พูดคนเดียว เรื่องปกติหรือเป็นปัญหาทางจิต

เมื่อเราใช้ความคิดหรือต้องตัดสินใจบางอย่างอาจเผลอพูดคนเดียวอยู่บ้าง แต่หลายคนอาจกังวลว่าตนเองผิดปกติหรือมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดในสายตาคนอื่นหรือไม่ บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยของการพูดคนเดียว อาการแบบไหนที่ดีต่อสุขภาพ และอาการแบบไหนที่บ่งบอกถึงความผิดปกติทางจิตที่ควรระวัง 

การพูดคนเดียวจะส่งผลดีต่อสุขภาพเมื่อพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และให้กำลังใจตัวเอง แต่หากพูดในสิ่งที่บั่นทอนจิตใจก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตตามมา และการพูดคนเดียวในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคทางจิตได้ 

พูดคนเดียว เรื่องปกติหรือเป็นปัญหาทางจิต

พูดคนเดียวไม่ได้ผิดปกติเสมอไป 

การพูดคนเดียวหรือการพูดกับตัวเองในเชิงบวก เช่น การพูดเพื่อทบทวนความคิดหรือคำพูดที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ อาจมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • เพิ่มสมาธิให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำ เช่น การท่องรายการสิ่งของที่ต้องซื้อจะช่วยย้ำไม่ให้เราหลงลืม ช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งนั้นและค้นหาของได้ดีขึ้น
  • ช่วยในการคิดและตัดสินใจ เพราะการพูดกับตัวเองเป็นการทบทวนความคิดในสมองและช่วยให้เราคิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น 
  • สร้างกำลังใจ เช่น การพูดว่า “ฉันทำได้” หรือ “ฉันทำได้ดีแล้วนะ” คำพูดเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้มีกำลังใจมากขึ้น โดยงานวิจัยพบว่าการฝึกให้นักกีฬาพูดกับตัวเองจะช่วยลดความวิตกกังวล เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเอง และเพิ่มสมรรถภาพในการแข่งขันให้ดียิ่งขึ้น
  • ลดความเครียด การพูดคนเดียวในเชิงบวกเป็นการทบทวนความคิด ปรับอารมณ์ที่ขุ่นมัวให้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มความรู้สึกดีต่อตัวเอง จึงอาจช่วยบรรเทาความเครียดให้น้อยลงได้
  • สร้างเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น ลดอาการเจ็บปวดจากโรค ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันและความจำดีขึ้น ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น

ในทางตรงข้าม การพูดคนเดียวด้วยคำพูดที่บั่นทอนความรู้สึกตัวเอง เช่น “ฉันทำไม่ได้แน่ และทุกคนต้องผิดหวังในตัวฉัน” จะทำให้เกิดความเครียด ความมั่นใจในตัวเองลดลง เชื่อว่าตัวเองไม่มีความสามารถหรือไม่ดีพอ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

ทั้งนี้ คนที่ชอบพูดคนเดียวบางคนอาจเข้าข่ายความผิดปกติทางจิต โดยอาจเป็นผลจากอาการหลอน (Hallucinations) โดยสังเกตได้จากผู้ป่วยจะเห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่ไม่ได้เกิดขึ้นในความเป็นจริง ทำให้มีอาการพูดคนเดียวในลักษณะที่พูดขึ้นมาลอย ๆ เหมือนพูดคุยกับคนอื่นมากกว่าพูดเพื่อทบทวนความคิดของตัวเอง

อาการหลอนอาจเกิดจากโรคทางจิตหรือพฤติกรรมไม่ดีบางประการ เช่น โรคจิตเภท สมองเสื่อม โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคไบโพลาร์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการใช้ยาและสารเสพติด

วิธีฝึกพูดคนเดียวในเชิงบวก

การพูดคนเดียวในเชิงบวกให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทำได้หลายวิธี เช่น 

  • ฟังเสียงความคิดและตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อทบทวนความคิด จะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ และหาทางออกของปัญหาได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านความจำในระยะยาว
  • เปลี่ยนสรรพนามแทนตัวเองเมื่อพูดคนเดียวในเรื่องที่ชวนให้เครียด ปกติแล้วคนมักพูดว่า “ทำไมฉันเครียดจังเลยล่ะ” หรือ “ฉันจะทำอย่างไรดี” ซึ่งอาจทำให้รู้สึกกดดันและวิตกกังวล ให้ลองเปลี่ยนเป็น “เธอเครียดเรื่องอะไร” อาจช่วยสร้างระยะห่างทางจิตใจและลดความเครียดได้
  • ปรับความคิดและใช้คำพูดที่เสริมกำลังใจด้วยความเมตตาต่อตัวเองให้เหมือนกับเราพูดกับเพื่อนคนหนึ่ง เช่น แทนที่จะพูดว่า “ฉันไม่เก่ง ฉันทำได้ไม่ดี” ให้พูดว่า “ครั้งนี้ทำเต็มที่แล้ว ถึงจะทำได้ไม่ดี แต่จะเรียนรู้และพยายามต่อไป” 

พูดคนเดียวไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรคำนึงถึงสถานการณ์และสถานที่ร่วมด้วย เพราะบางกรณีอาจไปรบกวนผู้อื่นเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ร่วมกัน อย่างออฟฟิศหรือห้องสมุด หากรู้สึกอยากพูดคนเดียวแต่ทำไม่ได้ อาจหันไปใช้วิธีอื่นแทน เช่น พูดคุยกับคนอื่น จดบันทึกความคิด หาอะไรทำเพื่อลดความอยากพูดคนเดียว โดยอาจจิบน้ำหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง

พูดคนเดียวมักไม่เป็นสัญญาณของโรคที่น่ากังวล แต่การพูดบั่นทอนตัวเองบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล จึงควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการปรับความคิด และหากมีอาการผิดปกติ เช่น พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงและไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติทางจิตที่ควรไปพบแพทย์