เช็กอาการ Nomophobia ปัญหาน่าห่วงของคนยุคดิจิทัล

Nomophobia เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของโรคกลัว (Phobia) ที่ผลให้ผู้ป่วยหวาดกลัวต่อสิ่งของหรือสถานการณ์นั้นอย่างรุนแรง คำว่า Nomophobia ย่อมาจาก No-Mobile-phone Phobia จึงถูกนำมาใช้อธิบายความกลัวอย่างรุนแรงที่ต้องห่างจากการใช้โทรศัพท์มือถือหรือไม่ได้ติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม 

หลายคนอาจรู้จักอาการนี้ในอีกหลายชื่อ เช่น โรคขาดมือถือไม่ได้ โรคติดมือถือ หรือโรคโนโมโฟเบีย จริง ๆ แล้ว Nomophobia ไม่ใช่โรค แต่จัดเป็นกลุ่มอาการความผิดปกติทางกับจิตใจและอารมณ์รูปแบบหนึ่ง สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากโทรศัพท์มือถือมีความสะดวกรวดเร็วในการใช้ติดต่อสื่อสารและเป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน 

หากคุณรู้สึกว่าการหยุดใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องยากหรือก่อให้เกิดความกังวลใจ นี่ก็อาจเป็นสัญญาณแรกเริ่มของ Nomophobia แล้วอาการอื่น ๆ มีอะไรอีกบ้าง บทความนี้มีคำตอบพร้อมวิธีแก้ไขมาให้อ่านกัน

เช็กอาการ Nomophobia ปัญหาน่าห่วงของคนยุคดิจิทัล

พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่าย Nomophobia

สาเหตุของ Nomophobia ยังไม่รู้แน่ชัด แต่จากการศึกษาคาดว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน หรืออาจเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลเมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งความกังวลเหล่านี้จะแสดงอาการออกมาทางการกระทำต่าง ๆ เช่น

  • นำโทรศัพท์มือถือมาไว้ใกล้ตัวตลอดเวลาตั้งแต่เวลาตื่นจนถึงเวลานอน
  • ใช้เวลาไปกับการเล่นโทรศัพท์มือถือหลายชั่วโมงต่อวัน พกโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่ตลอดแม้กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำหรือขณะอาบน้ำ
  • หากไม่มีโทรศัพท์มือถือจะเกิดความรู้สึกไร้ที่พึ่ง 
  • เช็กโทรศัพท์หลายครั้งต่อวันหรืออย่างสม่ำเสมอว่ามือถือยังทำงานได้ปกติและไม่พลาดการแจ้งเตือนต่าง ๆ 

นอกจากความกังวลที่เกิดขึ้นแล้ว Nomophobia ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น

ความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ

เมื่อหาโทรศัพท์มือถือไม่เจอ ไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ หรือคิดว่าตนเองไม่มีโทรศัพท์มือถือ จะเกิดความรู้สึกวิตกกังวล โกรธ ตื่นตกใจ หวาดกลัว บางคนอาจรู้สึกขาดที่พึ่ง กระวนกระวายและร้อนรนเมื่อต้องหยุดใช้โทรศัพท์มือถือหรือเมื่อรู้ว่าจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง รวมถึงความมั่นใจในตนเองลดลง รู้สึกเหงา ไม่ปลอดภัยและอาจแยกตัวจากสังคม

ความผิดปกติทางร่างกาย

ผู้ที่ติดการใช้มือถือจนเข้าข่าย Nomophobia อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้น แน่นหน้าอก ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ มีอาการสั่น เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหน้ามืด วิงเวียนหรือสับสน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์จำเป็นจะต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด เนื่องจาก Nomophobia อาจเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดอาการต่าง ๆ ของโรคหรืออาจเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับความผิดปกติทางจิตชนิดอื่นได้เช่นกัน 

วิธีจัดการกับ Nomophobia

หากพบว่าตนเองไม่มีความสุขหรือไม่สามารถจัดการเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือในแต่ละวันได้ อาจจะลองแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นด้วยวิธีต่อไปนี้ 

การดูแลตนเอง

อาการของ Nomophobia สามารถรับมือได้ด้วยการลองปรับการใช้ชีวิต เช่น

  • หยุดใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลาสั้น ๆ โดยอาจลองไม่พกโทรศัพท์มือถือติดตัวเมื่อออกจากบ้านไปซื้อของในร้านชำหรือเดินเล่นนอกบ้าน
  • จำกัดเวลาการใช้เทคโนโลยีในแต่ละวัน สร้างวินัยในการใช้มือถือ จัดสรรเวลาการใช้มือถือติดต่อกับคนอื่นหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น ลองหาเวลาทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น การเดินเล่น เขียนจดหมาย อ่านหนังสือ หรือนั่งเฉย ๆ เป็นต้น
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ ปิดหรือไม่ใช้โทรศัพท์มือถือในตอนกลางคืน หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อตั้งนาฬิกาปลุก ควรวางมือถือไว้ห่างตัวในระยะที่ไม่สามารถหยิบมาเล่นได้
  • แบ่งเวลาและหยุดการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างวัน เพื่อเพิ่มการสนทนาแบบตัวต่อตัวให้มากขึ้น 
  • สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลใกล้ตัวและกระตุ้นผู้คนรอบข้างให้ใช้เวลาร่วมกัน เช่น การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน เป็นต้น

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)

การทำจิตบำบัดเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความคิดหรืออารมณ์ในด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมตามหลักเหตุผลเมื่อต้องนึกถึงสถานการณ์ที่ตนเองจะไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้หรือไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ 

การใช้ยา 

ผู้ที่มีอาการ Nomophobia รุนแรงอาจต้องใช้ยาเพื่อการรักษาควบคู่กับการรักษารูปแบบอื่น เช่น ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) เพื่อรักษาอาการวิงเวียน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือหายใจไม่สะดวก ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยาต้านเศร้า (Antidepressants) เพื่อลดความกลัวและความวิตกกังวลลง โดยแพทย์จะให้ใช้ยารักษาในเวลาสั้น ๆ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสพติดการใช้ยา

การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy)

เป็นการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด โดยผู้ป่วยจะได้ฝึกการเผชิญหน้ากับความกลัวที่จะไม่มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น การรักษาวิธีนี้มุ่งให้ผู้ป่วยสามารถรับมือและจัดการกับความกลัวของตัวเอง เพื่อกลับมาใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างเหมาะสมและไม่ทำร้ายสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม หากการใช้โทรศัพท์มือถือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือการทำงาน มีอาการของ Nomophobia เกิดขึ้นร่วมกับมีปัญหาในการพูดคุยกับผู้อื่นเนื่องจากการทำร้ายหรือกลั่นแกล้ง มีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ อย่างโรคซึมเศร้า เครียดหรือกลัวการเข้าสังคม ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับมือกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม