สิวขึ้นหน้าผาก สาเหตุและวิธีจัดการให้อยู่หมัด

สิวขึ้นหน้าผากเป็นปัญหาสิวที่พบได้บ่อย โดยเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนบริเวณหน้าผากเกิดการอุดตันจากน้ำมันส่วนเกิน ฝุ่นละออง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผม หรือเกิดจากการเสียดสีของผมที่ปรกหน้า การใส่หมวกหรือผ้าคาดบริเวณหน้าผาก ทำให้เกิดสิวอุดตันและสิวอักเสบหลายประเภทตามมา

สิวเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้มีผิวมัน โดยสามารถเกิดที่ใบหน้าหรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งหน้าผากเป็นจุดที่เกิดสิวได้บ่อย เพราะเป็นบริเวณกึ่งกลางใบหน้าที่ผลิตน้ำมันและเหงื่อออกมามาก การรักษาสิวที่หน้าผากคล้ายกับการรักษาสิวบริเวณอื่น เช่น ดูแลความสะอาดของใบหน้าและผม และใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เองหรือตามที่แพทย์สั่ง จะช่วยให้สิวที่หน้าผากหายเร็วขึ้น

สิวขึ้นหน้าผาก สาเหตุและวิธีจัดการให้อยู่หมัด

รู้จักประเภทของสิวขึ้นหน้าผาก

สิวขึ้นหน้าผากแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะของสิว ดังนี้

1. สิวอุดตัน (Comedonal Acne)

สิวอุดตันเป็นสิวขนาดเล็กที่เป็นตุ่มอุดตันใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นสิวชนิดไม่อักเสบที่มักขึ้นบริเวณทีโซน (T-Zone) ซึ่งหมายถึงบริเวณหน้าผาก ระหว่างคิ้ว จมูก และคางที่เรียงตัวกันเป็นรูปตัว T บริเวณทีโซนมักเกิดสิวได้ง่าย เนื่องจากรูขุมขนมักกว้างกว่าบริเวณอื่น และมีต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) มากกว่าผิวหน้าในส่วนอื่น ทำให้มีผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามาก 

สิวอุดตันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือสิวหัวขาวหรือสิวหัวปิด (Whitehead) ที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีขาว เกิดจากการอุดตันภายในรูขุมขน และสิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด (Blackheads) ที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนบนผิวหนังที่มีหัวสิวเป็นสีดำ เนื่องจากเมื่อรูขุมขนที่มีรูเปิดสัมผัสอากาศ จึงเกิดการทำปฏิกิริยากับเม็ดสีผิว ทำให้สีผิวบริเวณที่เป็นสิวเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น

2. สิวอักเสบ

สิวอักเสบแบ่งเป็น 4 ชนิด ได้แก่

  • สิวตุ่มแดง (Papule) มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็กเป็นก้อนแข็งนูน เกิดจากการอักเสบที่ผิวหนังหรือภายในรูขุมขน เมื่อสัมผัสโดนอาจรู้สึกเจ็บ 
  • สิวหัวหนอง (Pustules) เกิดขึ้นเมื่อมีสิวอักเสบมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จึงเกิดเป็นหนองภายในตุ่มสิว และมองเห็นเป็นสิวตุ่มแดงที่มีหนองอยู่ตรงกลาง เมื่อสัมผัสโดนจะรู้สึกเจ็บ
  • สิวหัวช้างหรือสิวก้อนลึก (Nodules) เกิดจากการอักเสบที่ผิวหนังชั้นลึก มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งขนาดใหญ่สีแดงลึกลงไปในชั้นผิวหนัง เมื่อจับแล้วจะรู้สึกเจ็บ
  • สิวซีสต์ (Cysts) เป็นสิวอักเสบที่รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มสิวขนาดใหญ่ที่มีหนองอยู่ภายใน หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นฝี ซึ่งอาจทิ้งรอยสิวหรือหลุมสิวขนาดใหญ่ได้

สาเหตุที่ทำให้สิวขึ้นหน้าผาก

สิวขึ้นหน้าผากมีสาเหตุคล้ายกับสิวที่บริเวณอื่น ๆ คือการอุดตันของรูขุมขนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การผลิตน้ำมันที่ชั้นผิวหนังมากเกินไป เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วไปอุดตันรูขุมขน และการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง ปัจจัยที่ทำให้สิวขึ้นหน้าผาก มีดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น และในช่วงรอบเดือน 
  • การไม่รักษาความสะอาดผิวหน้า เช่น ล้างหน้าไม่สะอาด และไม่เช็ดเครื่องสำอางก่อนเข้านอน รวมทั้งการสระผมไม่สะอาด โดยเฉพาะผมหน้าม้าที่ปรกหน้า ทำให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกบริเวณหน้าผาก
  • การใช้ครีมทาผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่มีส่วนประกอบของสารที่อุดตันรูขุมขน เช่น น้ำมัน น้ำมันมะพร้าว และโกโก้บัตเตอร์ (Cocoa Butter)
  • การแพ้สารเคมีในครีมทาผิว และเครื่องสำอาง
  • การเสียดสีจากการใส้หมวก และผ้าคาดศีรษะที่รัดแน่นเกินไปหรือใส่เป็นเวลานาน ทำให้มีสิ่งสกปรก เช่น เหงื่อ ไขมัน และฝุ่นละอองสะสมที่หน้าผาก
  • ความเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำมันบนใบหน้า โดยอาจทำให้มีสิวขึ้นหน้าผาก กราม และคาง
  • การสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากขึ้น และทำให้เกิดสิว 

วิธีรับมือสิวขึ้นหน้าผาก

การดูแลผิวเมื่อสิวขึ้นหน้าผากอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สิวหายและป้องกันไม่ให้เกิดสิวซ้ำ เช่น

  • อาบน้ำและสระผมทุกวันให้สะอาด โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อน และหลังออกกำลังกาย
  • ล้างหน้าให้สะอาดในตอนเช้าและก่อนนอนด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันและสารที่อุดตันผิว หากแต่งหน้าควรเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนล้างหน้า ไม่ควรเข้านอนพร้อมเครื่องสำอางบนหน้า
  • ใช้ครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน หากต้องการใช้น้ำมันทาผิว ควรใช้น้ำมันที่ไม่อุดตันผิว เช่น น้ำมันเมล็ดองุ่น น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันอัลมอนด์ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งผม เช่น ดรายแชมพู (Dry Shampoo) มูสหรือเจลแต่งผมที่ล้างออกยาก
  • พยายามไม่สัมผัสใบหน้า และไม่บีบ แกะ หรือกดสิวเอง เพราะหากกดสิวไม่ถูกวิธีหรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดอาจทำให้เกิดการอักเสบและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น และอาจทำให้เกิดรอยแดงหรือรอยดำจากสิวได้
  • หลีกเลี่ยงการตัดผมหน้าม้า การใส่ผ้าคาดศีษะ และการใส่หมวกเป็นเวลานาน
  • ซักทำความสะอาดปลอกหมอน ผ้าห่ม หมวก และผ้าคาดศีรษะเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด และแสงแดดจัด

การรักษาสิวขึ้นหน้าผากในเบื้องต้นสามารถทายารักษาสิวในรูปแบบเจลและครีมที่หาซื้อได้เอง ใช้ทาบาง ๆ บริเวณที่มีสิว โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ เช่น 

  • เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นสารที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว และทำให้สิวแห้งลง
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และกำจัดสิ่งสกปรกในรูขุมขน
  • ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) เช่น อดาพาลีนที่ช่วยลดการอักเสบและลดการเกิดสิว แต่ยากลุ่มนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้

ยารักษาสิวเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแดง แห้งลอก และไวต่อแสง จึงควรใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่ระบุบนฉลากหรือตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ และทาครีมกันแดด

นอกจากนี้ การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ สารสกัดจากชาเขียว ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) อาจช่วยรักษาสิวชนิดไม่รุนแรงได้ แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

โดยทั่วไป สิวขึ้นหน้าผากที่ไม่รุนแรงมากมักดีขึ้นหลังจากดูแลความสะอาดและทายารักษาสิวภายใน 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากสิวที่ขึ้นหน้าผากไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการตรวจและรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้ยารักษาสิวที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น เรตินอยด์ ยาปฏิชีวนะ และยาคุมกำเนิด หรือรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉายแสง และการใช้เลเซอร์รักษาสิว