ฝ้า (Melasma)

ความหมาย ฝ้า (Melasma)

ฝ้า (Melasma) คืออาการทางผิวหนังที่มีลักษณะเป็นรอยด่างสีน้ำตาลบริเวณผิวหนังจากการที่ร่างกายผลิตเม็ดสีออกมามากเกินไป ซึ่งสาเหตุนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเกิดจากรังสียูวี (UV) และการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเพศหญิงบางชนิด

ฝ้าเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักเกิดกับผู้ที่มีผิวคล้ำหรือผู้หญิงในช่วงวัย 20–40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ฝ้าไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายนอกจากความสวยงาม และความมั่นใจของผู้ป่วย

ฝ้า (Melasma)

อาการของฝ้า

โดยปกติแล้ว ฝ้ามักเกิดบนบริเวณใบหน้า โดยจะขึ้นทั้งฝั่งซ้ายและขวาในขนาดที่เท่า ๆ กัน ซึ่งบริเวณที่พบได้บ่อยคือ หน้าผาก แก้ม ดั้งจมูก คาง และร่องริมฝีปากบน แต่บริเวณอื่นของร่างกายที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ อย่างแขนหรือลำคอก็สามารถเกิดฝ้าได้เช่นกัน    

นอกจากนี้ ฝ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • ฝ้าในชั้นหนังกำพร้า (Epidermal Melasma) มีลักษณะเป็นรอยด่างสีน้ำตาลเข้ม สามารถเห็นขอบได้ชัดเจน และมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี
  • ฝ้าในชั้นหนังแท้ (Dermal Melasma) มีลักษณะเป็นรอยด่างสีน้ำตาลอ่อน ขอบรอบฝ้าไม่ชัดเจน และมักไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • ฝ้าผสม (Mixed Melasma) มีลักษณะของฝ้าทั้ง 2 ชนิดผสมกัน ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และตอบสนองต่อการรักษาในบางบริเวณเท่านั้น

ถึงแม้ฝ้าจะไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย แต่มะเร็งผิวหนังบางชนิดมีอาการทับซ้อนหรือลักษณะคล้ายคลึงกับฝ้า ดังนั้น ควรไปพบแพทย์หากพบรอยด่างสีน้ำตาลบนผิวหนัง เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

สาเหตุของฝ้า 

สาเหตุการเกิดฝ้านั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ปัจจัยหลัก ๆ ที่มักพบ ได้แก่

  • รังสียูวี การรับรังสียูวีจากแสงแดดเป็นเวลานานจะทำให้เซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ผลิตเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ขึ้นมาที่ชั้นผิวหนังมากขึ้น และทำให้ผิวเกิดรอยคล้ำตามมา
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มีการสันนิษฐานว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า เนื่องจากมักพบการเกิดฝ้าในผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเหล่านี้สูงกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเหล่านี้สูงขึ้น ได้แก่ การรับประทานยาคุมกำเนิด การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) หรือการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2–3
  • พันธุกรรม เนื่องจากพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีประวัติการเกิดฝ้าในครอบครัว เช่น การเกิดฝ้าในคู่แฝด
  • การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ผิวไวต่อแสง เช่น ยากันชัก (Anticonvulsant) ยาปฏิชีวนะบางชนิด กลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs) เรตินอยด์ (Retinoid) กลุ่มยาลดน้ำตาลในเลือด (Hypoglycaemics) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • สารหอมระเหยบางชนิดจากเครื่องสำอางหรือสบู่
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด แสง LED หรือเตียงอบผิวแทน

การวินิจฉัยฝ้า

ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยรอยฝ้าบนผิวหนังได้ด้วยตาเปล่า แต่การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุอาจต้องใช้วิธีตรวจเพิ่มเติม โดยการใช้แสงอัลตราไวโอเลต (Wood Lamp Examination) ในการตรวจความลึกของฝ้า และการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราบนผิวหนัง นอกจากนี้ แพทย์อาจติดตามผลการรักษาด้วยการประเมินลักษณะของฝ้าโดยใช้เกณฑ์ Melasma Area and Severity Index หรือ MASI

สำหรับผู้ป่วยบางคน แพทย์อาจตรวจต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดฝ้า หรือในกรณีที่รอยด่างสีน้ำตาลหรือสีน้ำเงินเทาบนผิวหนังของผู้ป่วยอาจไม่ใช่อาการของฝ้า แพทย์อาจใช้วิธีการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคที่อาจคล้ายคลึงกับฝ้า เช่น กระจากแดด (Solar Lentigo) ไลเคน พลานัส (Lichen Planus) กระลึก (Nevus of Hori) หรือปานโอตะ (Nevus of Ota)

การรักษาฝ้า

ฝ้าบางประเภทอาจค่อย ๆ จางหายไปเอง โดยเฉพาะฝ้าที่เกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การตั้งครรภ์ หรือการใช้ยาบางชนิด แต่ฝ้าบางประเภทอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาหลายปีหรืออาจไม่ตอบสนองต่อการรักษา ทั้งนี้แพทย์อาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษาฝ้า โดยจะพิจารณาตามสาเหตุและชนิดของฝ้าเป็นหลัก อีกทั้งผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน  

การใช้ยา

แพทย์อาจให้ใช้ยาทาชนิดครีม โลชั่น หรือเจลที่มีส่วนผสมในการยับยั้งเอนไซม์ไทโซซิเนส (Tyrosinase) ที่เป็นตัวการในการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยสารที่ได้ผลค่อนข้างดีในการรักษาฝ้า ได้แก่ สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) สารเตรทติโนอิน (Tretinoin) และยาสเตียรอยด์สำหรับใช้ภายนอกที่มีความแรงปานกลาง 

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้สารตัวอื่น ๆ ในการรักษาร่วมด้วย เช่น กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) กรดโคจิก (Kojic Acid) ซีสทีอามีน (Cysteamine) ยาสเตียรอยด์ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) เมไทมาโซล (Methimazole) กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) กลูตาไธโอน (Glutathione) และสารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract) เป็นต้น 

นอกเหนือจากยาใช้เฉพาะที่ แพทย์อาจจ่ายยาชนิดรับประทานในผู้ป่วยบางราย อย่างยาเมไทมาโซล (Methimazole) หรือกรดทรานเอกซามิก 

การรักษาด้วยการเลเซอร์หรือผลัดเซลล์ผิว

ในกรณีที่ใช้ยาเฉพาะที่แล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แพทย์อาจใช้การเลเซอร์หรือผลัดเซลล์ผิวเพื่อรักษาฝ้าแทน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างรวดเร็ว แต่ประสิทธิภาพของการรักษายังขึ้นอยู่กับแต่ละคน

  • การขจัดผิวหนังชั้นนอกออกด้วยสารเคมี (Chemical Peel) โดยการใช้กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha–hydroxy Acids: AHA) หรือกรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta–hydroxy Acids: BHA) ขจัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกออก
  • การขัดผิวหนังชั้นบนออกด้วยการศัลยกรรมขัดผิวหนัง (Dermabrasion) โดยการใช้อุปกรณ์ที่มีแปรงหรือวงล้อขัดไปที่ผิวหนังชั้นนอก
  • การกรอผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion) โดยการพ่นผลึกคริสตัลไปที่ผิวหนังเพื่อขจัดผิวหนังชั้นบนออก ซึ่งผิวของผู้ป่วยอาจมีการอักเสบหรือบวมเล็กน้อยหลังทำการรักษา
  • การทำ Microneedle ไอพีแอล (Intense Pulsed Light: IPL) และเลเซอร์รักษา โดยแพทย์จะใช้วิธีเลเซอร์รักษาหลังจากที่ใช้วิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล ซึ่งการรักษาอาจใช้ระยะเวลานานและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะการเลเซอร์มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงให้อาการแย่ลงได้ โดยเลเซอร์ที่มักใช้ในการรักษา เช่น Q–Switched Nd:YAG และ Picosecond Laser

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาที่กล่าวมาอาจไม่รักษาฝ้าให้หายไปทั้งหมดหรือไม่สามารถป้องกันการเกิดซ้ำของฝ้าได้  แพทย์จึงจะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้อาการแย่ลงร่วมด้วย เช่น การโดนแสงแดด การใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ การใช้ยาคุมกำเนิดที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรักษาในระหว่างนี้ เพราะการรักษาอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตต่อทารกหรือเด็กในครรภ์ได้

ภาวะแทรกซ้อนของฝ้า

โดยปกติแล้วการเกิดฝ้าไม่ได้ส่งผลเสียหรืออันตรายใด ๆ ต่อร่างกายนอกจากความสวยงามและความมั่นใจของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากการรักษาได้ เช่น ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยาไฮโดรควิโนน ยาเตรทติโนอิน และกรดอะซีลาอิค หรือผิวหนังชั้นบนถูกทำร้ายจากการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีจนเกิดแผลเป็นนูนและรอยดำ เป็นต้น

การป้องกันฝ้า

เนื่องจากฝ้าบางชนิดเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างพันธุกรรมหรือภาวะการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นการป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองจากปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะแสงแดดก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดโอกาสการเกิดฝ้าได้ เช่น เลือกสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายได้มิดชิด หรือหมั่นทาครีมกันแดด โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ที่เหมาะสมกับการใช้งาน และมีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) และไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) นอกจากนี้ การรับวิตามินดีให้เพียงพอ เช่น จากแสงแดดในช่วงเช้า หรืออาหารเสริมสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินดีก็สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดฝ้าได้เช่นกัน