Sadist ซาดิสม์ พฤติกรรมเสพสุขจากความทุกข์

Sadist หรือซาดิสม์ เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีบุคลิกภาพบกพร่องรูปแบบหนึ่ง คนที่เป็นซาดิสม์มักเกิดความรู้สึกในทางบวกอย่างพึงพอใจ มีความสุข ตื่นเต้น หรือแม้แต่เกิดอารมณ์ทางเพศ เมื่อรับรู้ว่าคนอื่นเจ็บปวดหรือเสียใจ ซึ่งคนที่เป็นซาดิสม์อาจเป็นคนที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดนั้นด้วยตนเอง หรืออาจเป็นเพียงคนที่เฝ้าดูเหตุการณ์นั้นก็ได้เช่นกัน

Sadism คือ การมีความสุขจากความเจ็บปวดของคนอื่น โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศหรือการทำร้ายร่างกายเสมอไป แต่อาจแสดงออกมาในรูปแบบอื่นได้ด้วย เช่น การทำให้ผู้อื่นเกิดความทรมานใจหรือล้มเหลวในเรื่องบางเรื่อง ไปจนถึงทำให้คนอื่นเกิดปัญหากัน ซึ่งความผิดปกติทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพนี้อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริง คนที่มีพฤติกรรมนี้อาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

Two,Male,Hands,Getting,Close,For,A,Handshake,With,A

พฤติกรรมแบบไหนที่เรียกว่าเป็นคน Sadist?

Sadist คือ คนที่รู้สึกพึงพอใจ เมื่อได้เห็นคนอื่นเกิดความเจ็บปวดทั้งทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางจิตใจ เช่น การทุบตี การล่วงละเมิดทางเพศ การด่าทอดูถูกเหยียดหยาม และการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งคนที่เป็นซาดิสม์อาจเป็นคนที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดนั้นด้วยตนเอง เป็นคนสั่งการ หรือเป็นผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดนั้น ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือแม้แต่การได้เป็นผู้มองเห็นการกระทำดังกล่าวโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นเลย โดยอาจสังเกตคร่าว ๆ ได้จากความรู้สึกและพฤติกรรมต่อไปนี้

  • จงใจทำร้ายคนอื่นเพียงเพราะอยากทำหรือรู้สึกว่าทำได้
  • รู้สึกอยากทำร้ายคนอื่นเมื่อรู้สึกโกรธหรือโมโห
  • ดูถูกเหยียดหยามเพื่อควบคุมคนอื่นหรือเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
  • รู้สึกดีเมื่อได้ทำร้ายหรือเห็นคนอื่นถูกทำร้าย

รู้จักพฤติกรรมของผู้ที่เป็น Sadist ให้มากขึ้น

พฤติกรรมชื่นชอบในความรุนแรงนี้แบ่งออกได้หลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่รูปแบบของ Sadist ที่คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยหรือพบได้บ่อยกว่ารูปแบบอื่นมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน

Sexual Sadism Disorder

Sexual Sadism Disorder คือ โรคพฤติกรรมทางเพศบกพร่องรูปแบบหนึ่งที่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยความรุนแรงกับเรื่องเพศอาจเป็นภาพจำของหลายคนเกี่ยวกับการเป็นคนซาดิสม์ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะเกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อได้เห็นหรือได้ทำร้ายร่างกาย ดูถูกเหยียดหยาม หรือทำให้อีกฝ่ายเกิดความกลัว รวมไปถึงพฤติกรรมอื่นที่ทำให้เจ็บปวดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และลดทอนความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม

ตัวอย่างของพฤติกรรม Sexual sadism ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมทางเพศ เช่น

  • การกักขัง มัดด้วยเชือก ล่ามโซ่ หรือใส่กุญแจมือ
  • การทำร้ายร่างกายด้วยการเฆี่ยนหรือทุบตี
  • การตะคอก ด่าทอ ดูถูก หรือข่มขู่

นอกจากนี้คนที่มีอาการของ Sexual Sadism Disorder อาจมีพฤติกรรมหรือการทำร้ายในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ ซึ่งพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านี้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงและนำไปสู่การเสียชีวิต อีกทั้งยังผิดต่อกฎหมายหากอีกฝ่ายถูกบังคับ ไม่ยินยอม หรือมีการกระทำที่เกินขอบเขต

อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงบางรูปแบบมาเกี่ยวข้องอาจไม่ได้จัดว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติเสมอไป หากยังอยู่ในขอบเขตและไม่ได้หมกมุ่นกับพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่หากพบว่าตนเองรู้สึกอยากทำร้ายร่างกายทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมทางเพศจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ หรือมีอาการติดต่อกันนานหลายเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ

Everyday Sadism

หลายคนอาจไม่คุ้นกับคำนี้มากเท่าไหร่  Everyday Sadism เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า พฤติกรรมซาดิสม์ในชีวิตประจำวัน เพราะผู้ที่มีพฤติกรรม Everyday Sadism มักไม่ได้แสดงความรุนแรงต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งชัดเจน แต่มักมาในรูปแบบการทำร้ายหรือกลั่นแกล้งคนอื่นในชีวิตประจำวันแทน พื้นฐานความผิดปกติของ Everyday Sadism คือ การขาดความเห็นอกเห็นใจและความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ ความรู้สึกต่อต้านสังคมและความสัมพันธ์ และมีเจตนาที่จะทำร้ายคนอื่นโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้คำพูด กลั่นแกล้ง และทำร้ายร่างกายเพื่อทำให้ผู้อื่นเกิดความทุกข์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงชื่อเสียง

ตัวอย่างของ Everyday Sadism อาจสังเกตได้จากความรู้สึกและพฤติกรรมเหล่านี้

  • ชอบดูถูกหรือล้อเลียนคนอื่น
  • รู้สึกมีความสุขเมื่อคนอื่นเจ็บปวด
  • หากรู้สึกว่าตนเองถูกทำร้ายจะเกิดความแค้นและพยายามเอาคืนอีกฝ่าย

นอกจาก Sexual Sadism Disorder และ Everyday Sadism แล้ว ยังมีพฤติกรรมซาดิสม์ในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น Explosive Sadist ที่มักเป็นคนโมโหร้าย ควบคุมตนเองไม่ได้ เมื่อโกรธมักทำร้ายร่างกายคนรอบตัวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว หรือ Tyrannical Sadist ที่ชอบบีบบังคับคนอื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการหรือกดคนอื่นให้อยู่ใต้คำสั่งของตัวเอง เป็นต้น

มาถึงตรงนี้อาจเห็นได้ว่า อาการซาดิสม์อาจไม่ได้หมายถึงการทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว และผู้ที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมและความคิดในรูปแบบนี้อาจไม่ได้อยู่ไกลตัวอย่างที่คิด

ดูอย่างไรว่าใครมีพฤติกรรม Sadist?

ในบทความนี้จะขอพูดถึงพฤติกรรม Everyday Sadism เนื่องจากเป็นรูปแบบของพฤติกรรมซาดิสม์ที่พบได้บ่อยหรือพบได้ในชีวิตประจำวัน โดยการมองในภาพรวมอาจไม่สามารถระบุได้ว่าใครบ้างที่มีแนวโน้มของพฤติกรรมนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับผู้ที่มีพฤติกรรมนี้ว่าอาจเกิดร่วมกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่น ๆ ได้แก่

  • ไซโคพาธ (Psychopathy) คือ พฤติกรรมต่อต้านสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับใครได้อย่างแท้จริง หรืออาจไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องความรัก ความผิดชอบชั่วดี หรือศีลธรรม
  • โรคหลงตัวเอง (Narcissism) คือ พฤติกรรมที่มองว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ขาดความเห็นใจต่อคนอื่น ต้องการคำสรรเสริญ และการเคารพนับถือ
  • บุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียน (Machiavellianism) ผู้ที่มีบุคลิกภาพนี้มักสามารถพูดจูงใจ ล่อลวง หรือแสดงว่าตนเองนั้นหวังดีต่อผู้อื่นเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง

โดย 3 ความผิดปกตินี้มีลักษณะความคิดและพฤติกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เช่น ชอบควบคุมคนอื่น เอาตนเองเป็นที่ตั้ง สามารถกล่าวหา ใส่ร้าย ยุยง หรือสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความขัดแย้งหรือทำให้ใครคนหนึ่งได้รับผลกระทบ เอาผลประโยชน์ตนเองเป็นหลัก กีดกันคนอื่นจากการได้รับโอกาสและความสนใจ พฤติกรรมบุลลี่ ดูถูกเหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่าของคนอื่น โดยอาจเป็นคนลงมือเองหรืออยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น ๆ และพฤติกรรมซาดิสม์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งนี้อาจรุนแรงขึ้นเมื่อเหยื่อไม่โต้ตอบหรือไม่สามารถโต้ตอบได้

ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นใครก็ได้ในสังคมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมชั้น หรือคนในครอบครัว ซึ่งในบางครั้งคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมักวางตัวให้ดูน่าเชื่อถือเพื่อกลบร่องรอยของพฤติกรรม

งานศึกษาที่ทดลองเกี่ยวกับข้อมูลด้านอื่นของผู้ที่เป็น Sadist หรือผู้ที่มีแนวโน้มของพฤติกรรมรูปแบบนี้ พบว่าผู้ที่มีความบกพร่องดังกล่าวอาจมีพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เช่น ชื่นชอบในการเล่นวิดีโอเกมที่มีเนื้อหารุนแรง มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งคนผ่านช่องทางออนไลน์ (Internet Trolling) อย่างไรก็ตาม การเสพสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงอาจเป็นเพียงรสนิยมเท่านั้น และอาจไม่ได้เกี่ยวกับความผิดปกติแต่อย่างใด จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่การกลั่นแกล้งทางออนไลน์เพียงเพราะความพอใจหรือความสนุกไม่เพียงเป็นสัญญาณของพฤติกรรมซาดิสม์ แต่อาจนำไปสู่การผิดกฎหมายได้

แม้ว่าพฤติกรรมในข้างต้นจะไม่เหมือนคนซาดิสม์ที่หลายคนเข้าใจ แต่การถูกกระทำในรูปแบบดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานใจ หรือปัญหาชีวิตต่อผู้ที่ถูกกระทำได้ไม่น้อย จึงควรระมัดระวังคนที่อาจมีแนวโน้มของพฤติกรรมซาดิสม์

วิธีรับมือจากผู้ที่เป็น Sadist

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า Everyday Sadism เป็นกลุ่มย่อยของคน Sadist ที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าหมายของผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวอาจทำได้ดังนี้

  1. หากรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบหรือคุกคามอย่างตั้งใจ ควรหาวิธีตอบโต้กลับอย่างฉลาดและถูกต้อง เพื่อป้องกันการเพิ่มระดับของพฤติกรรมความรุนแรง
  2. ควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงพฤติกรรมของผู้ที่เป็นซาดิสม์หรือพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้น เพราะผู้ที่มีพฤติกรรมนี้มักมองว่าตนเองถูกเสมอ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของตนเองจะเกิดความไม่พอใจอย่างมาก โดยอาจทำร้ายหรือด่าทอผู้ที่ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องนั้น
  3. บางครั้งคนเหล่านี้มักทำร้ายหรือกลั่นแกล้งคนอื่นโดยเจตนา แต่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นบ่อย ๆ หรือรู้สึกว่าเป็นการกระทำอย่างจงใจ ควรระมัดระวังคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ไว้
  4. ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ไม่ควรไว้ใจคนเหล่านี้ หากทราบว่าต้องอาศัยหรือมีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีพฤติกรรมซาดิสม์ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และควรค่อย ๆ ถอนตัวออกมาหรือขอความช่วยเหลือ
  5. หากแต่งงานหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นซาดิสม์ ควรทำใจให้กว้างเพื่อรับมือกับพฤติกรรมเหล่านั้น และขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการปรับตัวหรืออยู่ร่วมกับผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

การทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เป็น Sadist อาจเสี่ยงต่อปัญหาทางอารมณ์ อย่างความเครียดหรือความหงุดหงิดได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงคนเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและอารมณ์ แต่หากโดนคุกคามหรือกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง ควรแจ้งผู้ที่มีอำนาจในการจัดการ

สุดท้ายนี้ หากคาดว่าตนเองมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็น Sadist ควรปรึกษาแพทย์ เพราะในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีที่ช่วยรักษาและบำบัดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีพฤติกรรมในรูปแบบดังกล่าวมักไม่เข้ารับการรักษาด้วยตนเอง แต่มักมาจากการถูกจับหรือบังคับเพื่อให้เข้ารับการรักษา