ขั้นตอนและปัจจัยเสี่ยงในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)

เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF) เป็นวิธีการทางเลือกที่ใช้รักษาภาวะมีบุตรยากแบบปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ด้วยการนำไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิของฝ่ายชายไปผสมในภาชนะในห้องปฏิบัติการ เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้ว แพทย์จึงนำตัวอ่อน (Embryo) ใส่กลับเข้าไปให้ฝังตัวภายในมดลูกของฝ่ายหญิงจนเกิดการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก และอายุของผู้ป่วย ผู้มีบุตรยากควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินว่าการทำเด็กหลอดแก้วเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ และรับคำแนะนำในการทำเด็กหลอดแก้วต่อไป

เด็กหลอดแก้ว

เด็กหลอดแก้วใช้ในกรณีใด

การทำเด็กหลอดแก้วจะใช้เมื่อผู้หญิงที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้พยายามมีลูกด้วยการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 1 ปี หรือ ระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วอาจเป็นวิธีรักษาอันดับแรก ๆ ที่แพทย์เลือกใช้สำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรและมีอายุมากกว่า 40 ปี

นอกจากนี้ เด็กหลอดแก้วจะใช้กับผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเนื่องจากฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายมีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

  • ท่อนำไข่หรือปีกมดลูกเกิดความเสียหายหรืออุดตัน ทำให้ไข่ไม่ได้รับการผสมหรือตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในมดลูกได้
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับการตกไข่ เช่น การตกไข่จำนวนน้อย หรือไม่มีการตกไข่ในบางเดือน ซึ่งทำให้ไข่มีโอกาสได้รับการผสมน้อยลง 
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่มีเนื้อเยื่อเกิดขึ้นและเจริญเติบโตนอกมดลูก ซึ่งจะรบกวนการทำงานของระบบรังไข่ มดลูก และท่อนำไข่
  • มีเนื้องอกมดลูกแบบ Fibroids เกิดขึ้นที่ผนังมดลูก ซึ่งจะรบกวนกระบวนการฝังตัวของไข่ที่ผนังมดลูก มักพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30–40 ปี
  • เคยทำหมันด้วยการตัดหรือผูกท่อนำไข่มาก่อน หากเป็นการทำหมันที่ไม่สามารถแก้ไขได้ วิธีการเด็กหลอดแก้วจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้
  • ฝ่ายชายผลิตอสุจิได้จำนวนน้อย อสุจิไม่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ หรืออสุจิมีขนาดและรูปร่างผิดปกติ ซึ่งจะทำให้อสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น
  • ภาวะมีบุตรยากที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือคู่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจถ่ายทอดไปยังทารก แพทย์อาจให้ตรวจคัดกรองความผิดปกติของพันธุกรรมก่อนการฝังตัว (Preimplantation Genetic Screening) โดยการดึงเซลล์ตัวอ่อนออกมาตรวจวิเคราะห์ และจะคัดตัวอ่อนที่ดีที่คัดแล้วใส่กลับเข้าไปที่มดลูกของฝ่ายหญิง
  • อยู่ในระหว่างการเจ็บป่วยหรือการรักษาตัวที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เช่น ป่วยด้วยโรคมะเร็ง จึงต้องบำบัดด้วยรังสีบำบัดและเคมีบำบัด ในกรณีนี้ผู้ป่วยสามารถเก็บไข่ที่ยังไม่ได้ผสมแช่แช็งไว้ในห้องปฏิบัติการ หรือสามารถเก็บไข่ที่ผสมกับสเปิร์มเป็นตัวอ่อนแล้วแช่แข็งไว้ในห้องปฏิบัติการแล้วค่อยใส่กลับเข้าไปทำให้เกิดการตั้งภรรภ์ได้ในภายหลัง

ข้อจำกัดของการทำเด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้วไม่เหมาะกับผู้ที่มีมดลูกไม่แข็งแรงหรือมดลูกทำงานผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายหากตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเหล่านี้ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้ สามารถเก็บไข่และสเปิร์มเพื่อทำเด็กหลอดแก้วแล้วใส่กลับเข้าไปให้อาสาสมัครที่ไว้ใจตั้งครรภ์แทนได้ หรือหากไม่สามารถใช้สเปิร์มของฝ่ายชายได้ สามารถเลือกรับสเปิร์มที่มีผู้บริจาคได้เช่นกัน

การเตรียมการก่อนทำเด็กหลอดแก้ว

การรักษาผู้ที่มีบุตรยากมีหลายวิธี เช่น การใช้ยา การผ่าตัด และการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งแต่ละวิธีอาจมีประโยชน์และข้อจำกัดต่างกัน เมื่อประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก และพยายามมีบุตรด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำในการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม 

ผู้ป่วยจะตัดสินใจเข้ารับการรักษาร่วมกับแพทย์ โดยพิจารณาจากประวัติของผู้ป่วย และประวัติการรักษาที่ผ่านมาของผู้ป่วย ข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง โอกาสประสบความสำเร็จ และค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้ว 

จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยและทดสอบคัดกรองด้วยวิธีต่าง ๆ ก่อนวางแผนรักษาและนัดหมายในขั้นตอนต่อไป เช่น

  • การทดสอบการทำงานของรังไข่ แพทย์อาจตรวจเลือดในช่วง 2–3 วันแรกที่มีประจำเดือน เพื่อตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ (Follicle-Stimulating Hormone: FSH) ฮอร์โมนเอสทราไดออล และฮอร์โมนแอนติมูลเลอเรียน ซึ่งเป็นแนวทางในการตรวจดูคุณภาพของไข่ในฝ่ายหญิง และแนวโน้มในการตอบสนองต่อการใช้ยากระตุ้นไข่ โดยมักจะทำร่วมกันกับการอัลตราซาวด์รังไข่
  • การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ แพทย์จะตรวจดูความสมบูรณ์ของขนาด จำนวน และรูปร่างของอสุจิ หากมีความผิดปกติ อาจใช้การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) โดยคัดอสุจิที่สมบูรณ์ที่สุด 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง
  • การตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อ เป็นการตรวจหาภาวะติดเชื้อทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสร้ายแรงอย่างเอชไอวี
  • การทดสอบถ่ายฝากตัวอ่อน แพทย์จะทดสอบความลึกของมดลูกเพื่อเตรียมการก่อนการถ่ายฝากตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วเข้าไปในมดลูก เพื่อเตรียมการและประเมินโอกาสประสบความสำเร็จ
  • การทดสอบโพรงมดลูก แพทย์จะทดสอบโพรงมดลูกก่อนเริ่มทำเด็กหลอดแก้ว โดยแพทย์จะตรวจมดลูกและรังไข่เพื่อประเมินความเหมาะสมในการทำเด็กหลอดแก้ว โดยอาจใช้การส่องกล้อง อัลตราซาวด์ และอาจใช้การฉีดสีร่วมด้วย เพื่อให้วิเคราะห์ผลได้อย่างแม่นยำ

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละคลินิกหรือสถานพยาบาล โดยวิธีการหลัก ๆ มีดังนี้  

ขั้นตอนของฝ่ายหญิง

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วของฝ่ายหญิง มีดังนี้

ขั้นที่ 1 ควบคุมรอบเดือน

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาเอสโตรเจนที่ช่วยควบคุมระยะเวลาการมีรอบเดือน และช่วยลดการสร้างถุงน้ำรังไข่ การควบคุมรอบเดือนจะช่วยให้การรักษาในขั้นตอนต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับยาเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว หรือเอสโตรเจนผสมกับโปรเจสเตอโรนในรูปแบบฉีดด้วยตัวเองทุกวัน หรือรูปแบบยาพ่นจมูก โดยอาจต้องใช้ต่อเนื่องกันประมาณ 2 สัปดาห์

ขั้นที่ 2 กระตุ้นการตกไข่ 

แพทย์จะให้ฉีดฮอร์โมน(Follicle-Stimulating Hormone: FSH) และฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) ซึ่งช่วยกระตุ้นการผลิตไข่ให้ได้จำนวนไข่มากขึ้น รวมทั้งฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ การใช้ยาเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสในการเลือกไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย และแพทย์อาจให้ฉีดยาป้องกันการตกไข่ก่อนเวลาอันควรร่วมด้วย เป็นการเพิ่มโอกาสในการเลือกไข่ที่สมบูรณ์ที่สุด

ขั้นที่ 3 ตรวจความคืบหน้า 

แพทย์จะตรวจความคืบหน้าหลังผู้ป่วยได้รับยาและฮอร์โมนกระตุ้นการผลิตไข่ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูจำนวนและขนาดของไข่หรือตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณฮอร์โมนในร่างกาย

ขั้นที่ 4 เก็บไข่รอการผสม 

แพทย์จะให้ยาชาหรือยาสลบแก่ผู้ป่วยแล้วจึงใช้เข็มดูดไข่ออกมาผ่านทางช่องคลอด ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15–20 นาที

ขั้นที่ 5 ผสมไข่กับอสุจิ

หลังการเก็บไข่ แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนแก่ผู้ป่วยเพื่อเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมรับการตั้งครรภ์ อาจเป็นในรูปแบบสอดในช่องคลอด เจล หรือยาฉีด จากนั้นแพทย์จะนำไข่ที่เก็บจากฝ่ายหญิงกับสเปิร์มที่ได้จากฝ่ายชายไปผสมจนเกิดการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ

แพทย์จะตรวจผลว่ามีการปฏิสนธิหรือไม่ หากมีการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะเติบโตในอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ ก่อนแพทย์จะนัดหมายกับผู้ป่วยเพื่อฉีดตัวอ่อนให้เข้าไปฝังตัวในมดลูกในขั้นต่อไป

ขั้นที่ 6 ถ่ายฝากตัวอ่อน 

ประมาณ 2–3 วันหลังการเก็บไข่และการผสมไข่กับสเปิร์มจนปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุดแล้วฉีดกลับเข้าไปในมดลูกผ่านทางท่อที่สอดใส่ผ่านช่องคลอดไปถึงมดลูก ขั้นตอนนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยาชาหรือยาสลบแต่อย่างใด โดยปกติจะถ่ายฝากตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงตัวเดียว 

แต่บางกรณีที่มีปัจจัยทางการแพทย์ เช่น ไม่มีตัวอ่อนที่คุณภาพดีที่สุด หรือผู้ป่วยที่ต้องการตั้งครรภ์มีอายุมากประมาณ 40–42 ปีขึ้นไป แพทย์อาจใส่ตัวอ่อนเพิ่ม แต่ไม่ควรเกิน 2 ตัวเพื่อลดโอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝด ทั้งนี้จำนวนตัวอ่อนที่ใส่เข้าไป แพทย์และผู้ป่วยควรจะทำการตัดสินใจร่วมกัน

ขั้นตอนของฝ่ายชาย

น้ำอสุจิหรือสเปิร์มของฝ่ายชายจะถูกเก็บพร้อม ๆ กับช่วงที่เก็บไข่ของฝ่ายหญิง โดยน้ำอสุจิที่ถูกเก็บแล้วจะถูกนำมาเตรียมการในห้องปฏิบัติการ เพื่อเลือกสเปิร์มที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด

หลังการถ่ายฝากตัวอ่อน

หลังถ่ายฝากตัวอ่อนเข้าไปในมดลูก ผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาสุขภาพสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในบางกรณีเท่านั้นที่ต้องพักดูอาการที่โรงพยาบาล

แพทย์จะนัดตรวจการตั้งครรภ์หลังการถ่ายฝากตัวอ่อน 2 สัปดาห์ และอาจต้องใช้ยาหรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่อไปอีก 8–10 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้ผนังมดลูกหนาขึ้นเอื้อต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และป้องกันการแท้งลูก

แม้ขั้นตอนการถ่ายฝากตัวอ่อนจะลุล่วงไปแล้ว แต่เมื่อผู้ป่วยกลับมาพักที่บ้าน ควรสังเกตและเฝ้าระวังอาการที่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดปน
  • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมาก

การทำเด็กหลอดแก้วที่ประสบความสำเร็จ

อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี อยู่ที่ประมาณ 41–43% แต่ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป อัตราความสำเร็จจะมีเพียง 13–18% อย่างไรก็ตาม แม้ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร การทำเด็กหลอดแก้วอาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย บางคู่อาจมีปัญหาความยากลำบากในการปรับตัวเพื่อมีลูกจากการทำเด็กหลอดแก้ว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพูดคุยและได้รับกำลังใจจากครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด และสามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักบำบัดได้เช่นกัน โดยแพทย์หรือนักบำบัดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่มบำบัด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้วเช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตและปรับตัวพร้อมรับสมาชิกใหม่ที่เกิดมา

การทำเด็กหลอดแก้วที่ไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ควรเว้นช่วงหลาย ๆ เดือนเพื่อพักฟื้นสภาพร่างกายและจิตใจ ก่อนจะคิดเรื่องการมีบุตรและพยายามใหม่อีกครั้ง ระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุที่ทำให้การตั้งครรภ์ล้มเหลว เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการประสบความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว 

หากยังต้องการมีบุตรควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมต่อไป โดยผู้ป่วยและคู่ครองควรพูดคุยปรึกษากันถึงความพร้อมทางสภาพร่างกายและจิตใจก่อนจะดำเนินการขั้นตอนใดต่อไป ส่วนด้านสภาพจิตใจ ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด หรือเข้าร่วมกลุ่มบำบัด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกันได้เช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงจากการทำเด็กหลอดแก้ว

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาในระหว่างกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วและการถ่ายฝากตัวอ่อน เช่น ปวดหัว ร้อนวูบวาบ กระสับกระส่าย รู้สึกไม่ดี และหงุดหงิด รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนจากกระบวนการเก็บไข่ เนื่องจากการใช้ยาสลบ ยาชา หรือการที่แพทย์ต้องใช้เข็มดูดเอาไข่ออกมาอาจทำให้เกิดแผล มีเลือดไหล เกิดการติดเชื้อ หรือสร้างความเสียหายต่อลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ และหลอดเลือดในบริเวณใกล้เคียงได้

นอกจากนี้ การทำเด็กหลอดแก้วอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยและทารก เช่น

ความเครียด

การทำเด็กหลอดแก้วส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาวะทางการเงินของผู้ป่วย จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความเครียดได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพูดคุยและได้รับกำลังใจจากทั้งครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และสามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักบำบัดได้เช่นกัน

แพทย์หรือนักบำบัดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่มบำบัด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้วเช่นเดียวกัน

อาการรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome)

อาการนี้มักเกิดจากได้รับฮอร์โมนกระตุ้นที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้รังไข่โตและมีน้ำรั่วซึมในร่างกาย เช่น ในช่องท้อง โดยจะมีอาการแสดง เช่น ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น

ตั้งครรภ์นอกมดลูก

ตั้งครรภ์นอกมดลูกเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิฝังตัวอยู่นอกมดลูก มักเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ในลักษณะนี้เพียง 2–5% เท่านั้น

ตั้งครรภ์ลูกแฝด

ในบางรายที่มีการถ่ายฝากตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ตัวอ่อนทั้งหมดอาจฝังตัวที่ผนังมดลูกและตั้งครรภ์ลูกแฝดได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้เป็นแม่ที่ต้องอุ้มท้องลูก 2 คน และเสี่ยงต่อภาวะที่เด็กเกิดมามีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยไปด้วย 

นอกจากนี้ การตั้งครรภ์แฝดอาจเพิ่มความเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของแม่และทารก เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกเกาะต่ำหรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะ TTTS (Twin to Twin Transfusion Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีเลือดวิ่งถ่ายเทระหว่างเด็กในครรภ์ด้วยกัน ทำให้ทารกคนหนึ่งสุขภาพไม่แข็งแรง เพิ่มโอกาสในการผ่าคลอดและภาวะตกเลือดหลังคลอด

อันตรายต่อทารก

มีความเสี่ยงที่เด็กที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วอาจคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย หากผู้เป็นแม่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก  อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าการทำเด็กหลอดแก้วจะเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะพิการแต่กำเนิดมากขึ้น

การแท้งลูก

อัตราการแท้งลูกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 15–25% โดยอัตราจะแปรผันเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ที่ตั้งครรภ์