เจ็บท้องคลอด อาการเตือนและวิธีรับมือในช่วงเวลาสำคัญ

เจ็บท้องคลอดเป็นอาการที่ผู้หญิงตั้งครรภ์หลายคนหวาดกลัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการนี้อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะมีวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่รับมือกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น อย่างการนวดขณะคลอด หรือการใช้ยาบรรเทาอาการปวดและยาชาจากแพทย์ ดังนั้น หากเตรียมตัวให้ดี หาข้อมูลรอบด้านให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อาการเจ็บท้องคลอดก็อาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป

1989 เจ็บท้องคลอด rs

เจ็บท้องคลอด อาการเป็นอย่างไร ?

อาการเจ็บท้องคลอดเกิดจากการที่มดลูกบีบตัวเพื่อให้ทารกในครรภ์คลอดออกมา แต่ก็อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลต่ออาการเจ็บท้องที่เกิดขึ้นขณะคลอดได้ด้วย เช่น ขนาดตัวของเด็ก ตำแหน่งของเด็กขณะอยู่ในท้อง ความแรงในการบีบตัวของมดลูก หรือระยะเวลาในการคลอด เป็นต้น

โดยอาการเจ็บท้องคลอดนั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

อาการเจ็บท้องเตือน เกิดจากกล้ามเนื้อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามา โดยคุณแม่จะรู้สึกแน่นบริเวณช่วงท้อง และรู้สึกเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงมีความเจ็บปวดและระยะเวลาไม่เท่ากัน รวมถึงบริเวณที่เจ็บอาจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาการจะหายไปเมื่อคุณแม่เดิน หยุดพัก หรือเปลี่ยนอิริยาบถ

อาการเจ็บท้องจริง เกิดจากการบีบตัวของมดลูกที่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด โดยจะมีอาการแบบไม่ตายตัวและแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งอาการที่มักพบได้บ่อย คือ ปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังและท้องส่วนล่าง คุณแม่บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณข้างลำตัวและต้นขา และปวดคล้ายกับอาการปวดประจำเดือนหรือท้องเสียแต่มีความรุนแรงมากกว่าด้วย ทั้งนี้ อาการเจ็บท้องจริงจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและมีความถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นตามการบีบตัวของมดลูก นอกจากนี้ ความเจ็บปวดจากการเจ็บท้องจริงนั้นยากจะบรรเทาอาการ ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถหรือการใช้ยาช่วยบรรเทาความเจ็บปวดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม อาการปวดทั้งสองชนิดนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้วหรือไม่ สตรีมีครรภ์บางรายอาจมีอาการปวดติดต่อกันหลายวัน แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณอุ้งเชิงกรานที่เป็นสัญญาณเตือนของการคลอดบุตร หรือบางรายอาจมีอาการเจ็บท้องเตือนก่อนคลอดบุตรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องอย่างต่อเนื่อง เจ็บทุก 5 นาทีติดต่อกัน 1 ชั่วโมง มีอาการน้ำเดินซึ่งมีน้ำใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดในปริมาณมาก หรือมีมูกเลือดออกจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณใกล้คลอด แต่หากเกิดความผิดปกติบางอย่าง เช่น เจ็บท้องจนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากช่องคลอด หรือเด็กขยับตัวน้อยกว่า 6-10 ครั้งในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน เพราะอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติที่ร้ายแรงของการตั้งครรภ์ได้

วิธีรับมือกับอาการเจ็บท้องคลอดอย่างได้ผล

แม้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในระหว่างคลอดนั้นอาจมีความรุนแรงมาก แต่คุณแม่ก็อาจบรรเทาความเจ็บปวดนั้นได้บ้างด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ศึกษาขั้นตอนการคลอดล่วงหน้า
หากทราบขั้นตอนการคลอดว่าต้องทำอย่างไร อาจเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และความเจ็บปวดจะเกิดขึ้นช่วงไหน รวมทั้งฝึกการเบ่งคลอดเบื้องต้นมาก่อนและศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ก่อนถึงวันคลอดจริง อาจช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลลงได้บ้าง โดยอาจศึกษาด้วยตนเอง เข้าอบรมคอร์สเตรียมคลอด หรือสอบถามข้อมูลจากแพทย์ผู้ดูแล

ผ่อนคลายจิตใจ
เมื่อคุณแม่รู้สึกกลัวความเจ็บปวด อาจทำให้เกิดความเครียดและส่งผลให้ความเจ็บปวดรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งมีหลายวิธีที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เช่น เปิดเพลงฟัง นึกถึงสถานที่ที่ชอบและหายใจลึก ๆ นำสิ่งของที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้านมาวางไว้ข้างกาย หรือใช้น้ำมันหอมระเหยช่วยให้ผ่อนคลาย เป็นต้น

ใช้วิธีวารีบำบัด
การลงไปแช่ในน้ำอุ่นอาจช่วยลดความเจ็บปวดในระหว่างคลอดได้ แต่แพทย์ก็มีความเห็นว่าการลงไปแช่น้ำที่ลึกเกิน 4 เซนติเมตรก่อนคลอดอาจทำให้คลอดช้าลงได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีนี้ ส่วนการอาบน้ำอุ่นด้วยฝักบัวก็อาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้เช่นกัน และยังเหมือนเป็นการนวดร่างกายอีกทางหนึ่งด้วย

ควบคุมลมหายใจ
เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระหว่างคลอดได้ ซึ่งอาจใช้เทคนิคเดียวกับการควบคุมจังหวะการหายใจขณะออกกำลังกาย หรือขณะควบคุมความเครียด โดยให้เลือกวิธีที่เหมาะกับตนเองที่สุด เช่น หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ให้ลมหายใจออกมาจากกระบังลม หรือหายใจสั้นและถี่ เป็นต้น

เคลื่อนไหวร่างกาย
อย่างการเดินไปมา โยกตัวช้า ๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดขณะคลอดได้ อีกทั้งแรงโน้มถ่วงยังอาจช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวและการกลับหัวของเด็กได้อีกด้วย แต่หากไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกเพราะอุปกรณ์บางอย่างหรือได้รับผลข้างเคียงของยาบางชนิด อาจใช้วิธีนั่งข้างเตียงหรือยืนข้างเตียงแทน

ให้คนอยู่เคียงข้างขณะคลอด
หากบุคคลใกล้ชิดอย่างสามี คนในครอบครัว หรือเพื่อนที่ไว้ใจอยู่ด้วยในขณะคลอด อาจช่วยลดความกังวลของคุณแม่ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งคนที่อยู่เคียงข้างอาจคอยให้กำลังใจ ช่วยสื่อสารกับแพทย์ขณะคลอด หรือช่วยเตือนคุณแม่เรื่องการควบคุมลมหายใจได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดีก่อนว่าทางโรงพยาบาลอนุญาตให้สามีหรือญาติอยู่ด้วยขณะคลอดหรือไม่ หากอนุญาต บุคคลเหล่านั้นควรปฏิบัติตามกฎของโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัดด้วย เช่น ใส่ชุดที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ หรืออยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น เป็นต้น  

นวดขณะคลอด
การนวดก็อาจเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดได้ โดยอาจให้สามีใช้มือนวดบริเวณขมับ มือ ช่วงล่างของแผ่นหลัง หรือบริเวณเท้า ซึ่งนอกจากการนวดจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ด้วยเช่นกัน

ใช้ยาช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
ก่อนคลอด คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดขณะคลอด เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีใช้ สรรพคุณ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน เช่น การให้ยาโอปิออยด์ผ่านทางหลอดเลือดจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้บางส่วน แต่ยาอาจทำให้รู้สึกง่วงและอาจส่งผลกระทบต่อการหายใจของตัวคุณแม่เองหรือลูกในท้องได้ ส่วนการให้ยาทางช่องน้ำไขสันหลังจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดโดยที่คุณแม่ยังรู้สึกตัวอยู่ แต่ยาอาจทำให้ความดันโลหิตของตัวคุณแม่ลดต่ำลงจนเป็นเหตุให้จังหวะการเต้นของหัวใจทารกช้าลงไปด้วย เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดขณะคลอดจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเสมอ