เจ็บหน้าอกข้างซ้าย สาเหตุไหนที่คววรระวัง

หากคุณเชื่อมั่นว่าอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายเป็นผลมาจากโรคหัวใจอย่างภาวะหัวใจขาดเลือดเพียงอย่างเดียว คุณอาจคิดผิด เพราะแท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป อาการเจ็บหน้าอกนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาสุขภาพมากมาย แล้วโรคหรือภาวะใดบ้างที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย ลองศึกษาได้จากบทความนี้ 

อาการเจ็บหน้าอกจะมีลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกันไปตามแต่ละคน โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแปลบ เจ็บเหมือนถูกของมีคมทิ่มแทงที่หน้าอก ปวดแน่น หรือปวดตื้อ ๆ ก็ได้ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยและทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้วก็จะสามารถรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที 

เจ็บหน้าอกข้างซ้าย

สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย

เจ็บหน้าอกข้างซ้ายอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง ดังนี้

ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
    ภาวะนี้เป็นอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลันอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ หากหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนมาเลี้ยงไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการเจ็บ แน่น หรือรู้สึกเหมือนถูกกดหรือทับที่หน้าอก ซึ่งอาการอาจลามไปยังแขน หัวไหล่ คอ ขากรรไกร หรือหลังได้ ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
  • ภาวะเจ็บเค้นอก
    เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง (Chronic Ischemic Heart Disease) อันเป็นผลมาจากคราบไขมันสะสมอยู่ภายในผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงนั้นตีบแคบลงและลำเลียงเลือดเข้าสู่หัวใจได้น้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ แน่น หรือรู้สึกเหมือนถูกกดหรือทับที่หน้าอก โดยอาการไม่รุนแรง เป็น ๆ หาย ๆ นาน 3-5 นาที หากพักหรืออมยาขยายเส้นเลือดหัวใจก็มักจะหายไป
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
    เป็นการอักเสบหรือระคายเคืองของเยื่อหุ้มที่ล้อมรอบหัวใจ มักส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแปลบเหมือนถูกของมีคมแทงที่หน้าอกข้างซ้ายหรือกลางอก ซึ่งอาการอาจแย่ลงเมื่อหายใจเข้าหรือล้มตัวลงนอน 
  • ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่
    ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงใหญ่เกิดการฉีกขาด ซึ่งผนังหลอดเลือดชั้นในที่แยกตัวออกจากกันจะทำให้เลือดไหลเข้าสู่ระหว่างชั้นผนังหลอดเลือด โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกหรือหลังรุนแรงอย่างฉับพลันคล้ายถูกฉีก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลให้หลอดเลือดดังกล่าวแตกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ปัญหาเกี่ยวกับปอด

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • ปอดบวมหรือปอดติดเชื้อ
    เป็นการติดเชื้อและการอักเสบของปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บแปลบที่หน้าอกหรือเจ็บเหมือนถูกของแหลมมีคมแทงที่หน้าอก หากสูดหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอแรง ๆ ก็อาจทำให้อาการเจ็บหน้าอกแย่ลงได้
  • ภาวะปอดรั่ว
    ภาวะปอดรั่วเกิดจากโรคหรือการบาดเจ็บบริเวณหน้าอกที่ทำให้อากาศรั่วเข้าไปในช่องว่างระหว่างเนื้อปอดและผนังซี่โครง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกอย่างฉับพลัน หายใจไม่อิ่ม หายใจเร็ว ผิวหนังอาจเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ไอ และอ่อนเพลียมาก
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
    อาการเจ็บแปลบที่หน้าอกอย่างฉับพลัน อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และยังมีสัญญาณอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย อย่างปวดหลัง เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ หรือหายใจไม่อิ่ม โดยโรคนี้ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
    ระดับความดันโลหิตในปอดที่สูงกว่าปกติอาจก่อให้เกิดการเจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ หมดสติ รวมถึงหัวใจเต้นผิดปกติและชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งหากไม่ทำการรักษาอาจพัฒนาไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • กรดไหลย้อน
    ภาวะนี้เป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารจนทำให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนกลางอก และอาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย ไอ หายใจมีเสียงหวีด มีน้ำรสเปรี้ยวไหลย้อนขึ้นมาในปากด้วย
  • ปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร
    ปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร ไม่ว่าจะเป็นภาวะกล้ามเนื้อหลอดอาหารหดเกร็ง หลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารแตกหรือฉีกขาดที่ทำให้เศษอาหารเข้าไปยังช่องอก ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายทั้งสิ้น
  • ไส้เลื่อนกระบังลม
    ไส้เลื่อนชนิดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อส่วนหนึ่งของกระเพาะอาหารเคลื่อนเข้าสู่บริเวณช่องอกผ่านทางช่องโหว่ของกระบังลม ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก หรือสำรอกอาหารออกมา แต่มีโอกาสเกิดน้อยมาก

ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก 

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • กระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ
    เมื่อกระดูกอ่อนของผนังอกเกิดการอักเสบ โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมกับกระดูกหน้าอก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกหรือกดแล้วจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งอาการจะแย่ลงได้หากเคลื่อนไหวร่างกายหรือหายใจเข้าลึก ๆ
  • การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ
    การบาดเจ็บที่หน้าอก การไอติดต่อกันแรง ๆ การออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าอก หรือการทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหน้าอกอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้เช่นกัน แต่อาการอาจจะดีขึ้นหากหยุดใช้กล้ามเนื้อหน้าอกสักระยะ
  • การบาดเจ็บที่ซี่โครง
    ผู้ป่วยบางรายที่มีซี่โครงหักมักมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อไอหรือหายใจเข้าลึก ๆ
  • งูสวัด
    โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์หรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณหน้าอกและทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเหมือนมีเข็มทิ่มแทงตามผิวหนังบริเวณอกได้

นอกจากนี้ อาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะวิตกกังวล อาการแพนิคหรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง โรคเกี่ยวกับจิตใจชนิดอื่น ๆ เป็นต้น 

วิธีรักษาอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย

ปกติแล้ว ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่แตกต่างกันไป วิธีการรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล หากเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยารักษาอาการเจ็บหน้าอก เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีน ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากเกิดจากโรคในระบบทางเดินอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาลดการหลั่งกรด ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ เป็นต้น  

ในบางครั้ง อาการเจ็บหน้าอกอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงนัก แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรักษาและการดูแลที่เหมาะสมตามแต่ละสาเหตุไป แต่หากผู้ป่วยมีรู้สึกเจ็บหน้าอกข้างซ้ายโดยไม่ทราบสาเหตุร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น แน่นหน้าอก อาการปวดลามไปยังแขน คอ ขากรรไกร หน้าท้องหรือแผ่นหลัง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม มีเหงื่อออก รู้สึกไม่สบาย อ่อนแรง เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ คลื่นไส้หรืออาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดหรือภาวะทางสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต