โรคแพนิค

ความหมาย โรคแพนิค

โรคแพนิค หรือ Panic Disorder คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งโรคนี้แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย อาการแพนิคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคแพนิครู้สึกกลัวและละอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

โรคแพนิค (panic disorder)

โรคแพนิคมักพบได้บ่อยในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยผู้หญิงจะป่วยมากกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคไม่ได้ป่วยเป็นโรคแพนิคทุกราย เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นและหายไปเมื่อเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการแพนิคจบลงหรือผ่านพ้นไปแล้ว ต่างจากผู้ป่วยโรคแพนิคที่มักเกิดอาการแพนิคหรือตื่นตระหนกอยู่เสมอเป็นเวลายาวนาน รวมทั้งมักมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ

อาการของโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างไม่มีสาเหตุ ซึ่งเรียกว่าอาการแพนิค โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นกะทันหัน รวมทั้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แพนิคเป็นอาการที่รุนแรงกว่าความรู้สึกเครียดทั่วไป มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 10-20 นาที บางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง โดยผู้ป่วยโรคแพนิคจะเกิดอาการ ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศ
  • หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนร่างกายขยับไม่ได้
  • เวียนศีรษะหรือรู้สึกคลื่นไส้
  • เหงื่อออกและมือเท้าสั่น
  • รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวขึ้นมาอย่างกะทันหัน
  • เกิดอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า
  • วิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะตาย รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้
  • กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นในอนาคต
  • หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต

ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดอาการแพนิคควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการแพนิคถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวจะจัดการตัวเองได้ยาก ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาการแพนิคจะแย่ลงเรื่อย ๆ

สาเหตุของโรคแพนิค

สาเหตุของโรคแพนิคยากจะระบุได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคแพนิคอาจเกิดจากปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางสุขภาพจิต ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ปัจจัยทางกายภาพเป็นต้นเหตุของโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง และการได้รับสารเคมีต่าง ๆ ดังนี้

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคแพนิคหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โดยบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ใกล้ชิดกันมาก ก็เสี่ยงป่วยเป็นโรคแพนิคได้ โดยผู้ป่วยอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ หรือได้รับจากทั้งพ่อและแม่

  • ความผิดปกติของสมอง โดยทั่วไปแล้ว สมองจะมีสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทภายในสมองไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ โรคแพนิคอาจเกิดจากการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองแบบสู้หรือหนีของร่างกาย (Fight or Flight) เนื่องจากหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันตราย
  • การได้รับสารเคมีต่าง ๆ ผู้ที่ใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ อาจป่วยเป็นโรคแพนิคได้ ทั้งนี้ นักวิจัยบางรายยังสันนิษฐานว่าโรคแพนิคอาจเกี่ยวข้องกับความไวของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวคือ เมื่อสูดอากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมาก ก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ อย่างไรก็ตาม การหายใจให้ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการแพนิคให้หายหรือทุเลาลงได้

โรคแพนิคกับปัจจัยทางสุขภาพจิต

เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตส่งผลให้เกิดโรคแพนิคได้ โดยเฉพาะการสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับอาการแพนิค ผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หรืออาจเกิดอาการดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ ยาวนานเป็นปี จนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคแพนิค นอกจากนี้ ผู้ที่เกิดอาการแพนิคมีแนวโน้มที่จะคิดว่าอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์อันตรายต่าง ๆ เช่น ผู้ที่เกิดอาการใจสั่นจากการดื่มกาแฟ จะคิดว่าอาการใจสั่นนั้นเกิดจากอาการหวาดกลัว

การวินิจฉัยโรคแพนิค

ผู้ที่เคยเกิดอาการแพนิคควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณหรืออาการของโรคหัวใจ เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการรักษาของผู้ป่วยและตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูการทำงานของหัวใจ การตรวจเหล่านี้จะช่วยวินิจฉัยสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพทางกายหรือไม่ หากไม่พบความผิดปกติของปัญหาสุขภาพดังกล่าว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคแพนิค โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ความรู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวล และสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัวหรือตื่นตระหนก ผู้ป่วยควรอธิบายความรู้สึกและอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องกดดันตัวเอง และพยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลายระหว่างที่พูดคุยกับแพทย์ ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ทำแบบประเมินทางจิตวิทยาและสอบถามประวัติการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประกอบการวินิจฉัย

ผู้ป่วยที่เกิดอาการแพนิคทุกรายไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคแพนิคเสมอไป

แพทย์จะวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคแพนิคหากผู้ป่วยมีลักษณะ ดังนี้

  • เกิดอาการแพนิคบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • รู้สึกหวาดกลัวหรือกังวลหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยเกิดอาการดังกล่าวนานเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการหรือควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ และมักเลี่ยงสถานที่ที่คิดว่าจะทำให้เกิดอันตราย
  • อาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติด การใช้ยาบางอย่าง หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคกลัวสังคม หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ

การรักษาโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการแพนิคน้อยลงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาโรคแพนิคประกอบด้วยจิตบำบัดและการรักษาด้วยยา โดยการรักษาแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ประวัติการรักษา ความรุนแรงของโรค และความพร้อมในการเข้ารับการรักษากับนักจิตบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิธีรักษาโรคแพนิคมีรายละเอียด ดังนี้

  • จิตบำบัด วิธีนี้ช่วยรักษาอาการแพนิคและโรคแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยจะเข้าใจอาการแพนิคและโรคแพนิคมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอาการป่วยของตนเอง วิธีจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด การบำบัดความคิดและพฤติกรรมจะปรับวิธีคิด พฤติกรรม และการตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น นักจิตบำบัดจะสอบถามว่าผู้ป่วยตอบสนองและรู้สึกอย่างไรเมื่อเกิดอาการแพนิคเพื่อช่วยในการบำบัด โดยจะเริ่มบำบัดจากการปรับความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริง เพื่อให้รับรู้ความเป็นจริงและมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกเมื่อเกิดอาการแพนิคอย่างไม่มีสาเหตุ ส่วนการบำบัดพฤติกรรมผู้ป่วยนั้น จะใช้เทคนิคการบำบัดที่คล้ายกับวิธีรักษาโรคโฟเบีย (Phobias) ซึ่งให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เผชิญหน้ากับความกลัว (Systematic Desensitization) โดยเทคนิคบำบัดโรคแพนิคจะเน้นให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้หวาดกลัวอาการแพนิคที่เกิดขึ้น ไม่ได้รู้สึกกลัวสิ่งของหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น อาการกลัวการนั่งเครื่องบินของผู้ป่วยบางราย ไม่ได้เป็นเพราะกลัวเครื่องบินตก แต่ผู้ป่วยกลัวว่าจะเกิดอาการแพนิคเมื่อต้องไปอยู่ในเครื่องบินหรือสถานที่ที่ทำให้รับความช่วยเหลือได้ยาก หรือผู้ป่วยบางคนไม่ดื่มกาแฟ เพราะคิดว่าการดื่มกาแฟจะทำให้เกิดอาการแพนิคขึ้นมา ทั้งนี้ การบำบัดพฤติกรรมยังช่วยรักษาพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคด้วย

นอกจากการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดตามที่กล่าวมาแล้ว การฝึกลมหายใจและฝึกการคิดเชิงบวกก็ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ง่ายขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายพบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคหายใจถี่กว่าปกติ หากผู้ป่วยฝึกหายใจช้า ๆ จะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ การตั้งกลุ่มสนับสนุน (Support Groups) ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งได้รับคำแนะนำในการจัดการกับอาการป่วยได้อย่างเหมาะสม กลุ่มสนับสนุนถือเป็นช่องทางในการรักษาโรคแพนิคที่ดี เนื่องจากผู้ป่วยจะได้พบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน

การรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคแพนิค

จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการแพนิค โดยยาที่ใช้รักษาอาการดังกล่าวประกอบด้วยยาต้านซึมเศร้า กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยากันชัก ซึ่งยาแต่ละกลุ่มมีตัวยาที่ใช้รักษาโรคแพนิค ดังนี้

กลุ่มยาต้านซึมเศร้า ยากลุ่มนี้มักใช้รักษาอาการซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โดยยาต้านซึมเศร้าที่ใช้รักษาโรคแพนิค ได้แก่ ยาเอสเอสอาร์ไอ ยาเอสเอ็นอาร์ไอ และยาไตรไซลิก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ยาเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) ยานี้จะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) แพทย์มักใช้ยาเอสเอสอาร์ไอรักษาผู้ป่วยโรคแพนิค โดยจะเริ่มให้ยาในปริมาณน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเมื่อร่างกายของผู้ป่วยปรับตัวได้แล้ว ตัวยาในกลุ่มยาเอสเอสอาร์ไอที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วยฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซิทีน (Paroxetine) และเซอร์ทราลีน (Sertraline) อย่างไรก็ตาม ยาเอสเอสอาร์ไอก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ตามัว ท้องร่วงหรือท้องผูก แรงขับทางเพศลดลง เบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับ หากอาการป่วยแย่ลงควรรีบพบแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่หยุดใช้ยาเองทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น เวียนศีรษะ เกิดเหน็บชา คลื่นไส้และอาเจียน วิตกกังวล นอนไม่หลับ และเหงื่อออก
  2. ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors, SNRIs) ยานี้มักใช้รักษาโรคซึมเศร้าและโรคแพนิค มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) ผู้ป่วยอาจต้องรอหลายสัปดาห์เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ ทั้งนี้ ยาเอสเอ็นอาร์ไอก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรือนอนหลับยาก ซึ่งอาการดังกล่าวไม่รุนแรงนัก
  3. ยาไตรไซลิก (Tricylic Antidepressants) ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเอสเอสอาร์ไอเป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะได้รับยาไตรไซลิกเพื่อรักษาอาการป่วย โดยยานี้จะช่วยปรับระดับนอร์อิพิเนฟริน (Noradrenaline) และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น ตัวยาในกลุ่มยาไตรไซลิกที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วยอิมิพรามีน (Imipramine) และโคลมิพรามีน (Clomipramine) ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาไตรไซลิก โดยจะเกิดอาการท้องผูก ปัสสาวะไม่ค่อยออก ตามัว ปากแห้ง น้ำหนักขึ้นหรือลดลง เหงื่อออก เวียนศีรษะ และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งอาการดังกล่าวจะทุเลาลงหลังจากที่ร่างกายปรับตัวเองให้เข้ากับตัวยาได้แล้วภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีหากอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงของการใช้ยาไม่ทุเลาลง
  4. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยานี้จัดเป็นยาระงับประสาท ซึ่งช่วยลดอาการแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะใช้รักษาขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการแพนิค ตัวยาที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วยอัลปราโซแลม (Alprazolam) และโคลนาซีแพม (Clonazepam) อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จะใช้รักษาในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการเสพติดได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้สารเสพติดอื่น ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในการรักษาโรค
  5. ยากันชัก ยากลุ่มนี้ที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือพรีกาบาลิน (Pregabalin) โดยยาจะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลให้ทุเลาลงได้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาพรีกาบาลินอาจรู้สึกง่วง เวียนศีรษะ เจริญอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ตามัว ปวดศีรษะ ปากแห้ง และเกิดอาการบ้านหมุน โดยอาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ทั้งนี้ ยาพรีกาบาลินจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคลื่นไส้และแรงขับทางเพศลดลงได้น้อยกว่ายาเอสเอสอาร์ไอ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแพนิค

โรคแพนิคเป็นโรคที่รักษาได้ โดยผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยโรคแพนิคจะหายได้หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพทางจิตอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ผู้ป่วยโรคแพนิคสามารถป่วยเป็นโรคกลัวที่ชุมชนได้ โดยโรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพทางจิตเกี่ยวกับอาการกลัวชุมชนหรือที่สาธารณะที่อาจเกิดเหตุการณ์อันตราย และหนีออกออกมาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล และไม่กล้าเดินทางไปข้างนอกเพียงลำพังได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะกังวลว่าอาจเกิดอาการแพนิคเมื่อออกไปข้างนอก แล้วทำให้รู้สึกขายหน้าที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เป็นปกติได้ หรืออาจหวาดกลัวว่าจะได้รับความช่วยเหลือไม่ทันการณ์หากอาการแพนิคกำเริบขึ้นมา ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการโฟเบียอื่น ๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยอาจกลัวที่แคบ เนื่องจากเคยเกิดอาการแพนิคเมื่ออยู่ที่แคบ
  • พฤติกรรมหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ผู้ป่วยอาจเลี่ยงหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ หากสิ่งนั้นจะทำให้เกิดอาการแพนิค พฤติกรรมหลีกเลี่ยงนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้
  • ปัญหาอื่น ๆ  ผู้ป่วยโรคแพนิคเสี่ยงใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้สูง ทั้งนี้ การสูบบุหรี่หรือบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก็ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือรู้สึกกังวลมากขึ้น ส่วนผู้ที่กำลังหยุดใช้ยารักษาโรคบางอย่างหรือถอนยาเสพติด อาจเกิดความวิตกกังวลสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นอันเป็นผลข้างเคียงจากการถอนยา

การป้องกันโรคแพนิคในอนาคต

โรคแพนิคเป็นปัญหาสุขภาพทางจิตที่ป้องกันให้เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคหรือป่วยเป็นโรคนี้สามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากขึ้น และเกิดอาการแพนิคน้อยลงได้ ดังนี้

  • งดหรือลดดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรือสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงเซื่องซึมระหว่างวัน
  • เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
  • ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยลดความฟุ้งซ่านและอาการวิตกกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยที่มีต่อตนเองและสิ่งรอบข้างให้ดีขึ้น
  • ควรยอมรับว่าตัวเองรับมือกับอาการแพนิคได้ยาก เนื่องจากการกดดันตัวเองและพยายามระงับอาการแพนิคนั้นจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม ทั้งนี้ ควรทำความเข้าใจว่าอาการแพนิคไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้
  • เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น โดยลองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
  • เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง โดยนับหนึ่งถึงสามเมื่อหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น