ฝีมะม่วง

ความหมาย ฝีมะม่วง

ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum: LGV) คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งมักเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์หรือทวารหนัก ผู้ป่วยโรคนี้จะมีต่อมน้ำเหลืองโตที่ต้นขาข้างใดข้างหนึ่งหรือที่ขาหนีบ โดยจะเกิดตุ่มหรือแผลขนาดเล็กที่อวัยวะเพศก่อน จากนั้นต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบจะอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบวมและเดินลำบาก นอกจากนี้ หากรูทวารอักเสบหรือมีแผล จะรู้สึกปวดบริเวณก้นตลอดเวลา อาจถ่ายไม่ออกหรือท้องร่วง หรือรูทวารตีบตันได้ ส่วนผู้หญิงที่ป่วยเป็นฝีมะม่วงจะทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่งผลให้ท้องนอกมดลูกได้ หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง รวมทั้งประสบภาวะมีบุตรยาก

ฝีมะม่วง

ฝีมะม่วงถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เรื้อรัง ผู้ป่วยมักได้รับเชื้อผ่านการร่วมเพศหรือสัมผัสหนองจากฝีมะม่วงโดยตรง โรคนี้มักพบมากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ชายที่ร่วมเพศด้วยกัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้ป่วยหายและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อาการของฝีมะม่วง

ฝีมะม่วงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยจะมีระยะฟักตัว 3 วัน-6 สัปดาห์ นับตั้งแต่ได้รับเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีมะม่วง มักเกิดแผลในช่วง 10-14 วัน และจะเกิดอาการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองในช่วง 10-30 วัน หลังจากได้รับเชื้อ อาการของฝีมะม่วงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อฝีมะม่วงจะแสดงอาการของโรคภายใน 3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ โดยผู้ป่วยจะแสดงอาการ ดังนี้
    • มีตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้นมา หรือเป็นแผลตื้น ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
    • มีแผลเปื่อยขึ้นมาและหายไปเองภายใน 2-3 วัน
    • อาจเกิดอาการป่วยคล้ายโรคท่อปัสสาวะอักเสบ
    • ผู้ชายอาจได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งหลอดน้ำเหลืองที่องคชาตอักเสบทำให้อวัยะวะเพศแข็งเป็นลำ
    • ผู้หญิงอาจได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อที่ผนังด้านหลังมดลูกหรือปากช่องคลอด
    • บริเวณต่อมน้ำเหลืองมีก้อนนุ่ม ๆ นูนขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดอาการบวม
    • ผู้ที่ทำออรัลเซ็กซ์อาจเกิดการติดเชื้อที่ปากร่วมด้วย
  • ระยะที่ 2 เมื่อได้รับเชื้อแล้ว อาการของโรคจะปรากฏประมาณ 10-13 วัน และอาจกำเริบรุนแรงขึ้น ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน อาการของฝีมะม่วงในระยะที่ 2 มีลักษณะ ดังนี้
    • เกิดฝีมะม่วงซึ่งเป็นก้อนนุ่มสีใสขนาดใหญ่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2-6 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างเริ่มมีอาการบวมและปวด
    • ผู้หญิงจะปวดท้องน้อยหรือปวดหลัง
    • อาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม และปวดตามข้อ
    • ผู้ที่ปากติดเชื้อ อาจทำให้ต่อมน้ำลายและต่อมน้ำเหลืองตรงกระดูกสันหลังคอได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ
    • เกิดผื่นแดงและมีไข้ รวมทั้งมีตุ่มแข็งขนาดใหญ่ขึ้นที่ผิวหนัง
    • อาจประสบภาวะเยื่อตาอักเสบ ตับโต เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดบวม หรือข้ออักเสบ
  • ระยะที่ 3 อาการฝีมะม่วงในระยะนี้จะปรากฏอาการของโรคหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณหลายเดือน หรือนานจนถึง 20 ปี โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการ ดังนี้
    • มักเกิดอาการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
    • อาจรู้สึกคันทวารหนักและมีเลือดกับมูกปนหนองออกมา ทั้งนี้ อาจรู้สึกที่ก้น ปวดเบ่งที่ลำไส้ตรงเหมือนจะถ่ายหนักตลอดเวลา มีหนองไหลออกทางรูทวาร  ท้องผูก และน้ำหนักลด
    • การอักเสบเรื้อรังของโรคอาจทำให้เกิดฝี ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ลำไส้ตรงผิดรูป และลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงติดเชื้อ
    • เกิดแผลลุกลามซึ่งส่งผลให้อวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ
สาเหตุของฝีมะม่วง

ฝีมะม่วงเกิดจากการติดเชื้อของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง โรคนี้มีสาเหตุของการติดเชื้อมาจากเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) ที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด ซึ่งเชื้อดังกล่าวไม่ใช่เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม ผู้ป่วยอาจติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ สัมผัสแผลหรือบริเวณที่มีเชื้อดังกล่าวอยู่ หรือสัมผัสผิวหนังกัน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค มีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • มีเพศสัมพันธ์ โดยให้คู่นอนสอดใส่ทางทวารหนัก
  • ทำออรัลเซ็กซ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ขายบริการทางเพศ
  • ใช้น้ำยาสวนทวารหนัก
การวินิจฉัยฝีมะม่วง

ผู้ป่วยที่ปรากฏอาการบางอย่างของโรคฝีมะม่วง และผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค เช่น แผลริมอ่อน โรคเริม หรือซิฟีลิส จะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย รวมทั้งซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย การตรวจร่างกายจะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ดังนี้

  • เกิดฝีและมีหนองไหลซึมออกมาตรงบริเวณทวารหนัก
  • รู้สึกแสบร้อนที่อวัยวะสืบพันธุ์
  • ผิวหนังตรงขาหนีบมีของเหลวซึมออกมา
  • ผู้หญิงอาจเกิดอาการบวมที่ปากมดลูกและแคม
  • ต่อมน้ำเหลืองตรงขาหนีบบวมโต
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ดังนี้
  • ตรวจชื้นเนื้อ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง เพื่อตัดและนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของฝีมะม่วงสารคัดหลั่งจากแผล หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง ออกไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรค
  • ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีมะม่วง
  • ทำซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนผู้ป่วย เพื่อตรวจดูระดับของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการของโรค
  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ แพทย์จะส่องกล้อง เพื่อตรวจและวินิจฉัยความผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่ลำไส้
การรักษาฝีมะม่วง

โรคฝีมะม่วงรักษาได้ โดยวิธีรักษาโรคนี้มี 2 วิธี ได้แก่การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อและป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคฝีมะม่วง ประกอบด้วย
    • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นอันดับแรก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาดอกซีไซคลินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 21 วัน
    • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยานี้เป็นยารักษาโรคฝีมะม่วงอีกชนิดที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาอะซิโธรมัยซินปริมาณ 2 กรัม เป็นเวลา 20 วัน
  • การผ่าตัด ผู้ป่วยฝีมะม่วงที่เกิดก้อนฝีหรือต่อมน้ำเหลืองบวมโตอาจต้องเจาะผิวเอาของเหลวในฝีออกมา เพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ลำไส้ตรงตีบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
นอกจากนี้  หลังได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยจนกว่าจะหายดี รวมทั้งควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอจนกว่าอาการของการติดเชื้อจะหายเป็นปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของฝีมะม่วง

ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปีหลังติดเชื้อครั้งแรก ภาวะแทรกซ้อนของฝีมะม่วง มีดังนี้

  • เกิดฝีคัณฑสูตร (Fistula) ซึ่งทำให้ทวารหนักเกิดรูที่เชื่อมระหว่างลำไว้ตรงกับช่องคลอด
  • ผู้ชายประสบภาวะองคชาตมีพังผืด หรือองคชาตมีลักษณะผิดรูป
  • ผู้หญิงประสบภาวะปากมดลูกอักเสบหรือท่อนำไข่อักเสบ ซึ่งส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และประสบภาวะมีบุตรยาก
  • ประสบภาวะสมองอักเสบ
  • เกิดการอักเสบที่ข้อต่อ ดวงตา หัวใจ หรือตับ รวมทั้งป่วยเป็นปวดบวม
  • อวัยวะสืบพันธุ์บวมและเกิดการอักเสบเรื้อรัง
  • ลำไส้ตรงเกิดแผลและตีบเข้า ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน
  • ประสบภาวะตับโต
การป้องกันฝีมะม่วง

ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงที่ทราบว่าตัวเองได้รับเชื้อ ควรงดมีเพศสัมพันธ์และพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปสู่คู่นอนของตน ทั้งนี้ โรคฝีมะม่วงป้องกันได้ โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย แนวทางในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยปฏิบัติได้ ดังนี้

  • เลี่ยงการสัมผัสผิวหนัง แผล หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
  • ควรตรวจร่างกายของตนเองและคู่นอนให้มั่นใจว่าปลอดเชื้อกามโรค
  • เลี่ยงการมีคู่นอนมากหน้าหลายตา
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่น ๆ เนื่องจากการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มมึนเมาจะทำให้ขาดสติ ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย เช่น ลืมใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์