สิวอักเสบ

ความหมาย สิวอักเสบ

สิวอักเสบ คือ สิวที่เกิดอาการอักเสบบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนัง จนปรากฏอาการออกมาเป็นสิวลักษณะต่าง ๆ ที่มักก่อให้เกิดความเจ็บปวดหากสัมผัสโดนบริเวณนั้น โดยสิวอักเสบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างรูขุมขนอุดตัน และกรรมพันธุ์ รวมถึงภาวะที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ระดับฮอร์โมนเพศของผู้หญิงมักเปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน ซึ่งนอกจากทำให้เกิดสิวแล้ว อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คัดตึงเต้านมปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้น อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

สิวอักเสบ มี 4 ชนิด ได้แก่

  • สิวตุ่มแดง เป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็ก เป็นก้อนแข็งนูนขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด
  • สิวหัวหนอง เป็นผลมาจากการอักเสบบริเวณต่อมเหงื่อและรูขุมขน เกิดเป็นตุ่มที่มีหนองสีขาวอยู่ตรงหัวสิว
  • สิวก้อนลึก คล้ายสิวตุ่มธรรมดา แต่ตุ่มจะเป็นก้อนแข็งขนาดใหญ่ลึกลงไปในชั้นผิวหนัง
  • สิวซีสต์ ตุ่มสิวขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายฝี ภายในเป็นหนองอักเสบ เป็นสิวอักเสบชนิดที่รุนแรงที่สุด

ส่วนสิวอุดตัน อย่างสิวหัวขาวและสิวเสี้ยนต่างจากสิวอักเสบตรงที่สิวอุดตันเป็นสิวที่ยังไม่เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ หากดูแลได้ทันท่วงทีก็จะไม่เกิดการอักเสบ

สิวอักเสบ

สาเหตุของสิวอักเสบ

สิวอักเสบอาจเกิดจากการอุดตันในรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนังบริเวณสิวอุดตัน หรืออาจเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นมาเองบริเวณผิวหนังปกติ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ เช่น

  • กรดไขมันอิสระและไขมันผิวหนัง (Sebum) ที่ซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนัง
  • สารที่ผลิตโดยแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes หรือ P.Acne) แพร่เข้าสู่ชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • การอุดตันในรูขุมขนที่อาจนำไปสู่ปฏิกิริยาอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมไว้จนเกิดเป็นก้อนสะสมใต้ผิวหนัง
  • สารก่ออาการอักเสบ ที่ถูกผลิตขึ้นภายในเยื่อบุเซลล์ ต่อมไขมัน หรือในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
  • ภาวะภูมิไวเกิน หรือปฏิกิริยาที่มากเกินไปของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
  • ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่เพิ่มมากขึ้น (Testosterone) ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเจริญเติบโตในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ฮอร์โมนนี้ไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ทำงานมากขึ้น
  • กรรมพันธุ์ หากมีพ่อแม่ที่เป็นสิว ผู้สืบสายเลือดรุ่นต่อมามีโอกาสที่จะเป็นสิว หรือมีแนวโน้มเป็นสิวในระดับรุนแรงได้
  • เพศหญิง มีแนวโน้มเป็นสิวได้มากในช่วงที่ฮอร์โมนเพศในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตอนช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงที่ตั้งครรภ์
  • การอุดตันของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว สิ่งสกปรกจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดี ใช้เครื่องสำอางที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน หรือสวมใส่เครื่องแต่งกายที่รัดหรือลงน้ำหนักบนผิวหนังที่เป็นสิว เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นสิวได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลิเทียม ยาต้านอาการชัก เป็นต้น
  • การสูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดสิว โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมาก

การวินิจฉัยสิวอักเสบ

แม้สิวอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนใบหน้าไม่กี่จุด แต่ผู้ที่เป็นสิวอาจเกิดความวิตกกังวล เป็นทุกข์ ขาดความมั่นใจ มีอาการเจ็บปวดจากสิวเหล่านั้น หากรักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับปัญหาสิวอักเสบ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อรับการตรวจรักษา

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยอาการด้วยการตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดสิวตามจุดต่าง ๆ เช่น ใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง เพื่อตรวจดูชนิดและจำนวนของสิวที่เกิดขึ้น พร้อมกับวินิจฉัยจากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพื่อหาระดับความรุนแรงของสิว โดยแบ่งเป็น

  • ระดับที่ 1 (เล็กน้อย): เป็นสิวที่ไม่มีการอักเสบรุนแรง อย่างสิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือ อาจมีสิวตุ่มแดงและสิวหัวหนองจำนวนไม่มาก
  • ระดับที่ 2 (ปานกลาง): มีสิวตุ่มแดงและสิวหัวหนองจำนวนมากทั่วใบหน้า หรือทั่วบริเวณที่พบสิว
  • ระดับที่ 3 (ค่อนข้างรุนแรง): มีสิวตุ่มแดงและสิวหัวหนองเป็นจำนวนมาก มีสิวอักเสบก้อนลึกบ้าง โดยที่มีสิวเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายจุด ทั้งใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง
  • ระดับที่ 4 (รุนแรง): มีสิวอักเสบก้อนลึกและสิวหัวหนองอักเสบมากที่สร้างความเจ็บปวดไปทั่วบริเวณที่มีสิว

หากเป็นการวินิจฉัยสิวอักเสบ ในบางครั้ง แพทย์ผิวหนังอาจวิเคราะห์วินิจฉัยระดับความรุนแรงจากภาพถ่ายผิวหนังบริเวณที่เกิดสิว โดยจัดระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก (1–12) ตามสมควร ซึ่งระดับความรุนแรงต่าง ๆ จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

การรักษาสิวอักเสบ

เมื่อเป็นสิว หากมีอาการไม่รุนแรงนัก อย่างสิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวอักเสบเล็ก ๆ ในเบื้องต้นก็อาจใช้วิธีรักษาสิวอักเสบเพื่อรักษาได้ด้วยตนเอง โดยใช้ยาตามร้านขายยาที่มีใบรับรองถูกต้องภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แต่หากมีสิวขึ้นจำนวนมาก หรือรักษาด้วยตนเองแล้วการอักเสบของสิวไม่ทุเลาลง ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจรักษา

การรักษาสิวด้วยวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ประเภท ความรุนแรงของสิว และสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามประเภทของสิว สาเหตุที่ทำให้เกิดสิว และระดับความรุนแรงของการอักเสบด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาสิวอักเสบ มีดังนี้

สิวอักเสบระดับไม่รุนแรง ไปจนถึง ระดับปานกลาง

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต่อไปนี้เพื่อรักษาสิวอักเสบระดับไม่รุนแรงถึงระดับปานกลาง

  • ยาเรตินอยด์ ใช้ยารูปแบบครีมหรือเจลทารักษาตรงจุดที่เกิดสิว เพื่อลดการอุดตันของสิว
  • ยาปฏิชีวนะ รับประทานยาเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวและอาการอักเสบ เช่น อิริทโทรไมซิน ด็อกซี่ไซคลีน เตตราไซคลีน ไมโนไซคลีน เป็นต้น
  • ยาคุมกำเนิด แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ที่มีสิวบางรายกินยาคุมกำเนิดเพื่อปรับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยให้สิวยุบลงได้ โดยในปัจจุบันมีการศึกษาคุณสมบัติของยาคุมกำเนิดในการรักษาสิวมากมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว ไม่ควรซื้อยามากินเองหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงผลข้างเคียงของการใช้ยา และชนิดของยาคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตนเองก่อนเสมอ
  • ยาอื่น ๆ ยารักษาสิวบางชนิดอาจหาซื้อได้เองจากร้านขายยา อย่างครีมหรือเจลแต้มสิวที่มีตัวยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ และตัวยาคลินดาไมซิน ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ โดยก่อนแต้มยารักษาสิว ควรทำความสะอาดผิวให้สะอาดทุกครั้ง และสามารถใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อเช็ดทำความสะอาดหัวสิวได้

สิวอักเสบระดับรุนแรง ไปจนถึง สิวซีสต์

หากใช้ยาเรตินอยด์และยาปฏิชีวนะรักษาไม่ได้ผล และผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น ๆ แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  • ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ช่วยลดการผลิตไขมันจากต่อมไขมัน ป้องกันการอุดตันของรูขุมขน ลดปริมาณแบคทีเรียในชั้นผิวหนัง และลดอาการบวมแดงจากการเกิดสิว แต่ผู้ที่ใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในหญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด หรือหญิงสาวที่ต้องการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และต้องคุมกำเนิดในระหว่างใช้ยาด้วย
  • การรักษาด้วยโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy) แพทย์จะทายาไว้บนผิวหนังที่เกิดสิว แล้วฉายแสง หรือฉายเลเซอร์ลงไปบนผิว เร่งปฏิกิริยาและกระตุ้นให้ยาออกฤทธิ์รักษาสิวในบริเวณนั้น ช่วยฆ่าแบคทีเรีย และยังช่วยลดขนาดและการทำงานของต่อมไขมันที่จะทำให้เกิดสิวลงด้วย
  • การใช้เครื่องสุญญากาศดูดสิว (Isolaz) เป็นการใช้เครื่องดูดร่วมกับการฉายแสง เครื่องจะดูดไขมันส่วนเกินใต้ผิวหนัง ในขณะที่แสงจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว และช่วยลดการผลิตไขมันของต่อมไขมันลง
  • การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นการรักษาสิวก้อนลึกและสิวซีสต์ ทำให้การบวมอักเสบของสิวหายไปโดยที่ไม่ต้องบีบสิวออกมา ด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปยังบริเวณที่เป็นสิว โดยมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวบางอาจเห็นรอยเส้นเลือดใต้ผิวหนังได้
  • การผ่าตัด หากผู้ป่วยเป็นสิวซีสต์ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือวิธีการอื่น ๆ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อนำสิ่งอุดตันภายในออกมา

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาสิวอักเสบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น

  • การปรับฮอร์โมน ผู้ป่วยหลายคนมีสิวอักเสบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย ในบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม หรือ ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgen) ซึ่งจะลดผลกระทบที่เกิดจากการมีฮอร์โมนเพศชายมากระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวมากเกินไป จนทำให้เกิดการผลิตขนและน้ำมันมากจนเสี่ยงต่อการเกิดสิว ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรศึกษาวิธีการใช้ยา โดยสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ
  • การผลัดเซลล์ผิว ใช้กระบวนการทางเคมีมาช่วยในการรักษา เช่น การใช้กรดซาลิเซลิกเพื่อขัดลอกผิวชั้นนอก ลดการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว โดยจะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ ยกเว้นการรับประทานยาเรตินอยด์ แต่อาจจะทำให้ผิวแพ้ง่ายและระคายเคือง ผลข้างเคียงที่พบคือ อาจเกิดรอยแดง ผิวพุพอง หรือหลุดล่อนออกมา

หากผู้ป่วยมีข้อสงสัย หรือมีอาการใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือไม่สบายใจหลังได้รับการรักษา ควรปรึกษาหรือไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการรักษาหรือการใช้ยา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน หากมีอาการ เช่น มีผดผื่นขึ้น หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หน้าบวม คอบวม วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง เป็นต้น

การป้องกันการเกิดสิวอักเสบ

โดยทั่วไป การเกิดสิวอักเสบป้องกันได้ด้วยแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  • รักษาความสะอาดบนใบหน้า ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหน้า และไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เพื่อกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันบนผิวหนัง หลีกเลี่ยงการล้างหน้าบ่อยจนเกินไป เพราะทำให้ผิวระคายเคืองได้
  • ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Normal Saline Solution) เช็ดแผลที่เกิดจากสิวอักเสบหรือใช้เช็ดทำความสะอาดใบหน้าอีกครั้งหลังล้างหน้า โดยให้เลือกน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ไม่มีสี ปราศจากสารเติมแต่งและวัตถุกันเสีย มีคุณสมบัติสมดุลกับน้ำในเซลล์ผิว (Isotonic) ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง บรรจุในขวดใสเพื่อช่วยให้เห็นสิ่งแปลกปลอมได้ง่ายหากมีการปนเปื้อน มีฝาล็อกปิดสนิทป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งเลือกขวดน้ำเกลือที่ผลิตจากวัสดุทนทานต่อความร้อนและแรงกระแทก ทำให้น้ำเกลืออยู่ในสภาพที่เหมาะสมในการใช้ทำความสะอาดผิว
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ช่วยควบคุมความมันบนใบหน้า แต่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งจนเกินไป โดยต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการรับรองอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ควรเลือกใช้ประเภทที่มีสัญลักษณ์ระบุบนฉลากว่า ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Non-Comedogenics) และอาจเลือกใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของตัวยาเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิค (Salicylic Acid) หรือกรดแลคติค (Lactic Acid)
  • อาบน้ำชำระล้างร่างกายหลังกิจกรรมที่ใช้แรงหนัก หรือมีเหงื่อออกมาก
  • ระมัดระวังในการเลือกใช้แชมพูสระผม เนื่องจากแชมพูบางชนิดที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน อาจอุดตันรูขุมขนใต้ผิวหนัง จนทำให้เกิดสิวได้
  • ล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนเข้านอน ไม่นอนหลับไปพร้อมกับเครื่องสำอาง
  • สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ไม่รัดหรือเสียดสีกับผิว เพื่อปกป้องผิวจากการเกิดสิ่งอุดตันและอาการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือสวมใส่เครื่องแต่งกายปกปิดผิว เนื่องจากแสงแดดอาจกระตุ้นกระบวนการอักเสบ ทำให้ผิวคล้ำเสีย และอาจส่งผลต่อยารักษาบางชนิดที่ใช้อยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจ้าหรือได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพผิวด้วยเช่นกัน
  • หากกำลังรักษาสิวด้วยยาหรือการรักษาใด ๆ ควรใส่ใจรับประทานยาและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ไม่บีบสิว หรือสัมผัสผิวบริเวณที่เป็นสิว เพราะจะเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวเพิ่มขึ้นมาอีก และเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเกิดรอยแผลเป็นบนผิวหนังด้วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางในขณะที่เป็นสิว หรือทาทับบริเวณที่เป็นสิว
  • ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่