สิวอุดตัน

ความหมาย สิวอุดตัน

สิวอุดตัน (Comedones) คือ สิวขนาดเล็กที่เป็นตุ่มอุดตันใต้ผิวหนัง ชนิดที่ไม่เกิดการอักเสบ เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันในรูขุมขน มักพบได้มากบริเวณหน้าผากและคาง

สิวอุดตัน

ชนิดของสิวอุดตัน

สิวอุดตันมีหลายชนิดด้วยกัน ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • สิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด เป็นจุดสีดำปรากฏบนผิวหนัง เกิดจากการอุดตันของขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขน สารเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีที่เซลล์ผิวหนังจะทำปฏิกิริยากับสารที่อุดตันให้เปลี่ยนเป็นสีดำ ในขณะที่สารเหล่านั้นโผล่พ้นขึ้นมาสัมผัสกับออกซิเจน
  • สิวหัวขาวหรือสิวหัวปิด เป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวบนผิวหนัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน แต่รูขุมขนที่อุดตันนั้นจะไม่ได้สัมผัสอากาศ จึงไม่มีการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน และยังคงมองเห็นเป็นจุดสีขาวที่อุดตันอยู่บนผิวหนัง

สิวอุดตันชนิดอื่น ๆ ได้แก่

  • ไมโครโคมีโดน (Microcomedones) เป็นสิวขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
  • มาโครโคมีโดน (Macrocomedones) เป็นสิวอุดตันหัวปิดที่มีขนาดใหญ่กว่า 2-3 มิลลิเมตร
  • ไจแอนท์โคมีโดน (Giant Comedones) เป็นสิวอุดตันหัวเปิดที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นก้อนซีสต์ (cyst) และมีสีดำแบบสิวหัวดำ
  • โซลาร์โคมีโดน (Solar Comedones) เป็นสิวอุดตันที่อาจเกิดจากอิทธิพลของแสงแดดที่ทำลายผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และเกิดสิวอุดตัน มักพบในวัยกลางคนไปจนผู้สูงวัย เกิดได้ทั้งในลักษณะของสิวหัวเปิดและสิวหัวปิด

สาเหตุของสิวอุดตัน

สิวอุดตันเกิดจากการอุดตันของเซลล์เยื่อบุผิวหนังที่ตายแล้ว และไขมันที่มีการผลิตออกมามากเกินไปจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โดยการอุดตันจะเกิดภายในรูขุมขนใต้ผิวหนัง และปรากฏออกมาเป็นสิวอุดตันในลักษณะต่าง ๆ

ส่วนปัจจัยที่อาจทำให้เกิดสิวอุดตัน ได้แก่

  • ปฏิกิริยาที่เกิดจากฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ทำงานมากเกินไป จนกลายเป็นไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน ที่มีฤทธิ์แรงกว่าเทสโทสเทอโรน และส่งผลกระทบภายในเซลล์ผิวหนังได้มากกว่า
  • กรดไขมันอิสระที่เกิดขึ้นภายในต่อมไขมัน อันเป็นผลมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
  • ระดับของกรดไขมันไลโนเลอิคที่ลดลง (linoleic Acid) ในไขมันที่ถูกผลิตจากต่อมไขมัน อาจทำให้ระบบการทำงานเพื่อการปกป้องผิวชั้นในลดต่ำลงไปด้วย
  • สารกระตุ้นการอักเสบ (Proinflammatory Cytokines) ที่ถูกผลิตโดยเยื่อบุเซลล์ภายในรูขุมขน ซึ่งเป็นกระบวนการตอบสนองในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ผิวสัมผัสกับสารเคมีที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน สารไอโซโพรพิล ไมริสเตท (Isopropyl Myristate) และสีย้อมที่มักพบในเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์แชมพูต่าง ๆ สารโพรไพลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) ที่เป็นส่วนผสมในเนื้อครีมหรือเจลต่าง ๆ
  • ภาวะผิวหนังมีน้ำมากเกินไปในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ครีมที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังเสริมให้เกิดภาวะนี้ หรือภาวะอาการทางกายอื่น ๆ ที่ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น
  • เกิดความเสียหายบริเวณรูขุมขนจากการบีบสิว การขัดผิวหน้า การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี หรือการทำเลเซอร์ เป็นต้น
  • การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสในการเกิดสิวอุดตันได้มากขึ้น

การวินิจฉัยสิวอุดตัน

หากผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวล เป็นทุกข์จากการเกิดสิวอุดตัน หรือรักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดสิวตามจุดต่าง ๆ โดยแพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และสอบถามเกี่ยวกับช่วงเวลาในการมีรอบเดือนในผู้ป่วยเพศหญิง เพื่อพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในร่างกายด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติม ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยเพศหญิงที่อาจมีฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติ

ทั้งนี้ แพทย์อาจตรวจวัดระดับความรุนแรงของสิวอุดตัน เพื่อประกอบการวินิจฉัยและวางแผนรักษา โดยแบ่งเป็นระดับความรุนแรง ดังนี้:

  • สิวอุดตันระดับไม่รุนแรง มีสิวอุดตันน้อยกว่า 20 จุด
  • สิวอุดตันระดับปานกลาง มีสิวอุดตัน 20-100 จุด
  • สิวอุดตันระดับรุนแรง มีสิวอุดตันมากกว่า 100 จุด

การรักษาสิวอุดตัน

เมื่อเป็นสิวอุดตัน เบื้องต้นสามารถรักษาดูแลอาการได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่ทาบนบริเวณที่เกิดสิว ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาที่มีใบรับรองอย่างถูกต้อง โดยให้เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำ ยารักษาสิวอุดตัน จะช่วยทำให้สิวแห้ง และสามารถชำระล้างสิ่งอุดตันและน้ำมันบนผิวหน้าออกไปได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างยารักษาสิวอุดตันที่ผู้ป่วยสามารถใช้รักษาได้ด้วยตนเอง เช่น

  • เบนซิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
  • กรดซาลิไซลิค (Salicylic Acid)
  • กรดอะซีลาอิค (Azelaic Acid)
  • กรดไกลโคลิค (Glycolic Acid)

และในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรทำตามตัวอย่างแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า หรือผิวบริเวณที่เป็นสิว ไม่พยายามจับ บีบสิว แกะหรือเกา เนื่องจากอาจทำให้แบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวอาจแพร่ไปยังผิวในบริเวณอื่น อาจทำให้เกิดรอยแดง ทำให้เกิดความเจ็บปวด ระคายเคือง หรืออาจเกิดร่องรอยแผลเป็นได้ในภายหลัง
  • ล้างหน้าให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำสะอาด 2 ครั้ง/วัน
  • เลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน และไม่ทำให้เกิดการอุดตัน
  • ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ 

หากผู้ป่วยมีสิวขึ้นจำนวนมาก รักษาด้วยตนเองแล้วสิวอุดตันยังไม่เบาบางลง เกิดข้อสงสัยหรือความวิตกกังวลไม่สบายใจ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความเหมาะสม เช่น

การใช้ยา

  • ยาที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งเป็นยาทารักษาเฉพาะจุดที่เกิดสิว เช่น ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene)
  • ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ อาจช่วยรักษาสิวอุดตันได้ในบางกรณี แต่ส่วนใหญ่แพทย์มักให้ยาชนิดนี้ในกรณีที่มีสิวอักเสบเกิดขึ้นด้วย
  • ยาปรับฮอร์โมนในร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะส่งผลในการรักษาและลดการเกิดสิวอุดตัน หรือยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgenic) เพื่อลดผลกระทบจากฮอร์โมนเพศชายที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน

การบำบัดอื่น ๆ

  • การใช้ความเย็น (Cryotherapy) แพทย์อาจใช้เครื่องพ่นไนโตรเจนเหลวหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอุณหภูมิต่ำไปยังจุดที่ต้องการรักษาเป็นเวลาสั้น ๆ เพื่อทำให้สิวบริเวณนั้นแห้งลงและขจัดออกไปได้ง่ายด้วยการล้างหน้าในภายหลัง
  • การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery) แพทย์จะใช้เครื่องมือจี้ไฟฟ้าไปบนบริเวณที่เกิดสิว เพื่อให้ความร้อนจากไฟฟ้ากำจัดสิวที่อุดตันอยู่ให้หมดไป
  • การกรอผิว (Microdermabrasion) แพทย์จะใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วยผลึกคริสตัลขนาดเล็กกรอลอกผิวบริเวณที่เป็นสิว ทำให้สิวที่อุดตันบริเวณนั้นหลุดออกไป กระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อในบริเวณดังกล่าวได้เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อในบริเวณเดิม

การรักษาสิวอุดตันอาจไม่ได้เห็นผลหลังการรักษาในทันที ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

การป้องกันการเกิดสิวอุดตัน

สิวอุดตันอาจป้องกันได้ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และการปรับพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดสิว เช่น

  • รักษาความสะอาดบนใบหน้า ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหน้า และไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เพื่อกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันบนผิวหนัง หลีกเลี่ยงการล้างหน้าบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้
  • เลือกใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของตัวยาเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) หรือกรดซาลิไซลิค (Salicylic Acid) เพื่อลดความมันบนใบหน้าและผิวหนัง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ช่วยควบคุมความมันบนใบหน้า โดยต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการรับรองอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ควรเลือกใช้สิ่งที่มีสัญลักษณ์ระบุบนฉลากว่า ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Noncomedogenics)
  • ล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนเข้านอน ไม่นอนหลับไปพร้อมกับเครื่องสำอาง
  • ไม่ให้เส้นผมปกปิดผิวหน้า เนื่องจากแชมพูบางชนิดที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน อาจอุดตันรูขุมขนใต้ผิวหนัง จนทำให้เกิดสิวได้
  • ไม่บีบสิว ไม่สัมผัสใบหน้า หรือผิวหนังบริเวณที่เป็นสิว เพราะจะเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวขึ้นมาอีก และเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเกิดรอยแผลเป็นบนผิวหนังด้วย
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด ควรสวมใส่เครื่องแต่งกายปกปิดผิว เนื่องจากแสงแดดอาจมีผลกระทบทำให้เกิดสิวได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจ้าหรือได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ