สังเกตอาการเครียดลงกระเพาะ พร้อมรู้จักวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อาการเครียดลงกระเพาะ เช่น ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อรู้สึกเครียด โดยร่างกายอาจปล่อยฮอร์โมนบางชนิดเพื่อรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวอาจส่งผลให้การย่อยอาหารทำงานผิดปกติ และอาจนำไปสู่อาการปวดท้อง หรืออาการเครียดลงกระเพาะอื่น ๆ ได้

ความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องการทำงานหรือเรื่องความสัมพันธ์ มักส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาการเครียดลงกระเพาะที่นอกจากจะส่งผลต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อาการเครียดลงกระเพาะอาจเป็นอาการที่บรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยการลดความเครียด เช่น การทำสมาธิ การออกกำลังกาย การออกห่างจากต้นเหตุของความเครียด

อาการเครียดลงกระเพาะ

สังเกตอาการเครียดลงกระเพาะ

เมื่อรู้สึกเครียด ร่างกายอาจปล่อยฮอร์โมนเพื่อรับมือกับความเครียด และอาจส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจนำมาสู่อาการต่าง ๆ เช่น

นอกจากนี้ ความเครียดที่สะสมมาอย่างยาวนานหรือความเครียดระดับรุนแรง ยังอาจทำให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหารน้อยลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเกร็งท้อง การอักเสบ หรือแบคทีเรียในลำไส้ขาดสมดุล อีกทั้งยังอาจทำให้โรคหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น

วิธีรับมืออาการเครียดลงกระเพาะอย่างเหมาะสม

อาการเครียดลงกระเพาะอาจบรรเทาได้ด้วยการลดความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ  เมื่อเริ่มรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด อาการเครียดลงกระเพาะต่าง ๆ อาจดีขึ้นตามมา โดยวิธีการลดความเครียดอาจทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

นั่งสมาธิหรือหายใจเข้า-ออกลึก ๆ 

การนั่งสมาธิและการหายใจเข้า-ออกลึก ๆ อาจช่วยให้จดจ่ออยู่กับการหายใจแทนเรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียดหรือกังวล ซึ่งอาจทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย และลดความเครียดหรือความกังวลลงได้

ออกกำลังกาย 

การออกกำลังกาย เช่น การเล่นโยคะ การเต้น การปั่นจักรยาน อาจกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้รู้สึกดีและผ่อนคลาย อีกทั้งยังช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และสามารถทำงานได้เป็นปกติอีกด้วย

ออกห่างจากสิ่งที่ทำให้เครียด 

ในบางครั้งที่ความเครียดต่างถาโถมเข้ามาหลายเรื่อง การออกห่างจากผู้คนหรือสภาพแวดล้อมบางอย่างที่ทำให้เกิดความเครียด อาจช่วยลดความเครียดในเรื่องนั้น ๆ และอาจช่วยให้สามารถจัดการกับความเครียดเรื่องอื่นได้ดีขึ้น เช่น การแยกตัวออกห่างจากคนเป็นพิษ (Toxic people) อาจช่วยลดความเครียดจากสาเหตุนี้ และช่วยให้สามารถจัดการกับความเครียดอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

บริหารจัดการเวลา 

ความเครียดจากการทำงานอาจเกิดขึ้นเมื่อมีงานที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป ดังนั้น การบริหารเวลาอาจช่วยให้จัดการงานเหล่านั้นได้ดีขึ้น โดยอาจลองจัดตารางเพื่อเรียงลำดับความสำคัญของงาน อาจช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความเครียดได้ 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร 

ผู้ที่มีอาการเครียดลงกระเพาะ ควรกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและตรงเวลา อีกทั้งยังควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และโพรไบโอติกซึ่งมีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้อย่างปกติ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเผ็ด การดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง และส่งให้อาการเครียดลงกระเพาะแย่ลงได้

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 

เมื่อสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่อาจกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารโดปามีนออกมา ซึ่งโดปามีนเป็นสารที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อสารโดปามีนลดลง อาจทำให้กลับมารู้สึกเครียดเหมือนเดิม นอกจากนี้ บุหรี่ยังส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อการทำงานของร่างกายอีกด้วย

พูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ 

การปรึกษาหรือพูดคุยกับผู้อื่นที่สามารถไว้ใจได้อาจช่วยให้ระบายความเครียด และรู้สึกสบายใจ อีกทั้ง การพูดคุยกันยังอาจช่วยให้หาแนวทางจัดการความเครียดได้อีกด้วย

หากรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับความเครียดด้วยตัวเองได้ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาอย่างเหมาะสม และหาแนวทางจัดการกับความเครียดที่ทำให้เกิดอาการเครียดลงกระเพาะ นอกจากนี้ หากอาการเครียดลงกระเพาะไม่ดีขึ้นหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง