โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding disorder) ปัญหาที่ควรรักษา

โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตที่ทำให้มีพฤติกรรมชอบเก็บสิ่งของต่าง ๆ ไว้ โดยผู้ป่วยมักจะรู้สึกไม่สบายใจหากต้องทิ้งสิ่งของที่เก็บไว้ การสะสมสิ่งของที่ไม่จำเป็นไว้จะทำให้บ้านรก และเป็นที่สะสมของฝุ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ผู้ที่เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของอาจมีอาการไม่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงมาก รวมทั้งอาจเกิดปัญหาทั้งด้านสุขอนามัยและด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยปรับความคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding disorder) ปัญหาที่ควรรักษา

อาการของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ

ผู้ที่ชอบเก็บสะสมสิ่งของอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • เก็บสะสมสิ่งของจำนวนมากไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน 
  • เก็บของที่มีค่าและไม่มีค่า เช่น ใบปลิว หนังสือพิมพ์ จดหมาย ใบเสร็จรับเงิน หนังสือ เสื้อผ้า ถุงพลาสติก ขวดน้ำ เศษอาหาร รวมถึงอีเมล ไฟล์งาน รูปภาพ คลิปวิดีโอ และข้อความแชทในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
  • หลีกเลี่ยงที่จะคิดจัดการกับสิ่งของที่เก็บไว้ ไม่กล้าทิ้งสิ่งของ และกังวลใจมากเมื่อต้องทิ้งหรือนำไปให้คนอื่น
  • คิดว่าของทุกชิ้นสำคัญและควรเก็บไว้ เพราะไม่มีสิ่งอื่นทดแทนได้ หรือคิดว่าอาจได้ใช้ในอนาคต
  • รู้สึกผูกพันกับสิ่งของมากจนไม่อยากทิ้ง เพราะทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุข หรือเป็นตัวแทนของคนหรือสถานที่ในความทรงจำ หรือรู้สึกปลอดภัยและสบายใจเมื่ออยู่ท่ามกลางสิ่งของที่เก็บไว้
  • หาสิ่งของที่ต้องการไม่เจอ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ตามปกติ เช่น ไม่มีที่เดิน ไม่สามารถใช้ห้องน้ำ ห้องนอน และห้องครัวได้ เพราะเต็มไปด้วยสิ่งของจำนวนมาก
  • รู้สึกไม่พอใจเมื่อคนอื่นมาช่วยจัดหรือนำสิ่งของที่เก็บไว้ไปทิ้ง หรือไม่ยอมให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง
  • เกิดปัญหาสุขภาพ เนื่องจากการเก็บสะสมสิ่งของทำให้ทำความสะอาดลำบาก เกิดการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค นอกจากนี้ อาจกลายเป็นแหล่งของมีสัตว์มีพิษและแมลงได้
  • เกิดอุบัติเหตุ เช่น สะดุดหกล้ม และขวางทางหากเกิดเหตุไฟไหม้หรือเหตุด่วนเหตุร้ายที่ต้องหนีออกมาจากบ้าน
  • เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ทะเลาะกับคนในครอบครัว คนที่พักอาศัยด้วย ได้รับคำตำหนิจากเพื่อนบ้าน หรือคนที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจสะสมสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งของ เช่น สะสมสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมวจำนวนมาก ซึ่งสัตว์มักถูกขังอยู่ในกรงหรือจำกัดบริเวณ และมักไม่ได้รับการดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ความสะอาดของสัตว์เลี้ยงและที่อยู่ และการไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์อย่างเหมาะสม

โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของแตกต่างจากคนที่สะสมของที่ชอบ เช่น สแตมป์ และหนังสือการ์ตูน เพราะการสะสมของเหล่านี้จัดเป็นงานอดิเรกที่มาจากการตั้งใจเก็บเฉพาะของบางอย่างอย่างมีระบบระเบียบ และไม่ได้เก็บของอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น จึงไม่ส่งผลเสียการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพ

สาเหตุของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

นิสัยส่วนตัว

คนที่เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของมักมีนิสัยตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่มีทักษะแก้ปัญหาและจัดระเบียบ จึงไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกับของที่ไม่จำเป็น บางคนอาจมีนิสัยชอบซื้อของไม่จำเป็นมาตุนไว้โดยไม่ยั้งคิด เมื่อสะสมมาก ๆ อาจทำให้กลายเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ

บางคนอาจมีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งไม่ชอบความผิดพลาด และคิดว่าการตัดสินใจและการวางแผนจัดการสิ่งของต่าง ๆ ล่วงหน้าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงมีแนวโน้มเก็บสิ่งของต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด

ครอบครัวและประสบการณ์ในวัยเด็ก

หากครอบครัวขัดสนเรื่องเงิน ไม่สามารถซื้อของที่อยากได้ในวัยเด็ก เคยถูกขโมยของหรือนำของที่รักไปทิ้ง หรือถูกผู้ปกครองทอดทิ้ง ทำให้ไม่ได้รับสิ่งของที่จำเป็นในการใช้ชีวิต อาจทำให้เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของได้ นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น

เหตุการณ์อันเลวร้าย

เหตุการณ์อันเลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจอาจทำให้เกิดโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ เช่น

โรคประจำตัว

การได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง โรคทางจิต เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัวการเข้าสังคม โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (PWS) และการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจเกี่ยวข้องกับโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ

ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและจะแสดงอาการชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และอาจพบมากในกลุ่มคนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปอีกด้วย 

แนวทางการรักษาโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ

ผู้ที่เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของมักไม่ได้ไปพบแพทย์เพราะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการของโรค นอกจากจะมีอาการของโรคอื่น เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น คนรอบข้างจึงควรสังเกตอาการของผู้ป่วย และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงมากอาจใช้การปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้อาการชอบเก็บสะสมสิ่งของดีขึ้น เช่น

  • เริ่มวางแผนการกำจัดสิ่งของที่มีอยู่โดยนำไปทิ้ง หรือนำไปบริจาค หากไม่สามารถตัดใจรวบรวมสิ่งของไปทิ้งได้ครั้งละมาก ๆ อาจเริ่มจากการเลือกสิ่งของไปทิ้งวันละ 1 ชิ้น
  • กำหนดเวลาในการกำจัดสิ่งของ เช่น เก็บเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่นานกว่า 1 ปีไปบริจาค เก็บนิตยสารและหนังสือที่ไม่ได้อ่านเกินกว่า 6 เดือนไปขายหรือให้คนอื่น
  • ยกเลิกการสมัครสมาชิกนิตยสาร หรืออีเมลแนะนำสินค้าใหม่และโปรโมชั่นต่าง ๆ และทยอยลบอีเมลที่ไม่จำเป็นออก
  • ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องซื้อหรือเก็บสะสมสิ่งของเพิ่มขึ้น เช่น ดูภาพยนตร์ ออกกำลังกาย เดินเล่นในสวนสาธารณะ และชมนิทรรศการที่หอศิลป์ เป็นต้น
  • ถ่ายรูปบ้านในช่วงก่อนและหลังการทิ้งสิ่งของ เพื่อให้รู้ว่าสามารถกำจัดสิ่งของออกไปได้มากเท่าไรแล้ว
  • เขียนไดอารี่บันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน เพื่อสำรวจอารมณ์และพฤติกรรมการชอบเก็บสะสมสิ่งของ และพูดคุยกับคนที่สนิท เพื่อช่วยลดความไม่สบายใจ และผ่อนคลายความเครียด
  • เมื่อสามารถตัดใจทิ้งสิ่งของต่าง ๆ ได้แล้ว อาจให้รางวัลตัวเองด้วยการดูรายการโทรทัศน์ที่ชอบ ไปเที่ยวกับเพื่อน หรือกินอาหารในร้านอาหารที่อยากลองไปกิน
  • หาเวลาดูแลตัวเอง เช่น กินอาหารที่มประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ และฝึกหายใจ

หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด และการกินยาที่ช่วยบรรเทาอาการ เช่น

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)

การบำบัดความคิดและพฤติกรรมเป็นจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งที่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อช่วยสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดพฤติกรรมชอบเก็บสะสมสิ่งของ เช่น นิสัยส่วนตัว และการเลี้ยงดู เพื่อหาวิธีปรับความคิดและพฤติกรรมชอบเก็บของจำนวนมากผิดปกติ รวมทั้งแนะนำวิธีการจัดเก็บสิ่งของอย่างเป็นระเบียบ และแนวทางป้องกันการสะสมสิ่งของเพิ่มเติมในภายหลัง

การใช้ยา

ในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของโดยตรง แพทย์อาจให้ยาต้านเศร้า เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI และกลุ่ม SNRI ซึ่งใช้รักษาอาการทางจิตอื่น ๆ และอาจช่วยในการรักษาชอบเก็บสะสมสิ่งของได้

โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของจัดเป็นโรคทางจิตเวชที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยจิตแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในการเก็บสะสมสิ่งของที่มากผิดปกติ ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว