เคล็ดลับการดูแลตนเองเมื่อเป็นสิว พร้อมวิธีการเลือกครีมรักษาสิว

สิวเกิดจากการอุดตันของไขมันภายในรูขุมขน โดยการอุดตันมักก่อให้เกิดตุ่มและรอยบนผิวหนัง ซึ่งร่องรอยเหล่านี้มักส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจ โดยเฉพาะเมื่อสิวเกิดขึ้นบนใบหน้า อีกทั้งยังสร้างความรำคาญได้ไม่น้อย เนื่องจากสิวบางชนิดมักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังทิ้งรอยดำรอยแดงไว้ การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ครีมรักษาสิวร่วมกับการดูแลตนเอง

สิวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ สิวอักเสบและไม่อักเสบ สำหรับสิวไม่อักเสบอาจแบ่งเป็นสิวอุดตันหัวขาวและสิวอุดตันหัวดำ ส่วนสิวที่มีการอักเสบอาจแบ่งเป็นสิวอักเสบ สิวตุ่มหนอง และสิวหัวช้าง ซึ่งสิวแต่ละชนิดอาจมีปัจจัยที่เหมือนและแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยบทความนี้จะมาให้ความรู้เกี่ยวเรื่องสิวเบื้องต้นและวิธีการดูแลผิวหน้าง่าย ๆ ที่อาจลดปัญหาสิวได้

2367-ครีมรักษาสิว

สิวเกิดจากอะไรได้บ้าง ?

ปัจจุบันจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุในการเกิดสิวได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลร่วมกันจนทำให้เกิดการอุดตันของไขมันในรูขุมขนขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวแบ่งได้ ดังนี้

ปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายในเกิดจากภาวะหรือลักษณะการทำงานของร่างกายที่เอื้อให้เกิดสิวได้ เช่น

  • พันธุกรรม
    ผู้ที่มีพันธุกรรมบางอย่างอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดสิวมากกว่าคนอื่น อย่างคนผิวมันที่ต่อมไขมันผลิตน้ำมันได้มากกว่าผิวประเภทอื่น จึงเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันได้ ส่วนบางคนต่อมไขมันอาจทำงานได้น้อยเลยทำให้ผิวแห้งและขาดความชุ่มชื้น ทำให้ผิวอ่อนแอและติดเชื้อสิวได้ง่าย ขณะที่สิวจากพันธุกรรมยังอาจรวมไปถึงการแพ้อาหารบางชนิดอีกด้วย
  • ฮอร์โมน
    ระดับของฮอร์โมนบางชนิดที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดสิวได้ โดยเฉพาะฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่มักเพิ่มระดับขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน

นอกจากนี้ โรคเรื้อรังหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้ระบบร่างกายขาดสมดุลและทำให้เกิดสิวได้ง่ายเช่นกัน

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยบางอย่างในชีวิตประจำวันอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ เช่น

  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกกับผิว
    การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว สกินแคร์ ครีมรักษาสิว และเครื่องสำอางอย่างขาดความรู้และไม่เหมาะสมกับผิวอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง อุดตัน ส่งผลให้สภาพผิวอ่อนแอได้ เมื่อผิวอุดตันและอ่อนแอก็อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียบนใบหน้าเจริญเติบโตได้ดีจนเป็นสิวได้ในที่สุด
  • เชื้อแบคทีเรีย
    เดิมทีบนผิวหนังของมนุษย์มีแบคทีเรียอาศัยอยู่หลายชนิด ในภาวะปกติเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อผิวอ่อนแอหรือมีจำนวนเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้เพิ่มขึ้นก็อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ โดยสิวอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด แต่ชนิดที่หลายคนอาจคุ้นหู คือ P. acnes หรือ C. acnes (Propionibacterium/Cutibacterium acnes) ซึ่งเชื้อสิวชนิดนี้จะกระตุ้นให้เกิดสิวอักเสบ
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสิว
    พฤติกรรมบางอย่างก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสิวได้เช่นกัน อย่างการล้างหน้าไม่สะอาด ล้างหน้าแรงและบ่อยเกินไป หรือแม้แต่การเจอกับมลพิษหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทั้งความเครียด แสงแดด ฝุ่นควัน และสิ่งสกปรก

เรื่องสิว รับมือได้

สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสิวเรื้อรัง สิวมักหายไปได้เองเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง แต่ผู้ที่เป็นสิวซ้ำซากอาจจำเป็นต้องอาศัยการดูแลตนเองร่วมกับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

การดูแลตนเอง

การดูแลตนเองอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมออาจช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาสิวได้ ผู้ที่เป็นสิวจึงควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. หยุดแกะและบีบสิว
การสัมผัส แกะ เกา และบีบสิวอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น อีกทั้งนิ้วมือและซอกเล็บยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่อาจทำเกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ การแกะหรือบีบสิวเองยังเสี่ยงต่อการเกิดรอยช้ำ รอยสิว และเกิดแผลเป็นตามมาอีกด้วย

2. ล้างหน้าอย่างถูกวิธี
คนที่มีผิวหน้ามันมักเลือกใช้โฟมที่มีความแรงและล้างหน้าบ่อยกว่าคนผิวผสมและผิวแห้ง เพื่อลดความมันบนใบหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การล้างหน้าบ่อยเกินไปจะยิ่งทำให้หน้ามัน อีกทั้งการขัดถูบนใบหน้าที่แรงเกินไปก็อาจส่งผลให้ผิวอ่อนแอและติดเชื้อสิวได้ง่ายขึ้น

3. หลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดเป็นอารมณ์ที่ส่งผลเสียต่อระบบในร่างกายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดหรือการฟื้นฟูของผิว จึงควรหลีกเลี่ยงและหาวิธีลดความเครียด อย่างการออกกำลังกาย การทำงานอดิเรก หรือการนั่งสมาธิเพื่อลดการกระตุ้นที่ทำให้เกิดสิว

4. ใช้สารผลัดเซลล์ผิว
สิวส่วนใหญ่มักเกิดจากการอุดตันภายในรูขุมขน ทำให้ไขมันไม่สามารถออกไปยังผิวด้านนอกได้ การผลัดเซลล์ผิวเป็นประจำด้วยการใช้สครับ ครีมรักษาสิว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารผลัดเซลล์ผิว อย่างเอเอชเอ (AHA) บีเอชเอ (BHA) หรือสารอื่น ๆ อาจช่วยดึงไขมันเหล่านี้ออกมาจากรูขุมขนและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการอุดตันได้ อีกทั้งยังช่วยลดรอยดํารอยแดงจากสิวให้ดูจางลง แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวบ่อยเกินไปอาจทำให้ผิวบางและอ่อนแอได้เช่นกัน จึงควรใช้อย่างเหมาะสม

5. เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิว
แต่ละคนมีสภาพผิวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม และผิวแพ้ง่าย ซึ่งในแต่สภาพผิวก็มีวิธีการดูแลและการเลือกใช้สกินแคร์หรือครีมบำรุงผิวที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาและทดสอบการแพ้ก่อนนำผลิตภัณฑ์มาใช้ รวมทั้งเลือกการเลือกสกินแคร์ที่มีส่วนผสมช่วยต้านสิวก็อาจช่วยให้สิวหายได้เร็วขึ้น

การใช้ครีมรักษาสิว

ส่วนใหญ่แล้ว ครีมและยาทาสิวมักจะใช้รวมกันหลายชนิด โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมสิวและรักษาสิวที่มีอยู่ก่อนแล้ว รวมไปถึงรักษารอยดำรอยแดงจากสิว ซึ่งในครีมรักษาสิวหรือผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีประสิทธิภาพมักมีส่วนประกอบ ดังนี้

  • เรตินอยด์ (Retinoid)
    เรตินอยด์เป็นวิตามินเอรูปแบบหนึ่งที่มีสรรพคุณช่วยผลัดเซลล์ผิว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการอุดตันของไขมันภายในรูขุมขนที่เป็นสาเหตุของสิว
  • ยาฆ่าเชื้อ
    ยาฆ่าเชื้อจะช่วยฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อสิวบนผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดรอยแดงที่เกิดจากการอักเสบบนผิวหนัง ช่วยให้สิวอุดตันนิ่มลงและหลุดออกได้ง่ายขึ้น
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
    กรดซาลิไซลิกเป็นอีกหนึ่งสารที่พบได้บ่อยในครีมรักษาสิว โดยกรดชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นสารผลัดเซลล์ผิวอ่อน ๆ เมื่อใช้เป็นประจำอาจช่วยให้ไขมันที่อุดตันในรูขมขนหลุดออกได้ง่ายขึ้น จึงอาจช่วยลดการกดสิวที่ทำให้เกิดรอยช้ำ รอยแดง หรือแผลเป็นหลังการกดสิวได้ ดังนั้น การใช้ครีมรักษาสิวที่มีกรดซาลิไซลิกก็อาจช่วยรักษาและป้องกันการอุดตันของไขมันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสิวอุดตันหัวขาวและสิวอุดตันหัวดำ
  • สารต้านอักเสบ
    การอักเสบของสิวมักทำให้รู้สึกเจ็บ มีตุ่มนูน และเกิดรอยแดงบริเวณตุ่มสิว โดยการอักเสบอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังเสียหายส่งผลให้เกิดรอยดำและหลุมสิว ครีมรักษาสิวบางชนิดจึงมีสารที่ช่วยลดการอักเสบของสิว ส่วนใหญ่มักเป็นวิตามินและสารสกัดจากพืชธรรมชาติ อย่างลิโคชาลโคน (Licochalcone) ซึ่งเป็นสารสกัดจากชะเอมเทศที่มีสรรพคุณในช่วยบรรเทาอาการจากสิว ลดการอักเสบ และช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิวอีกด้วย

นอกจากนี้ ครีมรักษาสิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิวบางชนิดอาจมีส่วนผสมจากสารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิว เช่น สารควบคุมความมันอย่างคาร์นิทีน (Carnitine) สารเพิ่มความแข็งแรงของผิวและสารลดรอยแดง อย่างวิตามินซี และสารเพิ่มความชุ่มชื้นอย่างไฮยาลูรอนิกเอซิด (Hyaluronic Acid) เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้สารที่มีส่วนผสมที่เหมาะกับสภาพผิวก็อาจช่วยลดสิวและปัญหาที่เกิดจากสิว อย่างรอยดำรอยแดงจากสิวหรือแผลเป็นจากการกดสิวด้วย

อย่างไรก็ตาม ครีมรักษาสิวส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยสารผลัดเซลล์ผิวที่เสี่ยงทำให้ผิวแห้งและบางได้ ดังนั้น จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นที่เหมาะสม ไม่มีส่วนประกอบของสารที่ก่อการระคายเคือง อย่างแอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือสารกันเสีย เพื่อป้องกันผิวอ่อนแอและทำให้เกิดวงจรสิว

ในผู้ที่เป็นสิวเรื้อรังหรือรุนแรงแพทย์อาจสั่งจ่ายรักษาสิวสำหรับรับประทานด้วย แต่ชนิดของยานั้นมีความแตกต่างกันไปตามสาเหตุ อีกทั้งยารักษาสิวบางชนิดยังมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงไม่ควรซื้อยารักษาสิวมารับประทานเอง หากต้องการใช้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้

สุดท้ายนี้ ผู้ที่ต้องเผชิญกับสิวอยู่เป็นประจำ ควรมีวินัยในตนเองทั้งในการใช้ยาหรือครีมรักษาสิว และการดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อช่วยฟื้นฟูสมดุลทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสิวลงได้ ส่วนสิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ไม่ควรใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ชวนเชื่อตามสื่อโซเชียลมีเดียหรือสื่ออื่น ๆ ที่มีการโฆษณาเกินจริง เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจมีสเตียรอยด์หรือสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจทำให้อาการสิวรุนแรงมากกว่าเดิมและเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้