Salicylic Acid (ซาลิไซลิก แอซิด)

Salicylic Acid (ซาลิไซลิก แอซิด)

Salicylic Acid (ซาลิไซลิก แอซิด) เป็นยาลอกผิวหนัง มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังหลุดลอกออก ใช้รักษาปัญหาผิวหนังต่าง ๆ เช่น ตาปลา โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม สิว และโรคหูด นอกจากนั้น แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาอาการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

Salicylic Acid

เกี่ยวกับยา Salicylic Acid

กลุ่มยา ยารักษาโรคผิวหนัง
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ช่วยลอกเซลล์ผิวหนัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาทา แผ่นแปะ

คำเตือนในการใช้ Salicylic Acid

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Salicylic Acid ไม่ควรใช้ยานี้
  • หากกำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก  
  • ห้ามใช้ยากับเด็กที่มีไข้สูง เป็นหวัด หรืออีสุกอีใส เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะกลุ่มอาการเรย์ (Reye's Syndrome) ซึ่งทำให้สมองและตับได้รับความเสียหาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาชนิดอื่น ๆ อยู่
  • โรคประจำตัวบางโรคหรือภาวะบางอย่าง อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงอันตรายหลังใช้ยาได้ เช่น ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคตับ และโรคไต เป็นต้น ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • ห้ามใช้ยาชนิดนี้รักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น ไฝ หรือหูดบนใบหน้า
  • ห้ามใช้ยาชนิดนี้บริเวณผิวที่ไหม้จากแสงแดด ผิวหนังอักเสบเนื่องจากถูกลมแรง ผิวหนังถลอก หรือแห้งแตก และผิวที่มีอาการระคายเคือง   
  • หลีกเลี่ยงการใช้ Salicylic Acid กับยาชนิดอื่นทาในบริเวณเดียวกันหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์  
  • ห้ามสูบบุหรี่จนกว่าตัวยาจะซึมเข้าสู่ผิวหนังอย่างแห้งสนิท
  • ระวังอย่าให้ยาเข้าตา จมูก ปาก และเนื้อเยื่อเมือกอื่น ๆ หากสัมผัสกับยาในบริเวณดังกล่าว ควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
  • ยาอาจไวต่อไฟและความร้อน ห้ามจุดไฟหรืออยู่ใกล้บริเวณที่มีความร้อนสูในขณะใช้ยา
  • ไม่ควรใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

ปริมาณการใช้ Salicylic Acid

รักษาสิว 

  • ผู้ใหญ่ ทายาความเข้มข้น 0.5-2 เปอร์เซ็นต์ บาง ๆ ลงบนผิว วันละ 1-3 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน แล้วอาจลดลงเหลือวันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน หากเกิดภาวะผิวแห้งหรือผิวหลุดลอกออก

รักษาผิวหนังที่หนาตัวขึ้นและผิวหนังที่แห้งแตก

  • ผู้ใหญ่ ทายาความเข้มข้น 1.8-3 เปอร์เซ็นต์ บาง ๆ ลงบนผิว วันละ 1-4 ครั้ง เป็นประจำทุกวันจนอาการดีขึ้น

รักษาหูดหรือตาปลา 

  • ยาทา

ผู้ใหญ่ ทายาความเข้มข้น 5-17 เปอร์เซ็นต์ ลงบนผิว ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วจึงทายาซ้ำ 1-2 ครั้ง/วัน จนกว่าตาปลาหรือหูดจะหลุดออก

  • ยาชนิดแผ่นแปะ

ผู้ใหญ่ ใช้ยาชนิดแผ่นแปะความเข้มข้น 12-40 เปอร์เซ็นต์ แปะทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง จากนั้นจึงดึงแผ่นแปะออก แล้วใช้แผ่นใหม่แปะซ้ำจนหูดหรือตาปลาหลุดออก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

การใช้ Salicylic Acid

  • ก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากยาทุกครั้ง และใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาปริมาณเกินกว่าหรือนานกว่าระยะเวลาที่แพทย์กำหนด และไม่ใช้ยารักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรทดสอบการแพ้ทางผิวหนังก่อนเริ่มใช้ยา เพื่อป้องกันอาการแพ้และการระคายเคือง โดยทายาลงบนผิวเป็นจุดเล็ก ๆ ต่อเนื่องนาน 3 วัน หากไม่มีอาการแพ้จึงเริ่มใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์สั่งได้ในวันถัดไป
  • สำหรับการใช้ยารักษาหูดและตาปลา ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นด้วยแปรง ผ้าขนหนู หรือตะไบเล็บ เพื่อกำจัดผิวหนังที่ลอกออกก่อน จากนั้น ชะโลมน้ำลงบนผิวประมาณ 5 นาที ก่อนเริ่มใช้ยา  
  • ควรใช้ยา Salicyclic Acid อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อเกิดประสิทธิผลทางการรักษาสูงสุด ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะเริ่มเห็นผล หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณหรือชนิดของยา
  • กรณีที่ลืมทายาตามเวลาที่กำหนด ให้ทายาทันทีที่จำได้ แต่หากใกล้รอบเวลาถัดไปที่ต้องทายา ให้ข้ามไปทายารอบถัดไปในปริมาณปกติ ไม่ควรทายาเกินปริมาณที่แพทย์สั่ง
  • ควรเก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ Salicyclic Acid

การใช้ Salicyclic Acid อาจเกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น ผิวหนังระคายเคืองเล็กน้อย มีผื่นคัน ผิวหนังลอก และมีอาการแสบ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาทันที และรีบไปพบแพทย์ หากปรากฏอาการดังต่อไปนี้

  • อาการแพ้ยาและผิวหนังระคายเคืองอย่างรุนแรง รู้สึกคัน เป็นลมพิษ เวียนศีรษะ มีอาการบวมที่ปาก ลิ้น หน้า และคอ
  • หายใจลำบาก
  • เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ได้ยินเสียงในหู มีปัญหาในการได้ยิน
  • ปวดท้องรุนแรง อาเจียน และท้องเสีย