ประโยชน์ของทุเรียนมีมากมาย เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่เป็นดีต่อร่างกาย เช่น วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากคุณประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังมีข้อควรรู้บางอย่างที่เราควรทราบก่อนเลือกรับประทานทุเรียน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทุเรียนอย่างเต็มที่และปลอดภัยต่อร่างกาย
ทุเรียนเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ให้พลังงานสูง มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี และพันธุ์ก้านยาว ทุเรียนมีกลิ่นแรงที่เป็นเอกลักษณ์ และรสชาติหวานอร่อย นิยมรับประทานทั้งแบบผลสด และนำไปทำเป็นเมนูทุเรียนต่าง ๆ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน
ประโยชน์ของทุเรียนต่อสุขภาพ
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่โดดเด่นในด้านรสชาติที่อร่อยถูกใจผู้รับประทาน อีกทั้งยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน น้ำตาล ใยอาหาร โพแทสเซียม วิตามินซี และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างธาตุเหล็ก สังกะสี และทองแดงอีกด้วย
ประโยชน์ของทุเรียนต่อสุขภาพที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ เช่น
1. ให้พลังงานสูง
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เป็นแหล่งพลังงานที่ดีเนื่องจากให้พลังงานสูง ทุเรียนเพียง 100 กรัม หรือประมาณ 2 เม็ดเล็กให้พลังงานถึง 140–170 แคลอรี ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่สูงมากเมื่อเทียบกับฝรั่งกลมสาลี่ปริมาณ 100 กรัมเท่ากันแต่ให้พลังงานเพียง 36 แคลอรี
โดยในทุเรียน 2 เม็ดเล็กมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตประมาณ 30 กรัม เท่ากับข้าวสวยประมาณ 2 ทัพพี ไขมัน ในทุเรียนมีไขมันประมาณ 5 กรัม เท่ากับน้ำมันมะกอกประมาณ 1 ช้อนชา และยังมีน้ำตาลประมาณ 15 กรัม หรือเท่ากับน้ำตาลทรายประมาณ 3 ช้อนชา โดยพลังงานและปริมาณสารอาหารเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นตามระดับความสุกงอมของทุเรียน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรงดรับประทานทุเรียน เนื่องจากทุเรียนอาจส่งผลให้ค่าน้ำตาลและไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญหาทางสุขภาพ รวมทั้งผู้ที่ต้องการควบคุมปริมาณแคลอรีในอาหาร ควรรับประทานทุเรียนในปริมาณที่เหมาะสม
2. ช่วยย่อยอาหาร
อีกหนึ่งประโยชน์ของทุเรียนคือใยอาหารหรือไฟเบอร์ ซึ่งทุเรียน 2 เม็ดเล็กจะมีใยอาหารอยู่ประมาณ 4 กรัม หรือประมาณ 15 % ของปริมาณใยอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ซึ่งใยอาหารนี้มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร และทำให้การขับถ่ายเป็นปกติ
3. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ในทุเรียนหมอนทอง 2 เม็ดเล็กมีวิตามินซีตั้งแต่ 55–350 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งวิตามินซีในทุเรียนมีส่วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น และยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจากอนุมูลอิสระได้อีกด้วย การรับประทานทุเรียนจึงสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้
4. ลดโอกาสเกิดมะเร็ง
ทุเรียนมีส่วนประกอบของสารโพลีฟีนอล และสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งสารจากธรรมชาติทั้งสองนี้สามารถเสริมสร้างกระบวนการกำจัดเซลล์ที่ร่างกายไม่ต้องการ เรียกว่ากระบวนการอะพอพโทซิส (Apoptosis) ซึ่งอาจส่งผลช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
5. ป้องกันโรคหัวใจ
สารต้านอนุมูลอิสระในทุเรียน มีส่วนช่วยลดการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) หรือภาวะที่มีสารอนุมูลอิสระมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ โพแทสเซียมในทุเรียนยังมีส่วนช่วยขจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ป้องกันการเกิดความดันเลือดสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจด้วย
ดังนั้น หากรับประทานทุเรียนในปริมาณที่เหมาะสม ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจได้
6. ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกิดจากการมีอินซูลินhttps://www.pobpad.com/อินซูลินในเลือดต่ำ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดต่ำคือการมีระดับโพแทสเซียมต่ำ
ในทุเรียน 100 หรือประมาณ 2 เม็ดเล็ก มีโพแทสเซียมประมาณ 440–600 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่สูง ผู้ที่รับประทานทุเรียนจึงอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยลงได้ อีกทั้งทุเรียนยังมีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) ที่ค่อนข้างต่ำ จึงจะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม หากรับประทานทุเรียนในปริมาณมาก ก็อาจทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน จึงควรรับประทานทุเรียนในปริมาณที่เหมาะสม
วิธีการรับประทานทุเรียนให้มีประโยชน์และปลอดภัย
แม้ว่าทุเรียนจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็มีข้อควรระวังในการรับประทานเช่นกัน ทั้งนี้ การรับประทานทุเรียนอย่างมีประโยชน์และปลอดภัยสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวควรรับประทานทุเรียนไม่เกิน 1 พู หรือสองเม็ดกลางต่อวัน
- หากรับประทานทุเรียน ควรงดอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารอาหารเกินความจำเป็น เนื่องจากร่างกายอาจสะสมเป็นไขมัน
- ควรออกกำลังกายหลังรับประทานทุเรียนเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ได้รับจากทุเรียน
- เลือกรับประทานทุเรียนที่มีน้ำตาลน้อยกว่า เช่น รับประทานทุเรียนแบบกึ่งห่าม เนื่องจากมีแป้งและน้ำตาลน้อยกว่าแบบสุกงอม และเลี่ยงการรับประทานทุเรียนแปรรูป เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน และทุเรียนน้ำกะทิ เนื่องจากมีพลังงานสูงกว่าทุเรียนสดมาก
- ไม่ควรรับประทานทุเรียนพร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทุเรียนอาจทำให้ร่างกายขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายช้าลง อาจส่งผลให้เกิดอาการหรือผลข้างเคียงของแอลกอฮอล์มากขึ้นตามไปด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานทุเรียนในปริมาณน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือควรงดรับประทาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียจากทุเรียน
ทุเรียนเป็นผลไม้มีคุณประโยชน์ แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกันหากรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จึงควรพิจารณาสุขภาพ โรคประจำตัว หรืออาจปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน และควรระวังการรับประทานในปริมาณเกินกว่าที่แนะนำ หากมีอาการชา หน้าแดง มึนหัวหรือเวียนหัว อาเจียน หลังรับประทานทุเรียน ควรพบแพทย์