ปวดท้องน้อย

ความหมาย ปวดท้องน้อย

ปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) เป็นอาการปวดช่องท้องด้านล่างบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการบาดเจ็บที่อวัยวะภายในระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ หรืออาจเกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน เช่น ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ หนองใน กระเพาะปัสสาวะหรือไตติดเชื้อ กระดูกเชิงกรานแตกหัก การอักเสบของเส้นประสาท โดยอาการปวดท้องน้อยมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และอาจเป็นอาการป่วยเกี่ยวกับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น ปวดประจำเดือน มีซีสต์ในรังไข่ ท้องนอกมดลูก หรือแท้งบุตร เป็นต้น

ปวดท้องน้อย

อาการปวดท้องน้อย

ผู้ที่ปวดท้องน้อยอาจมีอาการปวดเสียดหรือปวดตื้อ ๆ ปวดแปลบ ๆ หรือปวดเพียงเล็กน้อย โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งลักษณะของอาการขึ้นอยู่กับสาเหตุของการป่วย หากเกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงกะทันหัน ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาการที่เกิดขึ้นรบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

โดยอาการบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณสำคัญของการปวดท้องน้อย หรืออาจเกิดขึ้นร่วมกับการปวดท้องน้อย ได้แก่

  • ปวดประจำเดือน หรือปวดเกร็งในขณะมีประจำเดือนและอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
  • มีเลือด หยดเลือด หรือตกขาวไหลออกจากช่องคลอด
  • เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะลำบาก ติดขัด
  • ท้องผูกหรือท้องร่วง
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือเรอ
  • มีเลือดออกในขณะขับถ่าย
  • เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีไข้ หรือหนาวสั่น
  • ปวดบริเวณสะโพก หรือขาหนีบ

สาเหตุของอาการปวดท้องน้อย

การปวดท้องน้อยในเพศหญิง สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะหรือการเจ็บป่วยในระบบสืบพันธุ์ เช่น

  • การตกไข่ก่อนมีประจำเดือน
  • การปวดเกร็งขณะมีประจำเดือน
  • ภาวะอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน
  • การท้องนอกมดลูก
  • การแท้งบุตร
  • มีซีสต์ในรังไข่ หรือรังไข่มีความผิดปกติ
  • ท่อนำไข่อักเสบ
  • มีเนื้องอกในมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก

ส่วนสาเหตุของการปวดท้องน้อยที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ได้แก่

  • ความผิดปกติของลำไส้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ  (Diverticulitis) ท้องผูกเรื้อรัง
  • ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
  • อากการเจ็บป่วยบริเวณกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหดเกร็ง (Pelvic Floor Muscle Spasm)
  • ความผิดปกติบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • กระดูกเชิงกรานร้าว หรือแตกหัก
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม
  • ภาวะติดเชื้อในไต หรือมีนิ่วในไต
  • ภาวะเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาท
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • ภาวะเจ็บป่วยในระบบสืบพันธุ์เพศชาย เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ
  • อาการเจ็บปวดที่เกิดจากความผิดปกติทางจิต
  • ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทารุณกรรมทางเพศ

การวินิจฉัยอาการปวดท้องน้อย

ในขั้นแรก แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น แล้วตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาบริเวณที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วย หรือแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมตามการสันนิษฐานถึงสาเหตุของอาการป่วยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ตรวจการตั้งครรภ์ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
  • ตรวจเลือดและปัสสาวะ เช่น ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาการเกิดมะเร็งรังไข่
  • ตรวจตัวอย่างอุจจาระ แพทย์จะนำตัวอย่างอุจจาระไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ
  • ตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ แพทย์จะใช้ก้านสำลีป้ายนำตัวอย่างเนื้อเยื่อในช่องคลอดไปตรวจหาความผิดปกติในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างช่องคลอดแล้วป้ายเซลล์ในมดลูกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • การเอกซเรย์ช่องท้องและบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • การเอกซเรย์พิเศษ เพื่อตรวจความหนาแน่นและความแข็งแรงของกระดูก
  • การอัลตราซาวด์ ใช้อุปกรณ์ที่ส่งคลื่นเสียงสร้างเป็นภาพอวัยวะภายในบนจอเครื่องมือ เพื่อให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกของอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ใช้รังสีเอกซเรย์สร้างเป็นภาพอวัยวะภายในช่องท้องและบริเวณอุ้งเชิงกรานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
  • การผ่าตัดหน้าท้องแล้วส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัย (Laparoscopy) โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือพิเศษเป็นท่อที่มีกล้องอยู่ตรงปลายตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน
  • การส่องกล้องตรวจหาความผิดปกติภายในมดลูก โดยสอดกล้องผ่านทางช่องคลอดเข้าไปตรวจภายในมดลูก
  • การส่องกล้องเข้าไปทางปากเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Lower Endoscopy)

การรักษาอาการปวดท้องน้อย

อาการปวดท้องน้อยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น วิธีการรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวด เช่น

ยาแก้ปวด

รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน หากเป็นอาการปวดท้องน้อยก่อนมีประจำเดือน หรือในขณะมีประจำเดือน แต่หากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาหาสาเหตุที่แท้จริง โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ เช่น

ยาปฏิชีวนะ

ในผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา เช่น ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) และด็อกซี่ไซคลีน (Doxycycline) และยาปฏิชีวนะตัวอื่น ๆ เพื่อรักษาผู้ที่ป่วยด้วยภาวะอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม เป็นต้น

ยาต้านไวรัส

แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัสให้แก่ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส

การผ่าตัด

บางกรณี แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาด้วยการสร้างช่องขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องแล้วผ่าตัดผ่านกล้อง หรืออาจผ่าตัดด้วยการเปิดหน้าท้อง เช่น การผ่าตัดนำไส้ติ่งที่อักเสบจนทำให้เกิดความเจ็บปวดออกมา การผ่าตัดผู้ที่มีภาวะท้องนอกมดลูกเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ฝังตัวในบริเวณอื่นภายในช่องท้องออกมา หรือการผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกที่อยู่ภายในอวัยวะออกมา

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

รังสีบำบัด แพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์ไปยังบริเวณที่มีเซลล์มะเร็ง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น

เคมีบำบัด แพทย์จะจ่ายยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเป็นอาการต่าง ๆ เช่น ผมร่วง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาและวางแผนรักษาตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการป่วย โดยอาจทำการรักษาเพียงวิธีเดียว หรืออาจใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกันเพื่อประสิทธิผลทางการรักษาที่ดีที่สุดต่อไป

การป้องกันอาการปวดท้องน้อย

สาเหตุบางประการที่เป็นที่มาของอาการปวดท้องน้อยนั้นสามารถป้องกันได้ เช่น ภาวะอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้โดย

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ใช้สารหล่อลื่นเพื่อป้องกันการเสียดสีจนถุงยางอนามัยฉีกขาด หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากไม่ถึงเวลาอันควรที่จะรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอดและอุ้งเชิงกราน

อย่างไรก็ดี การป้องกันการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ อาจทำได้โดยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ด้วยการ

  • ควบคุมอาหาร รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อย่างพวกผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกาย คนทั่วไปควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเฉลี่ย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมตามแต่สภาพร่างกายของบุคคล
  • ห่างไกลจากบุหรี่และยาเสพติด ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ หรืออยู่ห่างจากคนที่กำลังสูบบุหรี่เพื่อป้องกันอันตรายจากการรับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย และไม่ใช้ยาเสพติดทุกชนิด

หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือรับการรักษาใดอยู่ ควรเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของการปวดท้องน้อยเสมอ หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้ทันท่วงที