ลูกแฝด คือการตั้งครรภ์ที่มีทารกในมดลูกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันจำนวนการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มสูงมากกว่าเดิม สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่มากขึ้น โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ลูกแฝดที่มีอายุมากกว่า 30 ปีมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 รวมทั้งการใช้ยาและกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝดมากยิ่งขึ้น
การตั้งครรภ์ลูกแฝดเกิดจากอะไร?
การตั้งครรภ์ลูกแฝดเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่
แฝดแท้ (Identical Multiples) คือแฝดที่เกิดขึ้นจากการผสมกันของไข่ 1 ใบกับอสุจิ 1 ตัว แต่ไข่ที่ถูกผสมมีการแบ่งเป็นตัวอ่อน 2 ตัวหรือมากกว่านั้น ฝาแฝดแท้จะมีเพศเดียวกัน หมู่เลือดเดียวกัน และมักจะมีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกัน
การตั้งครรภ์แฝดแท้นั้นเชื่อว่าเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านอายุ เชื้อชาติ หรือพันธุกรรมแต่อย่างใด และพบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอัตรา 3-4 ต่อทุก ๆ การคลอดบุตร 1,000 ครั้ง
แฝดเทียม (Fraternal Multiples) เกิดจากไข่มากกว่า 1 ใบที่ผสมกับอสุจิคนละตัว ทำให้แฝดเป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศก็ได้ อาจมีหมู่เลือดต่างกัน และมีความเป็นไปได้ว่าลักษณะหน้าตาอาจไม่เหมือนฝาแฝด แต่ดูคล้ายคลึงอย่างพี่น้องธรรมดาทั่วไป
ฝาแฝดลักษณะนี้จะพบได้บ่อยในคู่รักที่มีบุตรจากกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากการใช้ยาช่วยให้ร่างกายผลิตไข่ออกมาได้หลายใบในช่วงเวลานั้น ๆ หรือจากกระบวนการที่แพทย์ใส่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วลงในมดลูกหลาย ๆ ใบเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ล้วนแต่เพิ่มโอกาสการเกิดครรภ์แฝดไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญด้านอื่น ๆ เช่น การตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป การตั้งครรภ์จากการหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด การเคยตั้งครรภ์ลูกแฝดเทียมมาก่อน หรือการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ลูกแฝด
การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ครรภ์ลูกแฝดจะทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดทั้งหลายไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป มีลูกแฝดจำนวนมากที่คลอดออกมาปลอดภัยและแข็งแรง เพียงแต่ต้องระมัดระวังและดูแลครรภ์มากขึ้นเป็นพิเศษ โดยภาวะแทรกซ้อนที่คุณแม่ลูกแฝดควรระวังมีดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่
- ภาวะความดันโลหิตสูง ครรภ์แฝดสามารถส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ง่าย และหากภาวะนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการมีโปรตีนในปัสสาวะก็จะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ กับแม่และเด็กตามมา ในการฝากครรภ์ สูติแพทย์จึงต้องตรวจเช็คโปรตีนในปัสสาวะและระดับความดันโลหิตให้อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษนี้
- เสี่ยงต่อการแท้งบุตรและเสียลูกในครรภ์ไปมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
- การผ่าคลอด ครรภ์แฝดไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าคลอดเสมอไป แม่ที่ตั้งครรภ์สามารถคลอดธรรมชาติได้หากทารกคนแรกที่จะออกมาอยู่ในท่าเอาหัวลง แต่ในกรณีอื่น ๆ หรือในครรภ์แฝด 3 คนขึ้นไปแพทย์มักแนะนำให้ผ่าคลอด หรือบางครั้งการคลอดแฝดคนแรกแบบธรรมชาติอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ทำให้ต้องใช้การผ่าคลอดกับแฝดคนที่เหลือก็ได้
- ภาวะโลหิตจาง ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียและอ่อนแรงลง คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริม
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ปกติมีโอกาสเสี่ยงอยู่แล้ว แต่จะยิ่งเสี่ยงยิ่งขึ้นหากเป็นครรภ์แฝด
- ภาวะตกเลือด สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระยะก่อนคลอดและหลังคลอด
- จำเป็นต้องคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด
- แม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้มากกว่าการตั้งครรภ์ปกติถึง 2.5 เท่า
- อาการแพ้ท้องรุนแรงกว่าปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก แสบร้อนกลางอก และครรภ์แฝดน้ำ
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกแฝด
- คลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝดหลายคนเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติและอาจมีอวัยวะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เกิดความผิดปกติร้ายแรงเกี่ยวกับปอด สมอง หัวใจ และการมองเห็น นอกจากนั้นยังอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- เกิดความผิดปกติทางโครงสร้างทางพันธุกรรมหรือโครโมโซมของทารกพัฒนาไปอย่างไม่ปกติ ทำให้เกิดโรคพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าเด็กในครรภ์ปกติเป็น 2 เท่า แพทย์จึงแนะนำให้หญิงที่ตั้งครรภ์รับประทานกรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัม ในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพื่อช่วยป้องกันภาวะความผิดปกติที่จะกระทบต่อสมอง กระดูกสันหลัง และไขสันหลังของทารก
- ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (IUGR) ฝาแฝดหลาย ๆ คู่ในภาวะนี้เกิดมาตัวเล็กแต่แข็งแรงได้ ทั้งนี้ แพทย์ก็ต้องเฝ้าติดตามน้ำหนักของทารกด้วยการอัลตราซาวด์และวัดขนาดท้องอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ทารกจะเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพตามมาและอาจต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด
- ทารกมีการถ่ายเทเลือดให้กัน ในครรภ์แฝดแท้นั้นมีความเป็นไปได้ที่หลอดเลือดในรกจะเชื่อมระบบไหลเวียนโลหิตของทารกเข้าด้วยกัน ทำให้ทารกคนหนึ่งเสียเลือดจนตัวเล็กลงและเกิดภาวะโลหิตจาง ในขณะที่อีกคนที่ได้รับเลือดมากเกินอาจเกิดหัวใจวายได้ จึงถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงสำหรับเด็กทั้งคู่และอาจต้องให้การช่วยเหลือตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การทำคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ในครรภ์ปกติมีอัตราการเสียชีวิตในครรภ์ของทารก 5 ใน 1,000 ส่วนครรภ์แฝดจะมีความเสี่ยงที่ราว ๆ 12.3 ใน 1,000 และยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในแฝด 3 เป็น 31.1 ใน 1,000
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังจากคลอดหรือเกิดโรคระยะยาว เช่นโรคปอดเรื้อรัง
- สายสะดือรกพันกัน พบได้ไม่บ่อยและส่วนใหญ่จะเกิดกับทารกแฝดที่อยู่ในถุงตั้งครรภ์เดียวกัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าแฝดที่มีถุงตั้งครรภ์แยกกันคนละถุง
- ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างอาจไม่ได้เกิดขึ้นขณะอยู่ในครรภ์หรือเห็นได้ทันทีเมื่อหลังคลอด แต่ไปปรากฏในภายหลัง เช่น ปัญหาด้านการพูดและสื่อสาร การพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรมและการโต้ตอบกับพ่อแม่ที่พบได้ในเด็กแฝดมากกว่า
- ทารกแฝดมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาการให้นมมากกว่าทารกคนเดียว เมื่อคุณแม่เด็กต้องพยายามให้นมแก่ลูกทั้ง 2 คน
ไม่เพียงแต่ปัญหาทางการแพทย์ข้างต้นที่คุณแม่และทารกอาจต้องเผชิญ พ่อแม่ที่กำลังจะมีลูกแฝดยังควรเตรียมพร้อมต่อปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหาด้านการเงิน ด้านสังคม รวมถึงจิตใจและอารมณ์ของพ่อแม่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นเมื่อต้องเลี้ยงดูทารกมากกว่า 1 คนในคราวเดียวกัน
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์แฝดอย่างไรดี ?
สุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่จะช่วยให้รับมือกับครรภ์แฝดและภาวะแทรกซ้อนที่อาจต้องเผชิญได้อย่างดีขึ้น ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ในการดูแลครรภ์ให้แข็งแรงและสมบูรณ์ มีดังนี้
- ไปพบแพทย์ตามนัดหมายการฝากครรภ์ทุกครั้ง
- ศึกษาและคอยสังเกตอาการบ่งบอกภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น ใบหน้า มือ และเท้าบวมเฉียบพลัน ปวดใต้ซี่โครงอย่างรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่าหรือเห็นแสงวาบ รู้สึกไม่ค่อยสบาย และอาเจียน
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยา วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นอาหารที่อุดมด้วยกรดโฟลิก ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง พบได้ในข้าว แป้ง ขนมปัง เนื้อสัตว์ นม ชีส ผักผลไม้ทั้งหลาย และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเกิดอาการแพ้ท้องจนทำให้รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ เล่นโยคะ รวมทั้งการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่สูติแพทย์แนะนำหรืออนุญาตให้ทำได้อย่างปลอดภัย
- เลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทารกแฝดใช้รกร่วมกัน เพราะจะส่งผลให้รกที่ต้องทำงานหนักเพื่อที่จะส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทารกแฝดอย่างเพียงพออยู่แล้วทำงานหนักมากยิ่งขึ้น สำหรับคุณแม่ที่ติดบุหรี่ สูติแพทย์จะแนะนำผู้เชี่ยวชาญด้านการเลิกบุหรี่เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่อย่างได้ผล
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด
- พักผ่อนให้มาก
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ