รู้จักกับบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)

บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder หรือ ASPD) เป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีนิสัยแข็งกระด้าง ก้าวร้าว ไม่เคารพในสิทธิของผู้อื่น มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง ซึ่งบุคลิกภาพต่อต้านสังคมมักพบในวัยเด็กหรือวัยรุ่น และส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว

ผู้ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมมักไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจของผู้อื่น ยึดถือความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก และมักไม่พอใจเมื่อต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ขัดแย้งกับความต้องการของตน จึงมีพฤติกรรมแหกกฎอยู่บ่อยครั้ง และอาจนำไปสู่พฤติกรรมติดสุราหรือใช้สารเสพติด ทำให้ผู้ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมมักไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงานหรือชีวิตครอบครัวได้

Antisocial

อาการแบบไหนเข้าข่าย บุคลิกภาพต่อต้านสังคม

ผู้มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมอาจมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DSM-5) ได้จำแนกเกณฑ์การวินิจฉัยโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมไว้ ดังนี้

  • ขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
  • อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย และมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • หุนหันพลันแล่น ขาดความยั้งคิด 
  • ละเมิดกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานของสังคมบ่อยครั้ง
  • มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงที่ละเมิดต่อสิทธิทางร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น
  • ไม่มีความรับผิดชอบ ส่งผลให้การใช้ชีวิตครอบครัว การเรียน หรือการทำงานไม่มีคุณภาพ
  • เสแสร้งและโกหกหลอกลวง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ
  • เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล (Conduct Disorder) ตั้งแต่เด็ก หรือยังมีพฤติกรรมต่อเนื่องอยู่

นอกจากนี้ ผู้ที่มีบุคลิกต่อต้านสังคมมักมีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มสุราและใช้สารเสพติด หรือมีความผิดปกติทางจิตอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล พฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น และพฤติกรรมอื่นที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการใช้ความรุนแรง

บุคลิกภาพต่อต้านสังคมเกิดจากอะไร ?

บุคลิกภาพต่อต้านสังคมมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าปัจจัยทางด้านร่างกายและพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยภายนอกด้านการเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็กต่างก็มีอิทธิพลที่ทำให้เกิดโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมขึ้นได้

ปัจจัยภายใน

แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่พบว่าปัจจัยด้านพันธุกรรมหรือยีนอาจมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังพบว่าความผิดปกติของสมองอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมได้ เช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล พัฒนาการทางสมองบกพร่อง หรือการได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อการทำงานของสมอง เป็นต้น

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยด้านการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมาอาจทำให้เด็กมีโอกาสเกิดโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมเพิ่มขึ้น เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ความรุนแรงในวัยเด็ก โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ครอบครัวที่พ่อแม่แยกกันอยู่ หรือพ่อแม่มีความผิดปกติทางจิต เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม อย่างการถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกาย

โรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมมีวิธีตรวจและรักษาอย่างไร ?

โรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมเริ่มวินิจฉัยได้เมื่อผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยแพทย์จะประเมินจากข้อมูลที่ได้จากการสังเกตและสอบถามพฤติกรรม ประวัติผู้ป่วย ประวัติครอบครัวหรือคนใกล้ชิด

แพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาลก่อนอายุ 15 ปี มีประวัติหรือมีพฤติกรรมผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมตามเกณฑ์ DSM-5 อย่างน้อย 3 อาการก่อนอายุ 15 ปี รวมไปถึงผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต อย่างโรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar) และมีอาการของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมในช่วงเวลาอื่นร่วมด้วยนอกเหนือจากช่วงที่มีอาการของโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ได้เข้ารับการรักษา เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่อาจมาพบแพทย์เมื่อมีปัญหาอื่น เช่น การติดสุราหรือใช้สารเสพติด การป่วยด้วยโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล

การรักษาโรคนี้อาจทำได้ยากและยังไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง แพทย์จึงใช้วิธีรักษาแบบผสมผสาน ซึ่งผลการรักษาอาจแตกต่างกันตามอาการและปัญหาของผู้ป่วย รวมทั้งความร่วมมือและเต็มใจที่จะเข้ารับการรักษา โดยแพทย์อาจใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อรักษาโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม

การรักษาด้วยจิตบำบัด (Psychotherapy)

จิตบำบัดเป็นวิธีรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือความผิดปกติทางจิตใจ ประกอบด้วยวิธีบำบัดที่หลากหลาย อาทิ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งใช้การพูดคุยให้เข้าใจถึงปัญหาจนนำไปสู่การปรับความคิดและพฤติกรรม การบำบัดโดยให้ผู้ป่วยรับรู้และเข้าใจถึงระดับจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น (Mentalization Based Therapy) การจัดการกับอารมณ์และความโกรธ รวมถึงการบำบัดอาการติดสุราหรือสารเสพติด

การรักษาโดยใช้ยา

ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการรับรองว่าสามารถรักษาโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมได้ แต่แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ป่วย เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) ยารักษาโรควิตกกังวล ยารักษาระดับอารมณ์ (Mood Stabilizer) หรือยาต้านอาการทางจิตกลุ่ม Antipsychotics แบบใหม่ เพื่อรักษาอาการหุนหันพลันแล่นและก้าวร้าว เป็นต้น ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักในโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

หากสงสัยว่าคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ควรค่อย ๆ โน้มน้าวผู้ป่วยให้ไปพบจิตแพทย์ โดยใช้คำพูดที่แสดงความเข้าใจและห่วงใยต่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยยินยอมเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง อีกทั้งอาจช่วยป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นจากพฤติกรรมของผู้ป่วยอีกด้วย ทั้งนี้ หากมีบุคคลใกล้ชิดมีอาการของโรคควรพาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพราะอาจช่วยให้คุณได้เรียนรู้วิธีการรับมือและป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีอาการก้าวร้าวรุนแรง