อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม จัดการอย่างไร เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม ถือเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยอาการนี้สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ การทำความรู้จักกับวิธีรับมือกับอาการนี้เอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรง อย่างการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือการได้รับกลิ่นบางอย่าง ไปจนถึงสาเหตุที่มีความรุนแรง อย่างภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรือการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน

อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม จัดการอย่างไร เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

วิธีรับมือกับอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม

ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม อาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการด้วยตัวเอง

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ เนื่องจากหลายคนอาจรู้สึกเบื่ออาหารหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ในช่วงที่มีอาการจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำส้ม เพราะผลไม้ชนิดนี้มีความเป็นกรดสูง ซึ่งอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้ หากเป็นไปได้อาจเลือกดื่มเป็นน้ำขิง เนื่องจากมีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าเครื่องดื่มชนิดนี้อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วงที่มีอาการไปก่อน โดยเฉพาะอาหารทอดหรืออาหารที่มีน้ำมันเยอะ รวมทั้งอาหารที่มีกลิ่นแรง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ส่งผลให้อาการแย่ลง เช่น กลิ่นบางอย่าง ควันบุหรี่ หรือการอยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ร้อน หรือชื้น 
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง เช่น รับประทานอาหารให้ช้าลง หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหารบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเอนตัวนอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ หรืออาจจะรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลงแต่เพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น 
  • สำหรับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมขณะนั่งรถ อาจลองเปลี่ยนที่นั่งมานั่งข้างหน้าแทนและหันหน้ามองตรง เนื่องจากการหันข้างมองสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ รถคันอื่น ๆ หรือเส้นบนถนน ซึ่งเคลื่อนไหวไปมาตลอดเวลาอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้

อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมในลักษณะไหนที่ควรไปพบแพทย์

โดยปกติแล้ว อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ผู้ที่มีอาการมากควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงภายใน 24 ชั่วโมง เกิดอาการคลื่นไส้บ่อย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ หรือคิดว่าอาการอาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุบางอย่าง เช่น การตั้งครรภ์ การได้รับสารพิษ หรือเพิ่งได้รับการกระแทกที่ศีรษะ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และพบอาการนี้บ่อย ๆ รวมทั้งผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • สัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดศีรษะขั้นรุนแรง หรือเกิดอาการปวดที่บริเวณแขน คอ หลัง และขากรรไกร 
  • อาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ขึ้นสูง รู้สึกเกร็งหรือตึงบริเวณลำคอ รู้สึกสับสน มองเห็นภาพเบลอ ปวดท้องขั้นรุนแรง อาเจียนปนเลือด อาเจียนมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีเศษคล้ายอุจจาระปนมากับอาเจียน หรืออาเจียนมีสีเขียว 

นอกจากนี้ ในหลาย ๆ ครั้ง อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมยังอาจนำไปสู่การอาเจียนหลายครั้ง จนอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากเริ่มพบสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำผิดปกติ ปากแห้งผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้มผิดปกติ หรือเวียนศีรษะขั้นรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที