ยาชา

ยาชา

ยาชา (Local Anesthetics) เป็นยาที่ใช้ระงับความรู้สึกเฉพาะที่ด้วยการฉีดยา พ่นยา หรือทายาชาในบริเวณนั้น ยาชาออกฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นปลายประสาท หรือกีดขวางการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนปลายที่จะทำให้เกิดความรู้สึกได้ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกในบริเวณดังกล่าวและไม่รู้สึกเจ็บปวดในขณะทำการรักษา หรืออาจใช้เพื่อรักษาบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น

ยาชา

เกี่ยวกับยาชา

กลุ่มยา ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ระงับความรู้สึกในบริเวณที่ต้องการทำการรักษา
กลุ่มผู้ป่วย เด็กละผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยาพ่น ยาทา

คำเตือนของการใช้ยาชา

  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา
  • ต้องใช้ยาตามชนิด ปริมาณ และวิธีการที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้ป่วย ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของยา วิธีการผ่าตัดหรือทำหัตถการ และอวัยวะที่จะใช้ยา
  • การใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น อาจเกิดภาวะพิษจากยาชาจากการที่ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งกระทบต่อการหายใจ การทำงานของหัวใจ หรือการทำงานของสมอง ดังนั้น ในขณะที่ใช้ยาชา แพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลข้างเคียงฉุกเฉินที่ไม่พึงประสงค์
  • หลังการรักษา ผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างระมัดระวังจนกว่ายาชาจะหมดฤทธิ์ เพราะอาจเกิดบาดแผลกระทบกระเทือนโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว เนื่องจากฤทธิ์ของยาชายังคงส่งผลต่อร่างกายอยู่

ปริมาณการใช้ยาชา

แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาชาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย วิธีการรักษา และระยะเวลาที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ โดยตัวอย่างปริมาณการใช้ยาชาแต่ละชนิด ได้แก่

ลิโดเคน (Lidocaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 4.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อร่างกาย 120 นาที

เมพิวาเคน (Mepivacaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อร่างกาย 180 นาที

บูพิวาเคน (Bupivacaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 2.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์ช้า มีผลต่อร่างกาย 4 ชั่วโมง

โรพิวาเคน (Ropivacaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 2-3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็วปานกลาง มีผลต่อร่างกาย 3 ชั่วโมง

เลโวบูพิวาเคน (Levobupivacaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ 400 มิลลิกรัม ใน 24 ชั่วโมง
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็วปานกลาง มีผลต่อร่างกาย 4-6 ชั่วโมง หรือ 8-12 ชั่วโมง

โพรเคน (Procaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์ช้า มีผลต่อร่างกาย 45 นาที

คลอโรโพรเคน (Chloroprocaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อร่างกาย 30 นาที

เอทิโดเคน (Etidocaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 2.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อร่างกาย 4 ชั่วโมง

ไพรโลเคน (Prilocaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็วปานกลาง มีผลต่อร่างกาย 90 นาที

เตตราเคน (Tetracaine)

  • ปริมาณที่ใช้ : 1.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • การออกฤทธิ์ : ออกฤทธิ์เร็วปานกลาง มีผลต่อร่างกาย 3 ชั่วโมง

การใช้ยาชา

ยาชาเฉพาะที่จะถูกพ่น ทา หรือฉีดเข้าไปเฉพาะบริเวณที่ต้องการทำการรักษา ไม่ได้ถูกฉีดเข้าเส้นเลือด หรือให้ผู้ป่วยดมยาเหมือนการใช้ยาสลบ โดยยาชาจะส่งผลต่อบริเวณที่ต้องการทำให้หมดความความรู้สึกไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ผู้ป่วยจะยังคงมีสติรู้ตัว รับรู้แรงกดและการเคลื่อนไหวในขณะทำการรักษา แต่จะไม่รู้สึกวิงเวียน มึนงง หรือง่วงซึม แต่ในบางครั้ง ยาชาเฉพาะที่ก็ถูกใช้ร่วมกับการให้ยาตัวอื่น ๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายหรือง่วงนอนด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไป ยาชาจะถูกใช้ในกรณีต่อไปนี้

  • บรรเทาอาการเจ็บปวดจากการผ่าตัด ใช้ป้องกันการเกิดความเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด มักใช้ในการผ่าตัดเล็กที่ใช้เวลาสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหมดสติ ไม่จำเป็นต้องให้กล้ามเนื้อร่างกายของผู้ป่วยคลายตัวอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมรับการผ่าตัด และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับบ้านได้ในเวลารวดเร็วหลังการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดฟันกราม การผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดไฝหรือหูด การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ เป็นต้น
  • บรรเทาอาการเจ็บปวดร่วมกับยาอื่น ยาชาเฉพาะที่อาจถูกใช้เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยาสลบ หรือลดปริมาณการใช้ยาสลบลง เช่น การผ่าตัดอวัยวะภายนอกต่าง ๆ อย่างมือ แขน ขา หรือการคลอดธรรมชาติและการผ่าคลอดที่ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาชนิดฉีดเข้าไขสันหลัง (Spinal Anaesthetic) หรือยาชาชนิดฉีดเข้าเยื่อหุ้มประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง (Epidural Anaesthetic) โดยในการใช้ยาชาแทนที่ยาสลบ แพทย์มักให้ยากลุ่มคลายกังวลและระงับประสาท (Sedatives) ร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยเพิ่มความผ่อนคลาย

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาชาในการรักษาอาการต่าง ๆ เช่น

  • การฉีดหรือพ่นยาในรูปแบบสเปรย์ไปบนแผลผ่าตัด เพื่อช่วยให้เย็บแผลได้ง่ายขึ้น
  • การใช้ยาลิโดเคนในรูปแบบเจล (Lidocaine Gel) รักษาแผลในปาก หรืออาการเจ็บคอ และอาจใช้รักษาบรรเทาความเจ็บปวดในบริเวณอื่น ๆ เช่น เหงือก จมูก ดวงตา หู ผิวหนัง ช่องคลอด หรือทวารหนัก เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้ยาชาต้องเป็นไปตามปริมาณและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอ เพื่อประสิทธิผลทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยและแพทย์ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการอันเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเตรียมการรักษาช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ปรากฏขึ้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาชา

หลังใช้ยาชา ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น

  • มีรอยช้ำ มีเลือดออก หรือเจ็บปวดเล็กน้อยในบริเวณที่ถูกฉีดยาชา
  • รู้สึกปวด หรือ ไม่สบายตัวในบริเวณที่ถูกฉีดยาชา
  • รู้สึกเจ็บแปลบ ๆ บริเวณที่ทำการรักษา เมื่อเวลาผ่านไปและยาชาหมดฤทธิ์

โดยทั่วไป การใช้ยาชาค่อนข้างปลอดภัยและพบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้น้อยมาก แต่บางรายอาจพบอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้ ซึ่งบางอาการอาจหายไปเมื่อยาชาหมดฤทธิ์ แต่บางอาการอาจพัฒนาไปสู่ภาวะที่รุนแรงได้

ตัวอย่างอาการซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ได้แก่

  • วิงเวียน ปวดหัว อ่อนเพลีย
  • สายตาพร่ามัว
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มทิ่ม
  • ยังคงรู้สึกชาอยู่อย่างต่อเนื่อง
  • อาการแพ้ยา เช่น มีผดผื่นคัน หน้าบวมตัวบวม หายใจติดขัด ไปจนถึงภาวะชักหรือหัวใจหยุดเต้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาชาที่ระดับความเข้มข้นสูง โดยอาจเกิดภาวะเนื้อเยื่อเป็นพิษทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง และบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ง่วงซึม
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เวียนหัว คล้ายจะเป็นลม
  • เห็นภาพซ้อนหรือตากระตุก
  • หูอื้อหรือมีเสียงก้องในหู
  • ชารอบบริเวณปากและลิ้น
  • การรับรสเปลี่ยนไป คล้ายมีรสโลหะอยู่ในปาก
  • พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ พูดไม่รู้เรื่อง

ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาชาเกินขนาด อาจทำให้ผู้ป่วยเผชิญกับภาวะอาการป่วย เช่น

  • กระวนกระวาย
  • อาการสั่น หรือกระตุกบริเวณกล้ามเนื้อมือหรือใบหน้า โดยอาจมีอาการแย่ลงจนนำไปสู่ภาวะชักได้
  • ภาวะเลือดเป็นกรด ออกซิเจนในเลือดต่ำ จนนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวได้
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ