ประโยชน์ของกล้วยที่มีต่อสุขภาพ

กล้วย ผลไม้มากคุณค่าที่คุ้นเคยกันดี เพราะหารับประทานได้ง่ายและยังเชื่อว่าเปี่ยมคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยในกล้วยนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่อร่างกายหลากชนิด ได้แก่ วิตามินบี 6 วิตามินซี แมงกานีส โพแทสเซียม และเส้นใยอาหาร ประโยชน์ของกล้วยถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าอาจช่วยในการย่อยอาหาร ให้พลังงาน ดีต่อลำไส้ เพิ่มการเผาผลาญ และอีกสารพัด อย่างไรก็ตาม การยืนยันจากทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยระบุว่าประโยชน์ของกล้วยเหล่านี้เชื่อถือได้เพียงใด และในปัจจุบันสามารถนำมาใช้ได้จริงแล้วหรือยัง

ประโยชน์ของกล้วย

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วย

ลดระดับคอเลสเตอรอล การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไปเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ เหตุที่เชื่อกันว่ากล้วยอาจมีคุณสมบัตินี้ เนื่องจากกล้วยเป็นแหล่งเส้นใยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยกล้วยขนาดกลางนั้นให้เส้นใยอาหารประมาณ 3 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ของเส้นใยอาหารที่ร่างกายคนเราต้องการในแต่ละวัน เมื่อรับประทานจึงรู้สึกอิ่ม แต่กลับให้ปริมาณแคลอรีเพียงเล็กน้อย และช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไปได้

สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลของกล้วย มีการให้อาสาสมัครที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงจำนวน 30 คน และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 15 คน รับประทานกล้วยเป็นอาหารเช้าในปริมาณ 250 หรือ 500 กรัม ทุกวัน นาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดของกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรับประทานกล้วยไปแล้วเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดมากนัก แต่พบว่าระดับของฮอร์โมนอดิโพเนคตินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลและไขมัน ซึ่งมักจะลดลงต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นกลับเพิ่มขึ้น ส่วนด้านความปลอดภัย การบริโภคกล้วยเป็นประจำวันละ 250 กรัม ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยภาวะคอเลสเตอรอลสูงแต่อย่างใด จากข้อสรุปดังกล่าว เชื่อว่าหากมีงานวิจัยที่ดีเพิ่มเติมต่อไปคงจะสามารถระบุได้ว่าการรับประทานกล้วยช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ผลจริงหรือไม่

โรคเบาหวาน งานวิจัยหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำหนักและระดับความไวต่ออินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างการใช้พลังงานจากกล้วยที่เก็บโดยรวมจากทั่วประเทศกับนมถั่วเหลืองอย่างละ 24 กรัมที่นำมาละลายในน้ำ 240 มิลลิลิตร ให้ดื่มทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคนี้มีน้ำหนักตัวลดลง ทั้งยังส่งผลให้อินซูลินในเลือดและความต้านทานต่ออินซูลินลดต่ำกว่าปกติ แต่ก็ลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานนมถั่วเหลือง

ดังนั้น การศึกษานี้จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการรับประทานกล้วยเป็นอาหารช่วยเสริมเส้นใยอาหารจะช่วยให้อาการของโรคเบาหวานดีขึ้น นอกจากนี้กล้วยยังเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตสูง เมื่อเปลี่ยนเป็นน้ำตาลจึงอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ไม่ถึงกับต้องหลีกเลี่ยง ผู้ป่วยเบาหวานจะสามารถรับประทานกล้วยในขนาดปานกลางเป็นของว่างได้ประมาณครึ่งลูก

ลดน้ำหนัก สูตรลดความอ้วนที่แนะนำกันมากในอินเทอร์เน็ตก็คือการรับประทานกล้วยแทนมื้ออาหาร โดยเชื่อว่ากล้วยนั้นช่วยให้อิ่มท้อง ให้พลังงานต่อร่างกายได้อย่างดี ในขณะที่มีแคลอรีต่อลูกไม่มาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือยืนยันได้ว่ากล้วยช่วยลดน้ำหนักได้จริง ที่สำคัญวิธีนี้อาจไม่ใช่สิ่งดีต่อสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยและได้ผลดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ และไม่ลืมออกกำลังกายเผาผลาญไขมันควบคู่ไปด้วยอย่างสม่ำเสมอ

ควบคุมระดับความดันโลหิต อาหารที่มีเส้นใยอาหารนั้นสามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกล้วย นอกจากนี้ก็ยังเชื่อว่าสารโพแทสเซียมที่พบในกล้วยจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตที่ลดลงตามไปด้วย

ประโยชน์ของกล้วยในด้านนี้ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องเผยว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาสาสมัครที่รับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียมเพิ่มในมื้ออาหาร 36 มิลลิโมล ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานกล้วย 2.5 ลูก กับอีกกลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียม 6 มิลลิโมล พบว่ากลุ่มที่ได้โพแทสเซียมสูงกว่ามีระดับความดันโลหิตที่ลดต่ำลงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยดังกล่าวจะพบผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับความดันโลหิต แต่ด้วยการศึกษาด้านนี้ยังมีไม่มากพอ จึงยากที่จะสรุปได้ว่ามีประสิทธิภาพจริง นอกจากนี้ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะได้ผลเช่นเดียวกันเมื่อรับประทานกล้วย 2.5 ลูก แทนอาหารเสริมโพแทสเซียม คงต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของกล้วยต่อการลดระดับความดันโลหิตโดยตรงกันต่อไป

ท้องเสีย เชื่อกันว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพท้อง เพราะคาร์โบไฮเดรตจากกล้วยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้นั้นเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่พบในลำไส้ ช่วยให้จุลินทรีย์ชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่กล่าวว่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกสามารถช่วยลดอาการท้องเสียอันเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาถึงประโยชน์ต่อการรักษาอาการท้องเสียของกล้วย โดยให้เด็กชาย 57 คนที่มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่องนาน 14 วันขึ้นไป รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักกับกล้วยดิบที่ผ่านการปรุงให้สุก ข้าวกับสารสกัดจากเปลือกกล้วยอย่างเพคติน (Pectin) หรือข้าวปกติเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาชี้ว่ากล้วยดิบปรุงสุกและเพคตินต่างมีประสิทธิภาพต้านอาการท้องเสียด้วยการช่วยให้ภาวะลำไส้เล็กรั่วดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำกล้วยมารักษาอาการท้องเสียยังไม่เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โรค

ท้องอืด นอกจากอาการท้องเสีย สรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดโดยใช้กล้วยก็มีให้ได้ยิน และด้วยเหตุผลเดียวกันกับการรักษาท้องเสีย คือในกล้วยมีคาร์โบไฮเดรตสำคัญที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์พรีไบโอติก งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งพิสูจน์ประโยชน์ของกล้วยในการแก้ท้องอืดโดยทดลองกับหญิงสุขภาพดี 34 คน ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินแต่ไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารและไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยารักษาโรคชนิดอื่น ๆ ในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าจนถึงระหว่างที่ทำการทดลอง กลุ่มหนึ่งรับประทานกล้วยขนาดกลาง 1 ลูก อีกกลุ่มรับประทานเครื่องดื่มรสกล้วยเป็นของว่างก่อนมื้ออาหาร วันละ 2 มื้อ และกลุ่มควบคุมที่รับประทานแต่น้ำธรรมดา ผลปรากฏว่าการรับประทานกล้วยช่วยลดระดับอาการท้องอืดในหญิงที่ปัญหาน้ำหนักเกินได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกล้วยจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการรับมือกับปัญหาท้องผูกหรือไม่ คงต้องรอให้ทางวิทยาศาสตร์มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือได้มากกว่านี้

อาการท้องผูก การรับประทานกล้วยสุกช่วยบรรเทาอาการท้องผูกเป็นเคล็ดลับที่หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง คาดว่าอาจเป็นเพราะจุลินทรีย์โปรไบโอติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเช่นเดียวกันกับอาการท้องเสียและท้องอืดข้างต้นที่ทำให้ร่างกายมีการขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น แต่ประโยชน์ของกล้วยในด้านนี้ก็ยังคงเป็นปริศนา และไม่ปรากฏการศึกษาทดลองที่เกี่ยวข้อง หลักฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติในด้านนี้ของกล้วยไม่เพียงพอให้เชื่อว่าจะช่วยรักษาได้จริง

ในทางตรงกันข้าม การรับประทานกล้วยดิบหรือกล้วยที่ยังไม่สุกงอมดีอาจส่งผลให้เกิดท้องผูกขึ้นเสียเอง เนื่องจากในกล้วยที่ไม่สุกนั้นยังมีแป้งอยู่มาก ทำให้ร่างกายย่อยได้ยาก รวมถึงเส้นใยอาหาร (เพคติน) ในกล้วยที่อาจไปดูดซึมน้ำในลำไส้ เมื่อลำไส้ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงกากอาหาร อุจจาระจึงแข็งตัวจนเกิดอาการท้องผูกขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดน้ำเป็นทุนเดิม หากรับประทานกล้วยเข้าไปอาจยิ่งทำให้อาการท้องผูกแย่ลง นอกจากนี้การให้ทารกรับประทานกล้วยมากเกินไปก็สามารถนำไปสู่อาการท้องผูกได้ ทางที่ดีจึงควรเดินทางสายกลางและเลือกรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายจะเป็นตัวช่วยป้องกันท้องผูกได้ดีที่สุด

ริดสีดวงทวาร บางคนเชื่อว่ากล้วยเป็นหนึ่งในวิธีทางธรรมชาติสำหรับป้องกันหรือรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก เช่น การรับประทานกล้วยหอมสุกหรือนำกล้วยหอมดิบไปต้มแล้วรับประทาน ทว่าประโยชน์ของกล้วยด้านนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังมากพอ และไม่พบหลักฐานที่กล่าวว่ากล้วยจะช่วยป้องกันหรือรักษาริดสีดวงทวารหนักได้อย่างไร ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการลองรับประทานกล้วยโดยคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีต่อโรคนี้ยังควรระมัดระวังและรับประทานแต่พอดี เพราะอาการท้องผูกที่อาจเกิดจากการรับประทานกล้วยนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวารได้

โลหิตจาง ภาวะขาดสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงอย่างธาตุเหล็กเป็นปัจจัยที่มักนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ด้วยเหตุนี้กล้วยซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่าอุดมด้วยธาตุเหล็กจึงได้รับการกล่าวถึงในฐานะผลไม้ที่จะช่วยรับมือกับภาวะโลหิตจางไปด้วย

งานวิจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องทดสอบประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กของกล้วยดิบและกล้วยดิบที่ผ่านการปรุงสุก โดยแบ่งหญิง 30 คนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานกล้วยดิบวันละ 480 กรัม นาน 6 วัน กลุ่มต่อมารับประทานกล้วยดิบที่นำไปปรุงให้สุก 500 กรัม นาน 4 วัน ผลพบว่าการดูดซึมธาตุเหล็กโดยรวมจากการรับประทานกล้วยดิบและกล้วยดิบปรุงสุกในหญิงทั้ง 2 กลุ่มต่างเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากล้วยจะเป็นแหล่งอาหารทดแทนการขาดธาตุเหล็กของร่างกายได้จริงหรือไม่ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาหรือป้องกันภาวะโลหิตจางด้วยกล้วยก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ จึงยังไม่มีการแนะนำให้ใช้กล้วยเป็นหนึ่งในการรักษาหรือจัดการกับภาวะโลหิตจางแต่อย่างใด

เผาผลาญพลังงาน คุณประโยชน์ต่อการช่วยเผาผลาญพลังงานของกล้วยนั้นยังไม่มีการศึกษาโดยตรง และไม่มีข้อมูลบ่งบอกคุณสมบัติของกล้วยที่อาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานได้ ประโยชน์ด้านนี้ของกล้วยจึงนับว่ายังคลุมเครืออยู่มาก

เสริมพลังงานขณะออกกำลังกาย ประโยชน์ของกล้วยในด้านนี้ มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าการรับประทานกล้วยหรือการดื่มเครื่องดื่มคาร์โบไฮเดรตความเข้มข้น 6% ระหว่างการปั่นจักรยาน 75 กิโลเมตร ต่างให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสมรรถภาพร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด การอักเสบ การเพิ่มของสารต้านอนุมูลอิสระ และระบบภูมิคุ้มกันไม่ต่างกัน นอกจากนี้ในทั้ง 2 กลุ่มยังมีการผลิตกลูตาไธโอนและการนำพลังงานไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นไม่ต่างกัน เพียงแต่การรับประทานกล้วยยังทำให้ระดับฮอร์โมนโดปามีน (Dopamine) สูงขึ้นมากกว่า ผู้วิจัยจึงได้ข้อสรุปว่าการรับประทานกล้วยก่อนออกกำลังกายและระหว่างการออกกำลังกายที่นานและหนัก มีประสิทธิภาพต่อการนำไปใช้เป็นพลังงานเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย แน่นอนว่าการศึกษาเพียงเท่านี้ย่อมไม่เพียงพอ หากมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตดีพอเมื่อไหร่ คงสามารถยืนยันสรรพคุณต่อการเสริมพลังงานของกล้วยได้แน่ชัดกว่านี้

มะเร็ง อีกหนึ่งความเชื่อที่ว่าการรับประทานกล้วยแล้วสามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ความคิดนี้อาจมีที่มาจากการที่กล้วยอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยกล่าวว่าสารอนุมูลอิสระที่มีมากจะเป็นอันตรายต่อร่างกายและเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้มากมายรวมถึงมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการได้รับวิตามินบี 6 ไม่เพียงพออาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยจะก่อให้เกิดความผิดปกติในการสังเคราะห์ การซ่อมแซม และกระบวนการเติมหมู่ของดีเอ็นเอ หรือแนวคิดที่ว่าวิตามินบีอาจช่วยยับยั้งการก่อมะเร็งด้วยการลดการเพิ่มจำนวนเซลล์และการสร้างเส้นเลือดใหม่ ต้านทานอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ รวมถึงการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ได้ อย่างไรก็ดี แม้วิตามินบีจะพบได้มากในกล้วยจริง แต่ก็ไม่มีงานวิจัยใดที่น่าเชื่อถือระบุถึงสรรพคุณด้านการป้องกันมะเร็งของกล้วย มีเพียงแต่การนำเอาประโยชน์ของวิตามินบีที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าช่วยป้องกันมะเร็งได้จริงหรือไม่มาเชื่อมโยงกับกล้วยที่เป็นแหล่งของวิตามินบี

โรคกระเพาะอาหาร จริงหรือไม่ที่กล้วยช่วยรักษาโรคกระเพาะได้ด้วย วิธีนี้ไม่พบปรากฏในมาตรฐานการรักษาโรคกระเพาะอาหาร และทางวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่เคยมีการศึกษาในคนมาก่อน ประโยชน์ของกล้วยข้อนี้จึงแทบไม่มีหลักฐานใดบ่งบอกได้ เป็นเพียงความเชื่อที่ต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป

ประโยชน์ของกล้วยต่อผิวพรรณ

รักษาสิว หนึ่งในเคล็ดลับหลากหลายเพื่อการรักษาสิวบนใบหน้า มีการแนะนำให้ใช้เปลือกกล้วยมาถูบริเวณที่เกิดสิวอักเสบ ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกด้วยน้ำ ซึ่งการทำงานของเปลือกกล้วยกับการลดการอักเสบของสิวนั้นไม่พบการกล่าวถึงทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด อีกทั้งการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเพื่อยืนยันสรรพคุณต่อการรักษาสิวก็ไม่ปรากฏเช่นกัน

บำรุงผิว กล้วยถูกนำมาใช้เพื่อสรรพคุณบำรุงผิวอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะนำมาบดหรือปั่นให้เป็นเนื้อครีมสำหรับพอกผิว มาร์กหน้า หรือใช้เปลือกด้านในถูใบหน้าให้ทั่ว และโฆษณาสรรพคุณนานาชนิด เช่น ช่วยให้ผิวนุ่ม ผิวเนียนใส ลดริ้วรอย ฟื้นฟูผิวจากแสงแดด เหล่านี้เป็นเคล็ดลับความงามที่ยังไม่ได้มีผลการศึกษาใด ๆ ค้นคว้าหรือรับรองได้อย่างน่าเชื่อถือ แต่ก็สามารถทดลองกับตนเองได้โดยไม่น่าจะเสียหายเป็นอันตรายแต่ประการใดหากทำอย่างเหมาะสม

ประโยชน์ของกล้วยต่อสุขภาพปากและฟัน

ช่วยให้ฟันขาว สำหรับผู้ที่อยากมีฟันขาวขึ้นจากวิธีธรรมชาติโดยไม่ต้องรับการฟอกสีฟันจากทันตแพทย์ เปลือกกกล้วยเป็นหนึ่งในวัสดุจากธรรมชาติที่มีการบอกต่อกันอย่างแพร่หลายว่าอาจสามารถช่วยทำให้ฟันขาวขึ้น อย่างไรก็ดีประโยชน์ของกล้วยดังกล่าวไม่มีการพิสูจน์อย่างจริงจังและไม่มีข้อมูลที่สามารถอธิบายได้ว่าเปลือกกล้วยจะส่งผลต่อสีของฟันได้อย่างไร แต่ก็นับเป็นอีกวิธีที่น่าจะปลอดภัยหากจะลองทำตามอย่างเหมาะสม

ขจัดกลิ่นปาก สรรพคุณช่วยขจัดกลิ่นปากของกล้วย เป็นที่นิยมจากเคล็ดลับที่แนะนำให้รับประทานกล้วยก่อนแปรงฟันหลังตื่นนอนเป็นประจำนานประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเชื่อว่าจะช่วยลดกลิ่นปากได้ แต่ก็เช่นเดียวกับประโยชน์อีกหลายข้อที่ยังไม่มีการแนะนำว่าได้ผลจริงโดยผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด

การรับประทานกล้วยมีอันตรายหรือไม่?

กล้วยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมต่อการบริโภคและนำมาปรุงเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ซึ่งการรับประทานในปริมาณปกติในรูปแบบของอาหารในชีวิตประจำวันนั้นน่าจะปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่หากต้องการรับประทานหรือนำมาใช้เพื่อรักษาโรคในลักษณะใด ๆ ก็ควรระมัดระวังด้วยการใช้อย่างเหมาะสม ควรสอบถามแพทย์เพื่อความแน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่ ที่สำคัญลืมแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยารักษาโรค สมุนไพร และอาหารเสริมที่ใช้อยู่ด้วย