พัฒนาการของทารก สุขภาพของคุณ และเรื่องน่ารู้ในช่วงท้อง 8 เดือน

การตั้งท้อง 8 เดือนเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ตื่นเต้นมากขึ้นทุกที เพราะอีกไม่นานก็จะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยแล้ว โดยช่วงเวลาท้อง 8 เดือนจะอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 33‒36 ซึ่งแต่ละสัปดาห์ทารกก็จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงอยากรู้ว่าในช่วงเดือนนี้ลูกน้อยจะมีหน้าตาหรือพัฒนาการอย่างไร

ช่วงท้อง 8 เดือนเป็นเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งกับร่างกายคุณแม่และทารกในครรภ์ บทความนี้จึงได้นำเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในช่วงเดือนดังกล่าวมาฝากกัน ซึ่งอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดได้ดียิ่งขึ้น

พัฒนาการของทารก สุขภาพของคุณ และเรื่องน่ารู้ในช่วงท้อง 8 เดือน

ท้อง 8 เดือน เจ้าตัวน้อยจะหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ?

การตั้งครรภ์ครบ 8 เดือนจะอยู่ในช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 7‒9) โดยในไตรมาสที่ 2 (เดือนที่ 4‒6) ก่อนหน้านี้ ทารกในครรภ์ได้พัฒนาอวัยวะภายนอกและภายในไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งในช่วงท้อง 8 เดือนในไตรมาสนี้ ร่างกายและระบบต่าง ๆ ของทารกก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละสัปดาห์ ทารกจะมีพัฒนาการดังต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ 33

ขนาดตัวของทารกในช่วงเดือนที่ 8 ยังคงเพิ่มขึ้น โดยส่วนสูงของทารกในครรภ์จะอยู่ราว 43 เซนติเมตร น้ำหนักตัวอยู่ที่ 1.9 กิโลกรัม ส่วนพัฒนาการด้านร่างกาย กระดูกของทารกจะพัฒนาและแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม สมองของทารกจะพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน

สำหรับด้านพัฒนาการอื่น ๆ ทารกจะเริ่มเรียนรู้ทักษะในการดำรงชีวิต อย่างการดูดและการกลืนอาหาร ดวงตาของทารกเริ่มมีการเปิด-ปิดมากขึ้นตามวงจรการหลับและตื่น ซึ่งในช่วงก่อนหน้าดวงตาของทารกจะยังไม่เปิดออก แม้ดวงตาจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกแล้ว

สัปดาห์ที่ 34

ในสัปดาห์นี้ ส่วนสูงของทารกจะอยู่ที่ 45 เซนติเมตร น้ำหนักตัวราว 2.1 กิโลกรัม ช่วงนี้เจ้าตัวน้อยอาจดิ้นบ่อยขึ้น ระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะเริ่มทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การหายใจ การนอนหลับ และอีกหลายระบบ ส่วนด้านพัฒนาการร่างกายเล็บมือเล็บเท้าของทารกจะเริ่มงอกในช่วงนี้

สัปดาห์ที่ 35

ทารกจะมีความสูงประมาณ 46 เซนติเมตรและมีน้ำหนักตัวราว 2.4 กิโลกรัม ในสัปดาห์ที่ 35 การได้ยินของทารกจะพัฒนาสมบูรณ์ ลูกน้อยจึงอาจเริ่มตอบสนองต่อเสียงต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเสียงสูง หากเป็นทารกเพศชาย ลูกอัณฑะของทารกจะตกลงมาในถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นพัฒนาการทางเพศรูปแบบหนึ่ง

สัปดาห์ที่ 36

แม้ว่าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการท้อง 8 เดือนและใกล้กำหนดคลอดมากขึ้น แต่ทารกก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความสูงของทารกในสัปดาห์นี้จะอยู่ประมาณ 47 เซนติเมตร โดยน้ำหนักตัวจะอยู่ที่ 2.6 กิโลกรัม ในช่วงนี้ร่างกายของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ แต่จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบกำหนดคลอด

ในภาพรวมของการท้อง 8 เดือน ร่างกายของทารกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกระดูก ผิวหนัง สมอง ตับ ไต หัวใจ และปอด ระบบร่างกายสำหรับการดำรงชีวิตหลายระบบพัฒนาสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ต้องการเวลาในการพัฒนาเพิ่มเติม

ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงเดือนนี้ คือ ทารกจะกลับหัว ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญว่าเจ้าตัวน้อยกำลังพร้อมที่จะออกมาดูโลกแล้ว

ส่วนสูง น้ำหนักตัว และพัฒนาการในช่วงการท้อง 8 เดือนที่ยกมาเหล่านี้ เป็นเพียงการประมาณค่าเท่านั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามการดูแลตนเอง อาหารการกิน และกลไกตามธรรมชาติ

โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่สิ่งที่สำคัญ คือ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจครรภ์จากแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่ช่วยให้คุณแม่วางแผนดูแลลูกน้อยในครรภ์ได้ดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ในช่วงท้อง 8 เดือน

ในช่วงนี้คุณแม่อาจยังต้องเผชิญกับอาการคนท้องเหมือนในช่วงเดือนก่อนหรืออาจพบอาการบางอย่างเพิ่มมากขึ้น เช่น อาการปวดหัว รู้สึกร้อนตามร่างกาย อ่อนเพลีย ท้องผูก กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก ปวดสะโพก ปัสสาวะบ่อย ปัญหาด้านการนอนหลับ และอาการเจ็บครรภ์เตือน ในช่วงท้ายของเดือนอาจเริ่มพบว่ามูกใสบริเวณช่องคลอดมีปริมาณมากขึ้น ร่วมกับอาการเท้าและข้อเท้าบวม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป

ในช่วงท้อง 8 เดือน น้ำหนักตัวคุณแม่จะมากขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ราว 10‒15 กิโลกรัมตามสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น และช่วงเดือนนี้เองจะเป็นช่วงที่ท้องของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในการตั้งครรภ์ เพราะปริมาณน้ำคร่ำที่สูงขึ้น

แต่หลังสัปดาห์ที่ 34 คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าท้องอาจดูคล้อยลง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวน้อยเริ่มเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ประตูทางออกมากขึ้นแล้ว หากคุณแม่คนไหนเคยรู้สึกหายใจลำบากหรืออึดอัด พอผ่านสัปดาห์นี้ไป คุณแม่อาจหายใจได้สะดวกขึ้น

การตรวจครรภ์ในเดือนที่ 8 แพทย์จะตรวจสุขภาพของทั้งทารกและคุณแม่ สำหรับทารก แพทย์จะประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์และขั้นตอนอื่น ๆ เพื่อตรวจการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ และพัฒนาการอื่น ๆ

สำหรับคุณแม่ แพทย์จะตรวจสุขภาพทั่วไปและจะตรวจหาเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (Group B Strep) ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจแพร่ไปสู่ทารกเมื่อคลอดออกมาได้

อาการเจ็บครรภ์เตือนในช่วงท้อง 8 เดือน

อาการท้องแข็งหรืออาการเจ็บครรภ์เตือน (Braxton Hicks Contraction) เป็นอาการที่ทำให้เกิดอาการเกร็งที่ท้องและทำให้ท้องแข็ง มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดแม้จะเรียกว่าอาการเจ็บครรภ์เตือนก็ตาม พบได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และจะเกิดบ่อยขึ้นในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเมื่ออาการนี้เกิดบ่อยขึ้น คุณแม่หลายคนอาจเข้าใจผิดและตกใจว่าตนเองกำลังจะคลอดจึงรีบไปพบแพทย์

ในเบื้องต้นคุณแม่อาจสังเกตความแตกต่างระหว่างเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรภ์คลอดได้ดังนี้

  • อาการเจ็บครรภ์เตือนอาจเกิดขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรง
  • อาการเจ็บครรภ์คลอดมักเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่ 40 เป็นต้นไป ส่วนอาการเจ็บครรภ์เตือนเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มไตรมาสที่ 2
  • ความถี่ของอาการเจ็บครรภ์คลอดจะมากกว่า เช่น อาการปวดเกร็งที่ท้องทุก 5 นาที และจะปวดถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องกัน แต่เจ็บครรภ์เตือนมักไม่มีความถี่ที่แน่นอน อาจเกิดขึ้น หายไป และไม่ต่อเนื่อง
  • ความรุนแรงของอาการเจ็บครรภ์คลอดจะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงและจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น ซึ่งจะรุนแรงกว่าการปวดหรือเจ็บครรภ์เตือนอย่างมาก
  • สังเกตสัญญาณคลอดอื่น ๆ เช่น มีมูกใสปนเลือดออกมาจากช่องคลอด รู้สึกว่าทารกในครรภ์เคลื่อนตัวต่ำลง และอาการน้ำเดินหรืออาการที่มีของเหลวจำนวนมากไหลออกมาจากช่องคลอด หากเห็นอาการเหล่านี้ควรไปโรงพยาบาลทันที

แม้ว่าอาการเจ็บครรภ์คลอดมักเกิดในช่วงหลัง 40 สัปดาห์ แต่หากคุณแม่ที่กำลังท้อง 8 เดือนพบอาการเจ็บครรภ์คลอด ร่วมกับสัญญาณข้างต้นก็ควรไปโรงพยาบาลทันทีเช่นเดียวกัน หากไม่พบสัญญาณเหล่านี้ แต่อาการปวดเกร็งที่ท้องรุนแรงขึ้นหรือเกิดอาการอื่นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม

ท้อง 8 เดือน คุณแม่ควรดูแลตนเองอย่างไรบ้าง?

เชื่อว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาคุณแม่ดูแลตนเองและลูกน้อยครรภ์มาเป็นอย่างดี สำหรับการตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8 อาจมีวิธีการดูแลตนเองบางอย่างที่คุณแม่ควรโฟกัสมากขึ้น เช่น

1. อาหารการกิน

ช่วงเดือนนี้คุณแม่ยังจำเป็นต้องกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายตามที่แพทย์แนะนำ ดื่มน้ำในปริมาณเหมาะสม และกินผักผลไม้เป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนทำตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพราะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ลดความเหนื่อยล้า ช่วยเติมแร่ธาตุให้กับคุณแม่ที่ปัสสาวะบ่อย และอาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการเจ็บครรภ์เตือนด้วย

สำหรับข้อควรระวัง คุณแม่ควรลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะอาจทำให้อาการบวมที่ข้อเท้ารุนแรงขึ้น รวมทั้งงดอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ด เพราะอาจกระตุ้นอาการกรดไหลย้อนและแสบร้อนกลางอกได้

2. ปรับตัวเพื่อสุขภาพการนอนที่ดี

ในช่วงท้อง 8 เดือน คุณแม่อาจประสบกับปัญหาด้านการนอนหลับ ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้คุณแม่เหนื่อยล้าและได้รับผลกระทบจากอาการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณแม่นอนตะแคงด้านซ้าย หรือเลือกใช้หมอนข้างสำหรับคนท้องที่ช่วยประคองท้องและอาจทำให้คุณแม่นอนหลับได้สบายขึ้น 

นอกจากนี้ คุณแม่ควรกินมื้อเย็นให้เร็วขึ้นอีกหน่อย เพราะหากกินค่ำหรือดึกเกินไปอาจทำให้นอนหลับได้ยาก และถึงแม้ว่าร่างกายของคุณแม่ต้องการของเหลวในปริมาณที่เพียงพอ แต่ช่วงก่อนนอนคุณแม่ควรจำกัดปริมาณการดื่มน้ำและเข้าห้องน้ำก่อนนอนให้เรียบร้อย เพื่อลดโอกาสการตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก

3. หมั่นสังเกตกิจกรรมของลูกน้อยในครรภ์

ช่วงเวลาของการท้อง 8 เดือน เจ้าตัวน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าเจ้าตัวน้อยเริ่มแข็งแรงและพร้อมที่จะลืมตาดูโลกในไม่ช้า คุณแม่จึงควรติดตามความเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์เสมอด้วยการนับการเตะหรือดิ้นของลูกน้อย 

ในช่วงที่ลูกเริ่มดิ้นคุณแม่ควรเริ่มจับเวลาว่าภายใน 1 ชั่วโมงต่อจากนี้ ทารกจะสะกิดคุณแม่กี่ครั้ง โดยเฉลี่ยภายในเวลา 1 ชั่วโมงนี้ทารกควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง และเมื่อไปพบแพทย์ คุณแม่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงกิจกรรมของลูกน้อยที่เกิดขึ้นด้วย เพราะแพทย์อาจนำมาใช้ในการประเมินสุขภาพทารกได้

นอกจากการดูแลตนเองด้วยวิธีเหล่านี้ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น สัญญาณการคลอดก่อนกำหนดในช่วงท้อง 8 เดือน อย่างอาการเจ็บครรภ์คลอดและถุงน้ำคร่ำแตก หรือสัญญาณอื่น ๆ ที่ทำให้คุณแม่เป็นกังวล อย่างทารกในครรภ์เคลื่อนไหวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นต้น

ช่วงท้อง 8 เดือน คุณแม่ควรเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวคลอด ทั้งการเลือกโรงพยาบาล การเลือกแพทย์ที่จะทำคลอดในกรณีที่คุณแม่ยังไม่ได้จองหรือเลือกไว้ การเตรียมวันลาคลอด และการจัดกระเป๋าสำหรับการไปคลอดเพื่อเตรียมเอกสาร เสื้อผ้า หรือของใช้ที่จำเป็น

สุดท้ายนี้ หากคุณแม่ที่ท้อง 8 เดือนคนไหนรู้สึกกังวล หรืออาการจากการตั้งครรภ์รบกวนการพักผ่อนหรือรบกวนจิตใจ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีบรรเทาอาการอย่างปลอดภัย สำหรับคุณแม่คนอื่น ๆ ควรดูแลตนเองตามความเหมาะสม ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพราะอีกไม่นานก็ได้เห็นหน้าของเจ้าตัวน้อยที่คุณแม่อุ้มท้องมานานหลายเดือนแล้ว