เครียดลงกระเพาะ รับมืออย่างไรให้ได้ผล ?

ความเครียดและความวิตกกังวลสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ ได้ ไม่เว้นแม้แต่ระบบย่อยอาหาร หรือที่เรียกกันว่าภาวะเครียดลงกระเพาะ โดยอาจมีอาการคลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย ท้องผูก หรืออาจทำให้โรคในระบบย่อยอาหารที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งการรักษาและป้องกันอย่างตรงจุดที่สุด คือ การเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น

1514 เครียดลงกระเพาะ Resized

ความเครียดส่งผลต่อระบบย่อยอาหารอย่างไร ?

อวัยวะในระบบย่อยอาหารเป็นส่วนที่อ่อนไหวและมีเส้นประสาทจำนวนมาก ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เส้นประสาทเหล่านี้สั่งการให้เลือดไหลเวียนช้าลง ทำให้กล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหารทำงานแย่ลง และอาจก่อให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • หลั่งกรดที่จำเป็นต่อการย่อยน้อยลง ส่งผลให้มีภาวะอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืด
  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานน้อยลง ทำให้เสี่ยงติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • กล้ามเนื้อหลอดอาหารหดเกร็งและมีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อย
  • ท้องเสียหรือท้องผูก เนื่องจากลำไส้ใหญ่ตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้น
  • มีอาการแสบร้อนกลางอกและกรดไหลย้อน เนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเกิดการบีบตัวของหลอดอาหารมากยิ่งขึ้น
  • มีแบคทีเรียชนิดไม่ดีเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าแบคทีเรียชนิดที่ดี ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี

นอกจากนี้ การเกิดความเครียดยังกระตุ้นให้อาการของโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารแย่ลงได้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน แผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ เป็นต้น

เครียดลงกระเพาะ รับมืออย่างไร ?

การจัดการกับความเครียดเป็นวิธีบรรเทาอาการจากภาวะเครียดลงกระเพาะที่ได้ผล และสามารถทำได้ด้วยตนเอง เพียงลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง หมั่นทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย และพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามข้อแนะนำต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายอย่างพอดี การออกกำลังกายกระตุ้นการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น เล่นโยคะ ฟังเพลง วาดรูป ไปเที่ยว เป็นต้น
  • ฝึกสมาธิและการหายใจ ทำได้โดยนั่งในท่าที่รู้สึกสบายและหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ จากนั้นหลับตา เพ่งสมาธิไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทีละส่วน เริ่มจากศีรษะและไปหยุดที่กลางลำตัวหรือบริเวณท้อง เพื่อให้รู้สึกถึงกระบวนการต่าง ๆ ตามธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกาย
  • พูดคุยระบายความเครียด การปรึกษาเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้ หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อให้ช่วยแนะนำวิธีรับมือกับความเครียดและปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อปัญหา
  • เลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาหารบางชนิดส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร อีกทั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดได้ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารขยะ อาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งควรกินนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตให้บ่อยขึ้น เนื่องจากมี Probiotics ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในร่างกาย และทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน
  • จัดตารางงานอย่างเหมาะสม ไม่ทำงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน และจัดสรรงานที่ต้องทำให้เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ ตั้งเป้าหมายในแต่ละวันเพื่อไม่ให้รู้สึกว่ามีงานคั่งค้าง หากมีงานต้องรับผิดชอบมากเกินไปจนเกิดความตึงเครียด ควรขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า
  • หาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา การเผชิญปัญหาบางอย่างนำมาซึ่งความเครียดและความวิตกกังวลได้ การแก้ไขที่ต้นเหตุของความเครียดจึงนับเป็นวิธีรับมืออย่างตรงจุด หรืออาจลองเปลี่ยนมุมมองความคิดต่อปัญหานั้น ๆ ให้เป็นไปในแง่ดีบ้าง
  • เลี่ยงการรับมือกับความเครียดด้วยวิธีที่ผิด เช่น สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพราะไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น แต่กลับยิ่งส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร รวมทั้งควรลดกาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและน้ำตาล ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียดและส่งผลต่อกระบวนการย่อยได้

หากอาการเครียดลงกระเพาะไม่ดีขึ้น ควรทำอย่างไร ?

การหมั่นสังเกตตนเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย หากสงสัยว่าตนมีอาการของภาวะเครียดลงกระเพาะ การพยายามรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น แต่หากความเครียดยังคงอยู่หรือส่งผลให้โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่เป็นอยู่แย่ลง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันอาการของโรครุนแรงขึ้น

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ด้วยตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ส่วนผู้ที่มีอาการปวดท้อง จุกหรือเสียดท้องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหาร