ท้องแข็ง อาการป่วย หรือสัญญาณใกล้คลอด ?

ท้องแข็ง คือ อาการซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้คลอดเจ้าตัวน้อยแล้ว โดยคุณแม่อาจรู้สึกแน่นท้อง หน้าท้องแข็ง ร่วมกับมีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนหรือปวดหน่วงคล้ายปวดอุจจาระ อย่างไรก็ตาม ในระยะใกล้คลอดก็อาจเกิดอาการไม่สบายท้องที่เรียกว่าท้องแข็งหลอกได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่สัญญาณใกล้คลอดแต่มักทำให้คุณแม่หลายรายเข้าใจผิด และหากสามารถแยกความแตกต่างระหว่างท้องแข็งจริงกับท้องแข็งหลอกได้ อาจช่วยคลายความกังวลระหว่างตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ดูแลสุขภาพครรภ์และเตรียมความพร้อมก่อนคลอดได้ดีขึ้น

ท้องแข็ง

ท้องแข็งจริง เป็นอย่างไร ?

ท้องแข็งที่เป็นสัญญาณใกล้คลอดมักเริ่มเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ไปกระตุ้นให้มดลูกส่วนต้นหดรัดตัว ทำให้ผนังมดลูกบางลงและขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น เพื่อส่งทารกไปยังช่องคลอดได้ง่ายขึ้น

โดยอาการท้องแข็ง มีลักษณะดังนี้

  • แน่นท้อง และรู้สึกว่าหน้าท้องแข็งเมื่อสัมผัส
  • ปวดท้องหรือไม่สบายท้อง อาจปวดคล้ายปวดประจำเดือนหรือปวดหน่วงคล้ายปวดอุจจาระ
  • อาการปวดจะเกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกัน คือ รู้สึกปวดเป็นจังหวะ โดยเริ่มจากปวดเพียงเล็กน้อยแล้วรุนแรงขึ้น จากนั้นอาการปวดจะลดลงและหายไป เมื่อเวลาผ่านไปสักพักอาการปวดจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยค่อย ๆ เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

โดยปกติ อาการท้องแข็งมักเกิดขึ้นทุก 15-20 นาที คุณแม่ที่มีอาการถี่มากหรือเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาน้อยกว่า 5 นาทีร่วมกับมีสัญญาณอื่นดังต่อไปนี้ อาจแสดงว่าใกล้เวลาคลอดและควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • พบมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด
  • ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
  • มีน้ำคร่ำซึ่งเป็นของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอด

ท้องแข็งหลอก เป็นอย่างไร ?

ส่วนใหญ่ท้องแข็งหลอกมักเริ่มเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 28-40 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คุณแม่บางรายเข้าใจผิดคิดว่าตนใกล้คลอดแล้ว แต่อาการนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกเหนื่อย เดินเป็นเวลานาน หรือมีภาวะขาดน้ำ

โดยอาการของท้องแข็งหลอก มีลักษณะดังนี้

  • รู้สึกแน่นท้องหรือไม่สบายท้องเป็นระยะ
  • ส่วนใหญ่ไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย หรือมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยและไม่รุนแรงมากขึ้น
  • อาการจะหายไปเมื่อถ่ายปัสสาวะ หรือเปลี่ยนท่าทางการนอนและการนั่ง

วิธีบรรเทาอาการท้องแข็งหลอก

อาการท้องแข็งหลอกส่วนใหญ่ไม่ทำให้รู้สึกปวด แต่อาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายท้อง ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำ เพราะอาการท้องแข็งหลอกอาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดน้ำ
  • เปลี่ยนท่าทางการนั่งหรือการนอน และลุกเดินเพื่อเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างเบา ๆ เพื่อทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมีสมาธิ

ท้องแข็งที่อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด

อาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • แน่นท้องและรู้สึกว่าหน้าท้องแข็งเมื่อสัมผัส
  • รู้สึกปวดหรือไม่สบายท้อง
  • รู้สึกปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานคล้ายถูกกดทับ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือพบมูกเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด
  • ถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งจะพบของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอด

ท้องแข็ง กับท้องอืด ต่างกันอย่างไร ?

หญิงมีครรภ์บางรายอาจรู้สึกสับสนระหว่างอาการท้องแข็งกับท้องอืด เพราะทำให้รู้สึกไม่สบายท้องเช่นเดียวกัน แต่ทั้ง 2 อาการมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งข้อสังเกตของอาการท้องอืด มีดังนี้

  • สัมผัสแล้วไม่รู้สึกว่าหน้าท้องแข็ง
  • อาการท้องอืดมักทำให้รู้สึกเสียดท้อง ส่วนท้องแข็งมักทำให้รู้สึกปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน
  • อาการมักเกิดขึ้นและหายไปโดยไม่มีรูปแบบที่แน่นอน
  • ผายลมแล้วอาการดีขึ้น

นอกจากนั้น การรับประทานอาหารหรือผักตระกูลกะหล่ำปลี และเครื่องดื่มที่มีแก๊สเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะมากกว่าปกติ คุณแม่ที่รู้สึกไม่สบายท้องหลังรับประทานอาหารดังกล่าวก็อาจคาดได้ว่าเป็นอาการท้องอืด