพิษ หรือผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำร่วมกับอาการคลื่นไส้ด้วย

การป้องกันอาการคลื่นไส้

การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสาเหตุของอาการคลื่นไส้ จะช่วยป้องกันผู้ป่วยไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวได้ดีที่สุด โดยทั่วไป อาการคลื่นไส้สามารถป้องกันได้ โดยปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้

  • เลี่ยงอยู่ในสถานที่ที่มีแสงไฟวิบวับซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน รวมทั้งเลี่ยงอยู่ในที่ที่อับชื้น
  • ไม่ควรดมสิ่งของ น้ำหอม ควัน หรืออาหารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง
  • เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ และกินบ่อย ๆ เพื่อให้กระเพาะอาหารไม่อิ่มแน่นจนเกินไป การแบ่งอาหารมื้อย่อยจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ อีกทั้งเมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ไม่ควรทำกิจกรรมหนัก ๆ ทันที
  • เลี่ยงรับประทานอาหารค้างคืนหรืออาหารที่เริ่มมีกลิ่นบูด รวมทั้งงดอาหารรสจัด ไขมันสูง และน้ำมันเยิ้ม
  • ผู้ที่เมารถเมาเรือไม่ควรอ่านหนังสือขณะยานพาหนะวิ่ง และเลือกที่นั่งที่ทำให้กระเทือนน้อยที่สุด รวมทั้งรับประทานยาแก้คลื่นไส้ก่อนออกเดินทาง ก็สามารถช่วยลดอาการเมาได้
  • เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาแก้คลื่นไส้ก็ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เนื่องจากจะทำให้อาการป่วยแย่ลงกว่าเดิม
  • หากเกิดอาการคลื่นไส้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ควรทำบันทึกรายชื่ออาหารเพื่อดูว่าอาหารชนิดใดที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว