เสพข่าวมากไป อาจเสี่ยงภาวะ Headline Stress Disorder ไม่รู้ตัว

Headline Stress Disorder หรือภาวะเครียดจากการเสพข่าวมากเกินไป เป็นความรู้สึกวิตกกังวลและเครียดจากการรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากผ่านสื่อต่าง ๆ แม้ Headline Stress Disorder จะไม่ได้จัดเป็นโรคตามคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) แต่มีส่วนทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจในระยะยาว 

การรับข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ แต่รวมไปถึงข่าวออนไลน์บนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่สามารถอ่านได้ตลอดเวลา บวกกับสถานการณ์ที่มีทั้งโรคระบาดและประเด็นในสังคมมากมาย ยิ่งทำให้เกิดความสับสน ตื่นตระหนก และเครียดได้ง่าย 

3655-Headline Stress Disorder

ใครที่เสี่ยงเป็น Headline Stress Disorder

Headline Stress Disorder เกิดได้กับทุกคน แต่บางคนอาจเกิดความเครียดจากการเสพข่าวได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น

  • คนที่มีความเครียดในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น ปัญหาสุขภาพ ครอบครัว การเรียน และการทำงาน
  • คนที่เป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า การได้รับข่าวสารมากเกินไปอาจกระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลง
  • คนที่ขาดวิจารณญาณในการรับข่าวสาร เช่น เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีนิสัยเชื่อข้อมูลที่ได้รับมาง่าย ๆ หรือไม่สามารถคัดกรองข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการได้รับข่าวเท็จจนเกิดความเครียด
  • คนที่ติดมือถือและใช้เวลาส่วนใหญ่กับโลกออนไลน์ ซึ่งมีโอกาสรับข่าวสารจำนวนมากได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือเท็จ

อาการและผลกระทบต่อสุขภาพจาก Headline Stress Disorder

หลายคนอาจไม่รู้ว่าการอ่านแค่หัวข้อข่าวก็อาจกระตุ้นให้เราเกิดความเครียดได้ หากพาดหัวข่าวใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อดึงดูดความสนใจ ข่าวมีเนื้อหาที่น่าหดหู่ใจ หรือใช้เวลาอ่านข่าวที่มีเนื้อหาชวนให้เครียดนานเกินไป  

เมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียดจะกระตุ้นให้ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ปล่อยฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วขึ้น และกล้ามเนื้อตึงตัว 

เมื่อความเครียดเริ่มสะสม อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แน่นหน้าอก ปวดหัว นอนไม่หลับ ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ตื่นตระหนก และซึมเศร้า หากปล่อยไว้นานเกินไป อาจนำไปสู่โรคบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า 

นอกจากนี้ ความเครียดอาจกระตุ้นได้เกิดพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุภาพ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมทั้งอาจกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

เสพข่าวอย่างไร ไม่เสี่ยง Headline Stress Disorder

  • สำรวจความรู้สึกตัวเองก่อนเสพข่าว ใครที่มีเรื่องเครียดอยู่แล้ว ไม่ควรอ่านข่าวที่อาจเพิ่มความเครียดมากขึ้นอีก และหากอ่านข่าวแล้วรู้สึกไม่ดี ควรตั้งสติ งดเสพข่าวหรือใช้โซเชียลมีเดียจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น
  • กำหนดเวลาในการเสพข่าวในแต่ละวัน และเคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อ่านข่าวเฉพาะช่วงเช้าหรือเที่ยงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และงดเสพข่าวช่วงก่อนนอน เพราะความเครียดจากการเสพข่าวอาจทำให้นอนหลับยาก
  • รับข่าวสารจากสื่อที่น่าเชื่อถือ และหลีกเลี่ยงการอ่านข่าวออนไลน์จากแหล่งข่าวที่ไม่มีที่มาชัดเจน เพราะอาจเป็นข้อมูลเท็จหรือถูกแต่งเติมข้อมูลจนผิดเพี้ยนจากความจริง
  • หากเป็นข่าวด่วนควรรอให้มีข้อมูลที่ชัดเจนเพิ่มเติม แล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว
  • หลีกเลี่ยงการเสพข่าวเรื่องเดียวกับที่อ่านหรือรับรู้มาแล้ว ควรเปลี่ยนช่องโทรทัศน์หรือเลื่อนผ่านไป การรับข้อมูลซ้ำอาจทำให้เกิดความสับสนและเครียดได้ง่าย
  • พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่าน เพราะทุกเหตุการณ์มีแง่มุมที่ดีและไม่ดีเสมอ และคิดเสมอว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การรู้สึกแย่กับข่าวมากไปจะมีแต่บั่นทอนตัวเราเอง 
  • ควรหาเวลาพักจากการเสพข่าวระหว่างวัน เช่น เดินไปสูดอากาศนอกบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง เพื่อไม่ให้ความเครียดสะสม
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ ฝึกลมหายใจ และนั่งสมาธิ หรือพูดคุยกับคนรอบข้าง คนในครอบครัวและเพื่อน ที่สามารถรับฟังความเครียดของเราได้

หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วไม่สามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ หรือรู้สึกว่า Headline Stress Disorder ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น โมโหร้าย หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบทำ พฤติกรรมเปลี่ยนไปจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต เบอร์ 1323 หรือไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ซึ่งสามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการรับมือกับความเครียดอย่างเหมาะสม