ผลไม้สีเหลือง ประโยชน์ต่อร่างกายและข้อควรรู้ก่อนรับประทาน

เชื่อว่าผลไม้สีเหลือง อย่างฟักทอง มะม่วง สับปะรด หรือกล้วย น่าจะเป็นผลไม้โปรดของใครหลายคน โดยนอกจากด้านความอร่อยแล้ว ผลไม้กลุ่มนี้ก็ถือเป็นกลุ่มผลไม้ที่มีประโยชน์เฉพาะตัวในด้านการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย หรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย

สีของผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองหรือสีอื่น ๆ เป็นผลมาจากสารในกลุ่มไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) หรือสารพฤกษเคมีที่พบได้เฉพาะในพืช ซึ่งสารในกลุ่มนี้ก็จะมีอยู่หลายชนิด และแต่ละชนิดก็จะทำให้ผลไม้มีสี กลิ่น รสชาติ และประโยชน์ที่แตกต่างกันไป โดยในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะกลุ่มผลไม้สีเหลือง ทั้งในด้านประโยชน์ และข้อควรทราบก่อนรับประทาน

ผลไม้สีเหลือง ประโยชน์ต่อร่างกายและข้อควรรู้ก่อนรับประทาน

ผลไม้สีเหลืองและคุณประโยชน์เฉพาะตัว

สีเหลืองของผลไม้ต่าง ๆ เป็นผลมาจากสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งถูกจัดเป็นสารไฟโตนิวเทรียนท์ชนิดหนึ่ง 

โดยสารแคโรทีนอยด์จะเป็นสารที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) หรือก็คือช่วยป้องกันเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายจากการถูกอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ทำร้าย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น

  • เบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative Diseases) เช่น พาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)
  • มะเร็งบางชนิด

นอกจากนี้ สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่มักพบในผลไม้สีเหลืองยังมีประโยชน์เด่น ๆ ในด้านอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะในด้านสุขภาพดวงตาและการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยสารเด่น ๆ ในกลุ่มนี้ที่มักพบก็เช่น 

  • สารแอลฟา–แคโรทีน (Alpha–Carotene) เบต้า–แคโรทีน (Beta–Carotene) 
  • เบต้า–คริปโทแซนทิน (Beta–Cryptoxanthin) 
  • ลูทีน (Lutein) 
  • ซีแซนทีน (Zeaxanthin) 

โดยสารแอลฟา–แคโรทีน เบต้า–แคโรทีน และเบต้า–คริปโทแซนทิน จะเป็นสารที่ร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อสุขภาพดวงตา และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ส่วนสารลูทีนและซีแซนทีนจะเป็นสารที่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางดวงตาบางชนิดได้ เช่น ต้อกระจก (Cataracts) หรือจอประสาทตาเสื่อม (Age–Related Macular Degeneration)

ผลไม้สีเหลืองกับข้อควรทราบก่อนรับประทาน

แม้ผลไม้สีเหลืองจะเป็นกลุ่มผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่ การปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผลไม้บางชนิดในกลุ่มนี้อาจให้สารอาหารหรือมีสารบางชนิดที่มากเกินไปจนอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่กำลังมีปัญหาทางสุขภาพบางอย่างอยู่ได้ เช่น

กล้วย

กล้วย ผลไม้ชนิดนี้เป็นผลไม้ที่หารับประทานง่าย แต่ผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดก็ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณ เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbs) สูง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่รับประทานมีระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นได้

สับปะรด

สับปะรด เป็นผลไม้ซึ่งผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณเช่นกัน นอกจากนี้ สับปะรดยังเป็นผลไม้ที่มีเอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของเลือดได้ ผู้ที่กำลังรับประทานยาในกลุ่มละลายลิ่มเลือดจึงควรหลีกเลี่ยง

ฟักทอง

ฟักทอง ผลไม้ชนิดนี้มีสารบางชนิดที่ออกฤทธิ์คล้ายกับยาขับปัสสาวอ่อน ๆ อยู่ ผู้ที่กำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (Lithium) อยู่จึงควรหลีกเลี่ยง

มะเฟือง

มะเฟืองเป็นผลไม้ที่มีสารออกซาเลต (Oxalate) ในปริมาณมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต และผู้ที่กำลังรับประทานยาบางชนิดได้

มะม่วง

มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตประเภทสายโมเลกุลสั้น หรือ FODMAP ที่ร่างกายย่อยยาก บางคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) เกิดอาการท้องอืดและมีแก๊สในกระเพาะอาหารได้

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด ผู้ที่ต้องการรับประทานผลไม้สีเหลืองควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และรับประทานร่วมกับผลไม้สีอื่น ๆ ร่วมด้วย และที่สำคัญ ควรคำนึงถึงความสะอาดของผลไม้ และการรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน