จิตเภท (Schizophrenia)

ความหมาย จิตเภท (Schizophrenia)

Schizophrenia หรือโรคจิตเภท เป็นโรคความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงและเรื้อรัง ส่งผลต่อการพูด การคิด การรับรู้ ความรู้สึก และการแสดงออกของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ อย่างประสาทหลอน หลงผิด ปลีกตัวจากสังคม หรือไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยต้องเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมอาการไปตลอดชีวิต

1904 Schizophrenia rs

อาการของจิตเภท

อาการของโรคจิตเภทอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ อาการด้านบวก อาการด้านลบ และอาการด้านการรับรู้ ดังนี้

อาการด้านบวก 

เป็นอาการทางจิตที่มักจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่มีสุขภาพดีทั่ว ๆ ไป ซึ่งผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการรับรู้ความเป็นจริงบางอย่าง โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ประสาทหลอน ผู้ป่วยอาจมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้สึก หรือรับรสที่ไม่มีอยู่จริง แต่มักเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริงซึ่งเกิดจากความคิดของผู้ป่วยเอง โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ อาการหลอนทางการได้ยิน ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจได้ยินผู้อื่นส่งเสียงพากย์สิ่งที่ตนเองกำลังกระทำอยู่ คิดว่าเสียงนั้นคุยกับตนเอง หรือได้ยินว่าเสียงนั้นกำลังพูดสิ่งที่ตนเองคิด โดยสิ่งที่ได้ยินมักเป็นคำหยาบ คำพูดที่รุนแรงหรือไม่รื่นหู กระทั่งคำสั่งที่ให้ทำตาม ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจตอบโต้กับเสียงที่ได้ยินด้วย จึงทำให้คนอื่นมองเห็นว่ากำลังพูดคนเดียว
  • หลงผิด มักเกิดกับผู้ป่วยโรคนี้โดยส่วนใหญ่ โดยผู้ป่วยอาจเชื่อในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่มีอยู่จริง เช่น เชื่อว่าเพื่อนบ้านแอบติดกล้องในห้องเพื่อถ้ำมองตนเอง เชื่อว่ามีคนดังมาหลงรัก เชื่อว่ามีคนวางแผนฆ่าหรือวางแผนปองร้าย หรืออาจเชื่อว่ากำลังจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น เป็นต้น
  • เกิดความผิดปกติทางความคิด ผู้ป่วยอาจมีกระบวนการคิดหรือการประมวลข้อมูลที่ผิดไปจากปกติหรือไม่เป็นเหตุเป็นผล โดยอาจได้ยินสิ่งที่ตนเองคิดราวกับสิ่งนั้นถูกพูดออกมาดัง ๆ คิดอีกเรื่องหนึ่งแล้วไปคิดอีกเรื่องหนึ่งโดยที่ทั้งสองเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาเองโดยอาจพูดคำหรือวลีเดิมซ้ำ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับบริบทนั้น ๆ เชื่อว่าคำพูดโดยทั่วไปมีความหมายตรงกันข้ามหรือมีความหมายพิเศษ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเชื่อว่าความคิดในหัวไม่ใช่ความคิดของตนเองและมีคนเอาความคิดนั้นมาใส่ในหัว เชื่อว่ามีคนดึงเอาความคิดของตนเองออกไป เชื่อว่าคนอื่นกำลังได้ยินหรืออ่านความคิดของตน หรือความคิดอาจหยุดชะงักจนทำให้หยุดพูดแบบกะทันหันและไม่สามารถทวนในสิ่งที่ตนเองพูดออกไปได้
  • มีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอาจมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างตื่นกลัวหรือทำท่าทางแปลก ๆ ออกมา

อาการด้านลบ 

ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านการแสดงออกทางอารมณ์ พฤติกรรม และความสามารถ ดังนี้

  • พูดน้อยลง และอาจพูดด้วยเสียงโทนเดียว
  • แสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์น้อยลง
  • เคลื่อนไหวน้อยและไม่ค่อยทำอะไร
  • ปลีกตัวออกจากสังคม
  • ไม่มีอารมณ์ร่วม หรืออาจมีการแสดงออกทางอารมณ์แบบแปลก ๆ เช่น หัวเราะในสถานการณ์ที่ควรรู้สึกเศร้า เป็นต้น
  • ไม่มีความสนใจหรือความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต ไม่ค่อยมีความสุข
  • มีปัญหาในการบรรลุเป้าหมายหรือแผนที่วางไว้
  • มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน

เมื่อมีอาการจิตเภทประเภทนี้ ผู้ป่วยอาจหมดความสนใจในการทำสิ่งต่าง ๆ และจมอยู่กับความคิดของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในด้านการเรียนหรือการทำงาน และอาจกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตระยะยาวได้ โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาในการวางแผนและจดจำสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย

อาการด้านการรับรู้ 

เป็นอาการที่อาจส่งผลต่อกระบวนการคิดและความทรงจำของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการจดจ่อ การทำความเข้าใจข้อมูล การตัดสินใจ ความจำ และการจัดการสิ่งต่าง ๆ

ทั้งนี้ อาการของโรคจิตเภทอาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและอยู่ในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ โดยในระยะแรกผู้ป่วยอาจปลีกตัวจากสังคม เพื่อน หรือครอบครัว มีปัญหาในการนอนหลับ หงุดหงิดและว้าวุ่น ซึ่งอาการเหล่านี้คล้ายกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นทั่วไป จึงอาจทำให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ยากในช่วงวัยดังกล่าว

สาเหตุของจิตเภท

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรค Schizophrenia ได้ แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้ เช่น

  • ความผิดปกติภายในสมอง และปริมาณสารเคมีในสมองบางชนิดผิดปกติ
  • การสัมผัสสารพิษหรือได้รับเชื้อไวรัสขณะอยู่ในครรภ์มารดาหรือในช่วงแรกเกิด
  • ภาวะขาดออกซิเจนในช่วงแรกเกิด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่สมอง
  • ภาวะขาดสารอาหารตอนทารกอยู่ในครรภ์
  • อาการอักเสบ หรือเป็นโรคภูมิต้านตนเอง
  • การใช้ยาที่มีผลต่อจิตใจ หรือใช้ยาเสพติดที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค
  • ความเครียด อาจเกิดจากปัญหาด้านการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์ การปลีกตัวจากสังคม การสูญเสียคนรักไป หรือปัญหาอื่น ๆ
  • เพศและอายุ โดยโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี และผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปี อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัยจิตเภท

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจตรวจเบื้องต้นโดยสอบถามเกี่ยวกับอาการ ภาวะสุขภาพจิต โรคประจำตัว และประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว รวมทั้งอาจตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด โดยตรวจระบบประสาทและสมอง ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) หรือตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อให้แน่ใจว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน เช่น โรคบางอย่าง การใช้ยาบางชนิด การใช้สารเสพติด อาการป่วยทางจิตอื่น ๆ เป็นต้น จากนั้นแพทย์อาจตรวจสุขภาพจิตอย่างละเอียด เพื่อประเมินความคิด อารมณ์ จิตใจ อาการหลงผิด อาการประสาทหลอน แนวโน้มในการฆ่าตัวตาย หรือการใช้ความรุนแรงของผู้ป่วย ทั้งนี้ แพทย์อาจเฝ้าดูว่าผู้ป่วยยังคงมีอาการประสาทหลอน หลงผิด หรือมีการพูดที่ผิดปกติหรือไม่ หลังจากผู้ป่วยรับการตรวจวินิจฉัยผ่านไป 2-3 สัปดาห์ เพราะในบางกรณีอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วย

การรักษาจิตเภท

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรค Schizophrenia แต่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาดูแลอาการในระยะยาว เพื่อช่วยบรรเทาหรือลดความรุนแรงของอาการด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาเพื่อช่วยยับยั้งอาการประสาทหลอน อาการหลงผิด หรืออาการของโรคจิต เช่น ยาคลอร์โปรมาซีน ยาฮาโลเพอริดอล ยาฟลูเพนทิซอล ยาซูโคลเพนทิซอล ยาซัลพิไรด์ ยาอะมิซัลไพรด์ ยาอะริพิพราโซล ยาโคลซาปีน ยาโอแลนซาปีน ยาควิไทอะปีน หรือยาริสเพอริโดน เป็นต้น แต่ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากแห้ง ผิวหนังแดง ท้องผูก ง่วงซึม เห็นภาพมัว หรือน้ำหนักตัวเพิ่มจนอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจตามมาได้ในระยะยาว เป็นต้น นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ อย่างโรคพาร์กินโซนิซึม หรือโรคกล้ามเนื้อบิดเกร็งด้วย
  • การบำบัดเพื่อเสริมทักษะทางสังคม เป็นวิธีการรักษาที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยจัดการกับความเครียดและอาการป่วย เพื่อช่วยให้มีทักษะด้านการสื่อสารและการเข้าสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถไปเรียน ไปทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
  • การบำบัดทางจิต แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยด้วยการพูดคุยหรือให้ระบายความคิดและความรู้สึกออกมา โดยอาจถามถึงมุมมองความคิดในด้านต่าง ๆ หรือให้ผู้ป่วยเขียนบันทึกประจำวัน เพื่อช่วยเปลี่ยนวิธีพูด วิธีคิด การรู้สึก หรือพฤติกรรมของผู้ป่วย
  • การบำบัดภายในครอบครัว เป็นการให้ความรู้และการสนับสนุนแก่ครอบครัวของผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งพบว่าวิธีนี้ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลของผู้ป่วย และลดความรุนแรงของอาการได้
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ อาจช่วยให้ผู้ป่วยเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นเพื่อกลับไปทำงานได้
  • การส่งเสริมสุขภาพร่างกาย อาจสนุบสนุนให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้น
  • การบำบัดด้วยศิลปะ อาจใช้งานศิลปะและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่มีอาการ Schizophrenia ด้านลบ
  • การช่วยเหลือจากหน่วยงานทางสังคมและชุมชน โดยอาจเข้ารับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข   
  • การรักษาทางเลือก เช่น การรับประทานวิตามิน การรับประทานอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลาหรือยาไกลซีน และการวางแผนการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เป็นต้น แต่ขณะนี้ยังคงต้องการผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนว่าการรักษาทางเลือกช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ได้จริงและปลอดภัย ดังนั้น หากต้องการใช้วิธีรักษาทางเลือก ผู้ป่วยหรือญาติควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดอันตรายในภายหลัง

ภาวะแทรกซ้อนของจิตเภท

หากผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง และกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

  • เครียด
  • ปลีกตัวจากสังคม ไม่อยากไปโรงเรียนหรือไปทำงาน
  • มีปัญหาครอบครัว
  • มีอาการทางจิตอย่างโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนี้ โดยบางรายอาจเกิดโรคกลัว โรควิตกกังวล หรือโรคย้ำคิดย้ำทำตามมาด้วย
  • มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว
  • มีปัญหาด้านการเงิน โดยอาจเกิดขึ้นเมื่อต้องออกจากงาน อาจกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือถูกฉ้อโกงและถูกหลอกลวงได้ง่าย
  • พึ่งพาสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  • มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แต่พบได้น้อย
  • ทำร้ายร่างกายตัวเอง คิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

การป้องกันจิตเภท

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรค Schizophrenia เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจป้องกันโรคในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้เกิดอาการหรืออันตรายร้ายแรงต่อตนเองและผู้อื่น โดยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและลักษณะอาการของโรค ซึ่งอาจช่วยให้สังเกตเห็นอาการผิดปกติและเข้ารับการตรวจรักษาโรคได้แต่เนิ่น ๆ ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็อาจป้องกันอาการกำเริบหรือไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิมโดยปฏิบัติตามแผนการรักษาและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บุคคลใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย และรีบพาผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาหากสงสัยว่าอาจมีอาการทางจิตหรือป่วยเป็น Schizophrenia