ยาปฏิชีวนะ กินอย่างไรให้ได้ผล ปลอดภัย ไม่ดื้อยา

ด้วยสรรพคุณของยาปฏิชีวนะที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค หลายคนมักเข้าใจผิดว่ายาชนิดนี้อาจรักษาการติดเชื้อได้หลากหลายและอาจเร่งให้หายจากโรคได้ไวขึ้น แท้จริงแล้วการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรเลือกใช้ยาแต่ละชนิดให้เหมาะกับเป้าหมายการรักษา โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อความปลอดภัยและใช้ยารักษาจนหายจากการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ดื้อยา

ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะคืออะไร ?

ยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มยารักษาโรคการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจนำมาใช้รักษาการติดเชื้อปรสิตบางชนิดได้ด้วย ซึ่งยามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งยารับประทานแบบเม็ด แคปซูล ยาน้ำ ยาทาภายนอกสำหรับใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง และยาฉีดที่ใช้ในโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อร้ายแรง หรือบางกรณีอาจใช้ยานี้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหลังการติดเชื้อไวรัสด้วย

ยาปฏิชีวนะเป็นยาสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน โดยแต่ละกลุ่มมีคุณสมบัติทางเคมีและมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเชื้อโรคต่างกัน ทำให้การใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย แพทย์จึงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยก่อนสั่งจ่ายยาแก่ผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของการติดเชื้อ การทำงานของตับและไต ผลข้างเคียง ประวัติการแพ้ยาหรืออาการแพ้อื่น ๆ สถานะการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร เป็นต้น

ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้กันบ่อย ได้แก่

  • กลุ่มยาเบต้าแลคแทม หรือยาเพนิซิลลิน จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผนังเซลล์ไม่สมบูรณ์ แพทย์มักใช้รักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ผิวหนัง ทรวงอก หรือทางเดินปัสสาวะ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอะมอกซิซิลลิน ยาเพนิซิลลิน วี ยาอะมอกซิซิลลินผสมคลาวูลาเนท เป็นต้น
  • กลุ่มยาเซฟาโลสปอริน ส่วนใหญ่จะใช้รักษาการติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเซฟูรอกซิม ยาเซฟดิเนียร์ ยาเซฟไตรอะโซน ยาเซฟาเลกซิน เป็นต้น
  • กลุ่มยาเตตราไซคลีน ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีนในเซลล์ของแบคทีเรีย มักใช้รักษาสิว โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังระดับปานกลางถึงรุนแรง การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาดอกซีไซคลิน ยามิโนไซคลีน เป็นต้น
  • กลุ่มยาอะมิโนไกลโคไซด์ จะยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีนในเซลล์ของแบคทีเรียโดยใช้รักษาโรคติดเชื้อรุนแรงอย่างภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมักใช้เป็นยาฉีดรักษาผู้ป่วยที่ต้องพักในโรงพยาบาล เนื่องจากยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ นอกจากนี้ บางกรณีอาจใช้เป็นยาหยอดรักษาการติดเชื้อที่ดวงตาหรือในหู ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเจนตามัยซิน ยาอะมิคาซิน เป็นต้น
  • กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์กว้าง โดยขัดขวางกระบวนการสร้างดีเอ็นเอของเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาซิโปรฟลอกซาซิน ยาลีโวฟลอกซาซิน เป็นต้น
  • กลุ่มยาแมคโครไลด์ มักใช้รักษาการติดเชื้อที่ปอดและทรวงอก หรืออาจเป็นทางเลือกการรักษาสำหรับผู้ที่แพ้หรือดื้อยาเพนิซิลลิน โดยยากลุ่มนี้จะยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีนในเซลล์ของแบคทีเรีย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาคลาริโทรมัยซิน ยาอิริโทรมัยซิน เป็นต้น

ยาปฏิชีวนะใช้ในกรณีใดบ้าง ?

ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะโรคหรืออาการที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือปรสิต โดยยาปฏิชีวนะจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา ซึ่งโดยทั่วไปมักพบการติดเชื้อแบคทีเรียได้น้อยกว่าการติดเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นหรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้ออื่นนอกเหนือไปจากข้อบ่งชี้ของยา จะไม่เกิดประสิทธิผลทางการรักษาใด ๆ ในทางกลับกันอาจเป็นอันตรายมากกว่าเดิม และมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น การเจ็บป่วยจากเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัส โรคหลอดลมอักเสบจากเชื้อไวรัส รวมถึงอาการไอหรือเจ็บคอจากสาเหตุทั่วไป และการติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง ช่องปาก หรือช่องคลอด เป็นต้น

ดังนั้น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตเท่านั้น และใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดเสมอ โดยแพทย์มักจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยในกรณีดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อไม่รุนแรง แต่มีแนวโน้มหายได้ยากหากไม่ได้ใช้ยา เช่น สิวที่มีการอักเสบค่อนข้างรุนแรง
  • การติดเชื้อไม่รุนแรง แต่อาจแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้หากไม่รักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที เช่น โรคหนองในเทียม โรคพุพอง (Impetigo) เป็นต้น
  • โรคบางชนิดที่ยาปฏิชีวนะจะช่วยฟื้นฟูอาการให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การติดเชื้อที่ไต เป็นต้น
  • โรคที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) และโรคปอดบวม เป็นต้น

การใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความเข้าใจแบบผิด ๆ  

หลายครั้งที่คนขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม โดยคิดว่าเป็นยาตัวเดียวกันกับยาแก้อักเสบที่เชื่อว่าอาจรับประทานทดแทนกันได้ แต่แท้จริงแล้วโรคบางชนิดไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียและไม่สามารถหายได้เอง การใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงของโรคนั้นหรือทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาชนิดนี้แบบผิด ๆ ได้อีกด้วย  

ดังนั้น จึงควรจดจำและระมัดระวัง 3 กลุ่มโรคสำคัญที่ส่วนมากไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ดังนี้

โรคหวัด
อาการเจ็บคอและไอทั่วไปมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย ยกเว้นกรณีที่เป็นคอหอยอักเสบและมีตุ่มหนองที่ทอนซิล ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบรุนแรง หรือแพทย์วินิจฉัยว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถซื้อยาแก้หวัดหรือแก้ไอมารับประทานเองได้ที่บ้าน แต่ควรเลือกชนิดของยาแก้ไอให้ถูกต้องเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ผู้ที่มีอาการไอแห้งควรรับประทานยากดอาการไอ หากมีเสมหะร่วมด้วยควรเลือกใช้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะอย่างยาเอ็นอะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) หรือเรียกว่า NAC ในปริมาณ 600 มิลลิกรัม ซึ่งตัวยาจะช่วยบรรเทาอาการไอ ลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยขับเสมหะออกมาง่ายขึ้น ในปัจจุบันมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปในหลายรูปแบบ หากเป็นรูปแบบยาเม็ดฟู่จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยาหรือผู้สูงวัยได้ดีกว่า รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง โดยนำยาไปละลายในน้ำครึ่งแก้วก็สามารถดื่มได้ทันที ทั้งนี้ ยาเหล่านี้ไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการระคายคอหรือเจ็บคออาจเลือกใช้สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมของคาโมไมล์เพื่อช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว โดยบางผลิตภัณฑ์จะผสมน้ำมันหอมระเหยหลากชนิด อย่างยูคาลิปตัสหรือมะกรูด ซึ่งมีสรรพคุณในการต้านอาการอักเสบและระคายเคืองภายในลำคออันเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บคอ โดยสามารถใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดอาการ เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงานหรือการทำกิจกรรมในระหว่างวัน ผลิตภัณฑ์นี้มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้งานเสมอ

อุจจาระร่วงเฉียบพลัน
ผู้ป่วยมักหายได้เองหลังจากกำจัดสารพิษหรือเชื้อโรคผ่านทางการถ่ายอุจจาระ แต่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน หรือในรายที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นอหิวาตกโรคหรือติดเชื้อในกระแสเลือด

แผลสด
โดยทั่วไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แผลสดจากอุบัติเหตุมักไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ยกเว้นโดนสัตว์กัด หรือเป็นแผลจากการบดอัด แผลลึกมาก แผลยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร มีเนื้อตาย ขอบแผลไม่เรียบ เย็บแผลไม่สนิท หรือแผลมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกที่กำจัดออกไปไม่หมด เป็นต้น        

เหตุใดจึงไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ?

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อหรือไม่มีเหตุจำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์อื่น ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจนการใช้ยาตัวเดิมไม่ได้ผลในการรักษาครั้งต่อไป ทำให้อาการหายขาดยากหรือต้องเพิ่มปริมาณยาที่ใช้ในการรักษามากขึ้น โดยภาวะดังกล่าวเรียกว่าเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาทางการแพทย์ที่รุนแรงอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างการเจ็บป่วยที่รักษาได้ยากขึ้นจากการเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ได้แก่ การติดเชื้อที่ผิวหนัง วัณโรค โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม หูติดเชื้อ ไซนัสอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะอาจทำลายเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ก่อโรคด้วย ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล บางรายจึงมีอาการท้องเสียหลังรับประทานหรือใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากแบคทีเรียชนิดดีเหล่านั้นถูกกำจัดออกไป และมีรายงานว่ายาปฏิชีวนะอาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียอันตรายอย่างคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) เจริญเติบโตได้ไวและก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ด้วย

คำแนะนำในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างปลอดภัย

  • ใช้ยาติดต่อกันตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้อาการดีขึ้น เพื่อให้เชื้อโรคถูกกำจัดจนหมดสิ้นและป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ
  • รับประทานยาตามฉลากยาหรือคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ยาบางชนิดควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือไม่ควรรับประทานยาหากดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้ไม่เต็มที่
  • ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่หากพบว่าอาการยังคงอยู่ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียดและวางแผนรักษาต่อไป
  • ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่ควรระวังเมื่อต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ
  • หากลืมรับประทานยา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้เวลาในรอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยารอบต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยา
  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีและผลเสียของยาก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาตัวอื่น ๆ ที่กำลังรับประทานอยู่ เพราะยาปฏิชีวนะบางตัวอาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาชนิดอื่น หรือเสริมฤทธิ์ยาชนิดอื่นให้รุนแรงขึ้นได้
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
  • ยาปฏิชีวนะทุกชนิดล้วนมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป และยังสามารถทำลายแบคทีเรียตามธรรมชาติในร่างกายได้ด้วย จึงอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราตามมาได้หากใช้ติดต่อกันนานเกินไป ดังนั้น ก่อนใช้ยาควรสอบถามถึงผลที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา และควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติหรืออาการป่วยรุนแรงมากกว่าเดิม
  • การใช้ยาปฏิชีวนะต้องพิจารณาจากประเภทของเชื้อแบคทีเรียและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละราย จึงไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะของผู้อื่นหรือยาที่เหลือเก็บไว้ เพราะอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อใช้ผิดวิธีและหรือใช้อย่างไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ไอ หายใจมีเสียงหวีด มีปัญหาในการหายใจ เจ็บคอ เป็นต้น หรืออาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและอาจทำลายผนังลำไส้ใหญ่ได้

นอกจากนี้ ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิดยังมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์และศึกษาข้อมูลการใช้ยาให้ดีก่อนเสมอ เพื่อให้หายป่วยจากโรคติดเชื้อและเพื่อความปลอดภัยในสุขภาพระยะยาวด้วย