แผลเป็น รักษาและป้องกันได้ไม่ยากอย่างที่คิด

แผลเป็นคือรอยที่หลงเหลืออยู่บนผิวหลังจากที่แผลหาย ถึงแม้แผลเป็นส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญใจได้ไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น แผลเป็นยังทำให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจได้ 

บริเวณที่มักจะเกิดแผลเป็นได้ง่ายคือหน้าอก หลัง และหัวไหล่ ซึ่งหากเกิดบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เช่น หัวไหล่ หรือข้อศอก ก็อาจทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบากด้วย แผลเป็นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่มีวันหายไป แต่สามารถรักษาให้จางลงไปได้ โดยวิธีการรักษาแผลเป็นมีหลากหลายวิธี ทั้งวิธีการรักษาด้วยตัวเอง และวิธีรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์

แผลเป็น รักษาและป้องกันได้ไม่ยากอย่างที่คิด

สาเหตุของการเกิดแผลเป็น

เมื่อเกิดแผลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าตัด แผลไฟไหม้ หรือแผลจากอุบัติเหตุ ร่างกายจะมีกระบวนการรักษาแผล โดยผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าคอลลาเจนเพื่อช่วยสร้างเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายขึ้นมาใหม่ และทำให้แผลหายเป็นปกติ

เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากแผลหาย หากคอลลาเจนใหม่ยังถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องและมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เคยเกิดแผลเดิม ก็จะกลายเป็นแผลนูน แดง หรือเป็นก้อนแข็ง ซึ่งก็คือแผลเป็น 

แผลเป็นสามารถจางลงได้เองเมื่อเวลาผ่านไป โดยเกิดจากการที่ร่างกายหยุดสร้างคอลลาเจนและเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณแผลลดลง ทำให้แผลเป็นค่อย ๆ เรียบเนียน นุ่มลง และจางไปเอง แต่หากพ้นช่วง 2 ปีแรกหลังจากแผลหาย อาจมีโอกาสน้อยที่แผลเป็นจะจางลงอีก

ประเภทของแผลเป็น

แผลเป็นสามารถแบ่งเป็นประเภทตามลักษณะของแผลที่แตกต่างกันไป ดังนี้

แผลเป็นทั่วไป 

แผลเป็นทั่วไปสามารถพบได้บ่อยที่สุด โดยเริ่มแรกมักปรากฏเป็นสีแดงหรือสีคล้ำ นูนขึ้นมาจากผิวหนัง หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ มีสีอ่อนและแบนลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2 ปี แต่ก็ยังคงเหลือร่องรอยทิ้งไว้เช่นเดียวกับแผลเป็นชนิดอื่น ๆ

แผลเป็นทั่วไปมักไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจมีอาการคันในช่วงแรก ลักษณะของแผลเป็นจะขึ้นอยู่กับความกว้างของแผล หากผิวหนังบริเวณขอบของแผลมาบรรจบกันเมื่อหายดี แผลเป็นจะกลายเป็นเส้นบางและจางลง

แต่หากแผลกว้างและผิวหนังบริเวณแผลหายไปมาก เนื้อเยื่อของแผลเป็นจะถูกสร้างขึ้นเพื่อมาเติมเต็มผิวหนังส่วนที่เสียหาย ทำให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่และใช้เวลานานกว่าจะจางลง

สำหรับคนผิวสีเข้ม แผลเป็นอาจจางลงแล้วทิ้งรอยสีน้ำตาลหรือสีขาวไว้ และมักคงอยู่อย่างถาวร แต่บางครั้งก็อาจจางลงตามเวลาได้เหมือนกัน และถ้ามีสีผิวที่ไหม้จากการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน แผลเป็นชนิดนี้ก็อาจโดดเด่นขึ้นมา เพราะแผลจะปรากฏเป็นสีผิวเดิมตามธรรมชาติ

แผลเป็นคีลอยด์

แผลเป็นคีลอยด์เกิดจากกระบวนการรักษาแผลที่คอลลาเจนถูกสร้างขึ้นมากผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อของแผลเป็นขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขอบเขตของแผลเดิม แผลเป็นคีลอยด์จะมีลักษณะนูนขึ้นมาจากผิวหนัง เป็นมันเงา ไม่มีขนขึ้นที่แผล ในระยะแรกแผลจะมีสีแดงหรือม่วง และสีจะค่อย ๆ ซีดลงไป เมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกแข็งคล้ายยาง แต่ก็อาจเกิดเป็นก้อนนุ่ม ๆ ได้ เช่น แผลเป็นที่ติ่งหูหลังการเจาะหู 

แผลเป็นคีลอยด์มักเกิดร่วมกับอาการคัน เจ็บ แสบร้อน หรือหากแผลตึงและเกิดใกล้กับข้อต่อก็อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวได้ด้วย ผิวหนังที่มีโอกาสในการเกิดแผลเป็นชนิดนี้สูง ได้แก่ แผลบริเวณรอบ ๆ กระดูกหน้าอก แผ่นหลังส่วนบน ต้นแขน หัวไหล่ และติ่งหู

แผลเป็นนูน

แผลเป็นนูนมีลักษณะคล้ายกับแผลเป็นคีลอยด์ เพราะนอกจากจะเกิดจากการผลิตคอลลาเจนรักษาแผลที่ไม่สมดุลเหมือนกันแล้ว ยังมีลักษณะรูปร่างที่ใกล้เคียงกับแผลเป็นคีลอยด์ คือมีลักษณะเป็นแผลนูนสีแดง

แต่แผลเป็นนูนนั้นจะไม่ขยายกว้างขึ้นกว่าแผลเดิม แผลเป็นนูนอาจทำให้เคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดแผลได้ไม่เต็มเพราะเนื้อแผลเป็นหนาขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม อาจค่อย ๆ แบนและเลือนลงในช่วงเวลา 2–5 ปี

แผลเป็นจากแผลไหม้

ผิวหนังที่ถูกไหม้อาจพัฒนาจนเกิดแผลเป็น โดยผิวหนังจะมีลักษณะตึงจนอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดแผลได้อย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้น หากแผลเกิดลึกลงไปก็สามารถส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้เลยทีเดียว

แผลเป็นหลุมลึก

แผลเป็นหลุมลึกมักเกิดขึ้นจากปัญหาสิวที่รุนแรง เมื่อสิวหายอาจทิ้งรอยสิวเอาไว้ลักษณะเป็นหลุมลึกหรือรอยยาวบนใบหน้า นอกจากนี้ แผลเป็นหลุมลึกอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาผิวหนังที่รุนแรงอย่างอีสุกอีใส ที่แม้จะรักษาจนหายดีแล้ว แต่ก็ทิ้งรอยหลุมแผลเป็นฝากไว้ได้เช่นกัน

วิธีรักษาแผลเป็นให้จางลง

หลายคนอาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินอีในการรักษาแผลเป็น เพราะวิตามินอีได้รับการโฆษณาอย่างแพร่หลายว่ามีสรรพคุณในการช่วยรักษาแผลเป็นได้ แต่ความจริงแล้ววิตามินอีมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวในระหว่างการสมานแผลเท่านั้น อาจไม่มีประสิทธิภาพโดยตรงในการทำให้รอยแผลเป็นดีขึ้นได้  

อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาแผลเป็นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะประเภทและอายุของแผลเป็น ได้แก่

1. การใช้เจลหรือแผ่นซิลิโคนลดแผลเป็น

การใช้เจลหรือแผ่นซิลิโคนลดแผลเป็น เป็นวิธีที่รักษาแผลเป็นที่ง่ายเพราะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยเพียงแค่แปะแผ่นซิลิโคนหรือป้ายเจลลงบนแผลเป็น วันละ 12 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ก็จะช่วยลดความแดงของแผลเป็น และอาจช่วยลดขนาดของแผลเป็นคีย์ลอยด์หรือแผลเป็นนูนให้เล็กลงได้

2. การใช้แผ่นผ้าแปะกด (Pressure Dressings)

แผลเป็นที่เกิดจากแผลไหม้ขนาดใหญ่หรือเกิดจากการปลูกถ่ายผิวหนัง สามารถรักษาให้แบนและนุ่มลงได้ด้วยการใช้แผ่นผ้าที่ยืดหยุ่นแปะกดไว้เหนือแผลเป็นตลอดทั้งวัน ติดต่อกันประมาณ 6–12 เดือน รวมถึงวิธีนี้ยังสามารถใช้รักษาแผลเป็นที่เป็นมานานให้จางลง ควบคู่ไปกับการใช้เจลหรือแผ่นซิลิโคน

3. การรักษาด้วยเลเซอร์

การเลเซอร์สามารถช่วยรักษารอยแดงของแผลเป็นให้จางลง ช่วยรักษาแผลเป็นจากหลุมสิว เพื่อทำให้หลุมสิวบนใบหน้าตื้นและดูเรียบเนียนขึ้น รวมทั้งช่วยกำจัดผิวหนังชั้นบนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไป อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยเลเซอร์ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาแผลเป็นเท่านั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผิวหนัง

4. การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid Injections)

สำหรับแผลเป็นคีลอยด์และแผลเป็นนูนสามารถทำให้จางหรือยุบลงได้ด้วยการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในปริมาณเข็มเล็ก ๆ ลงไปที่แผลเป็นหลาย ๆ ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของแผล และอาจต้องมีการฉีดซ้ำ โดยปกติจะฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ละครั้งเว้นระยะห่างประมาณ 4–6 สัปดาห์เพื่อประเมินการตอบสนองของร่างกาย หากแผลเป็นดีขึ้นก็อาจรักษาด้วยวิธีนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ

5. การฉีดฟิลเลอร์ (Dermal Fillers)

การฉีดฟิลเลอร์เป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาแผลเป็นหลุมสิวด้วยการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปบริเวณใบหน้า เพื่อให้หลุ่มสิวตื้นและดูเรียบเนียนขึ้น แต่การฉีดฟิลเลอร์อาจมีราคาแพงและได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องฉีดซ้ำบ่อยครั้ง

6. การทำ Skin Needling

การทำ Skin Needling เป็นการใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยเข็มขนาดเล็กจำนวนมาก นำมากดลงบนผิวหนังเพื่อรักษารอยแผลเป็น รอยหลุมสิว และฝ้า นับเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยรักษารอยแผลเป็นได้ แต่ต้องทำบ่อยครั้งหากต้องการให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

7. การผ่าตัดแผลเป็น

การผ่าตัดจะช่วยเปลี่ยนลักษณะของแผลเป็น ตำแหน่ง รูปร่าง ความกว้าง รวมถึงทำให้แผลที่บริเวณข้อต่อหายตึงและสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น แต่การผ่าตัดก็อาจมีผลข้างเคียงคือทำเกิดแผลเป็นจากแผลผ่าตัดขึ้นมาใหม่ และหากใช้วิธีนี้ในการรักษาแผลเป็นนูน อาจมีความเสี่ยงที่แผลจะแย่ลงกว่าเดิม

ส่วนในการผ่าตัดเพื่อรักษาแผลเป็นคีลอยด์ หลังจากผ่าตัดมักมีการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ทันที และไม่แนะนำให้ใช้การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเพราะอาจทำให้แผลขยายกว่าเดิม นอกจากนี้ อาจมีการรักษาด้วยรังสีเอกซเรย์และให้ยารับประทานร่วมด้วย

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็น

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • เมื่อเกิดแผลควรใช้น้ำเย็นล้างทำความสะอาดแผลแล้วเช็ดรอบ ๆ แผลด้วยสบู่อ่อน ไม่ควรใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ เพราะอาจเกิดการระคายเคืองและทำให้แผลหายช้า
  • ควรใช้ผ้าปิดแผลเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรีย สิ่งสกปรก และสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ เข้าสู่แผลได้
  • ไม่ควรเขี่ย แคะ แกะ เกาบริเวณที่เกิดแผล เพราะจะทำให้แผลเปิดขึ้นมาอีกครั้ง เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและอาจทำให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • อาจเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดแผลด้วยครีมบำรุงมอยส์เจอไรเซอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และลดโอกาสในการเกิดแผลเป็น

แม้ว่าแผลเป็นจะไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป เนื่องจากโอกาสในการเกิดแผลเป็นของคนแต่ละคนและแต่ละบริเวณของร่างกายนั้นแตกต่างกันออกไป แต่หากระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลอยู่เสมอ หรือหากเกิดบาดแผลขึ้นแล้วดูแลแผลอย่างเหมาะสมตามขั้นตอนข้างต้น ก็อาจช่วยลดโอกาสในการเกิดรอยแผลเป็นได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น แผลเป็นยังอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจได้ด้วย โดยเฉพาะหากเกิดแผลเป็นรุนแรงในบริเวณที่สังเหตเห็นได้ง่าย เช่น ใบหน้า ก็อาจทำให้ผู้ที่มีแผลเป็นเสียความมั่นใจ กังวลกับสายตาผู้อื่นที่มองมา รู้สึกไม่ชอบใบหน้าตัวเอง ไปจนถึงเกิดภาวะซึมเศร้า

ดังนั้น หากมีความรู้สึกหดหู่หรือเศร้าใจเกิดขึ้น และรู้สึกว่าความเศร้านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา