Perfectionist เมื่อชีวิตนิยมความสมบูรณ์แบบ

ไม่ว่าใครต่างก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้ แต่สำหรับบางคนกลับคิดว่าความพยายามของตัวเองหรือคนที่คาดหวังไม่เคยดีพอ และกลัวว่าจะเกิดความล้มเหลวในสิ่งที่ทำ คนกลุ่มนี้เรียกว่า Perfectionist ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบตั้งมาตรฐานของการกระทำและผลลัพธ์ไว้สูงมากจนอาจเกินความเป็นจริง และพยายามทำทุกทางจนกว่าผลลัพธ์จะออกมาไร้ที่ติ 

ความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นแรงผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้นได้ แต่นิสัยรักความสมบูรณ์ของ Perfectionist มักนำไปสู่ความเครียดและบั่นทอนความสุขในชีวิตได้มากกว่า จนอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ หรือแม้แต่การทำร้ายตัวเอง และในท้ายที่สุดแนวคิดและผลกระทบเหล่านี้อาจกลายเป็นสิ่งกีดขวางที่ทำให้เราหยุดพยายามในการมุ่งสู่ความสำเร็จ

 Perfectionist เมื่อชีวิตนิยมความสมบูรณ์แบบ

Perfectionist มีลักษณะอย่างไร?

ผู้ที่มีความเป็น Perfectionist มักมีแรงผลักดันจากอุปนิสัยส่วนตัวที่ไม่ต้องการเผชิญความล้มเหลวหรือได้รับคำตำหนิ นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอย่างแรงกดดันจากการอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง และอิทธิพลของการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนมีแนวโน้มที่จะเป็น Perfectionist สูงขึ้น เนื่องจากต้องการการยอมรับจากผู้อื่น

นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะของ Perfectionist เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Self-Oriented Perfectionism คือผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้ตัวเอง
  2. Other-Oriented Perfectionism คือผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้คนรอบข้าง อย่างเพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว
  3. Socially-Prescribed Perfectionism คือผู้ที่เชื่อว่าหากตัวเองเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบตามความคาดหวังจะทำให้เป็นที่ยอมรับ

โดยทั่วไป Perfectionist มักมีลักษณะนิสัยดังต่อไปนี้

  • ตั้งมาตรฐานในการทำงานหรือการทำสิ่งต่าง ๆ ไว้สูงเกินความเป็นจริง 
  • มักตั้งคำถามในแง่ลบเกี่ยวกับรูปลักษณ์และความสามารถของตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองยังมีข้อผิดพลาดและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่สมบูรณ์แบบ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดความล้มเหลว เช่น บ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธงานเพราะกลัวว่าจะไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  • ใช้เวลาทำสิ่งต่าง ๆ นานกว่าคนทั่วไป และมักเริ่มลงมือทำในวินาทีสุดท้ายก่อนจะถึงเวลาที่กำหนด เพื่อใช้เป็นข้อแก้ตัวเมื่อผลงานมีข้อผิดพลาด
  • ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของผู้อื่น และมักหาจุดบกพร่องในสิ่งที่ผู้อื่นทำ
  • ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกจริง ๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา
  • ควบคุมหรือบงการความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวัง

Perfectionist กับผลกระทบต่อสุขภาพ

Perfectionist ไม่ได้ถูกจัดเป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิตโดยตรง แต่เป็นลักษณะนิสัยหนึ่งของคนที่ต้องการให้ผลลัพธ์ของความพยายามออกมาตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม Perfectionist หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญในการเดินไปสู่เป้าหมายในอนาคต แต่ยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต และทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลว จึงมักทำให้เกิดความเครียดที่อาจนำไปสู่โรควิตกกังวลและโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ตามมา

ผู้ที่มีความเป็น Perfectionist มักมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ ซึ่งนอกจากจะวัดคุณค่าในตัวเองจากความสำเร็จในการทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ ยังตั้งมาตรฐานในรูปลักษณ์ของตัวเองไว้สูงอีกด้วย มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่มีความเป็น Perfectionist สูง มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติด้านการกิน (Eating Disorders) อย่างอะนอเร็กเซีย (Anorexia) และบูลิเมีย (Bulimia) ได้มาก เนื่องจาก Perfectionist มักมีนิสัยโทษตัวเอง เมื่อไม่พอใจในรูปร่าง จึงอาจนำไปสู่ความพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ผิดได้

ทั้งนี้พบว่าผู้ที่เป็น Perfectionist อาจมีอาการของภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Personality Disorder : OCPD) ร่วมด้วย โดยมักมีนิสัยหมกมุ่นกับรายละเอียดหรือกฎระเบียบ และทุ่มเทกับสิ่งที่ทำจนกว่าจะออกมาไร้ที่ติ จึงทำให้ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น

ปรับลดนิสัย Perfectionist อย่างไรดี?

Perfectionist มักคิดว่าความผิดพลาดแสดงถึงความอ่อนแอ และเชื่อว่าจุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยจะนำไปสู่ปัญหาที่แก้ไขได้ยากหรือเป็นอุปสรรคที่ทำให้ทำให้เกิดความล้มเหลว หากปล่อยวางความคิดที่ทำให้เกิดความเครียดลงบ้าง อาจช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยอาจเริ่มด้วยการใช้วิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตั้งเป้าหมายต่อตัวเองและคนรอบข้างในสิ่งที่เป็นไปได้และสามารถทำได้จริง การตั้งมาตรฐานสูงเกินความสามารถอาจทำให้รู้สึกท้อ และกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ หรือส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
  • ให้เวลาตัวเองและทบทวนมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยปรับลดความคิดที่ตึงเครียดหรือบั่นทอนตัวเอง และลองคิดในมุมของผู้อื่นว่าจะจัดการอย่างไรหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
  • ให้อภัยตัวเองเมื่อเกิดความผิดพลาด นึกไว้เสมอว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้น เพื่อปรับปรุงจุดบกพร่องของตัวเองให้ดีขึ้น
  • ใช้เวลายินดีกับความสำเร็จของตัวเองก่อนที่จะเริ่มคิดถึงงานหรือเป้าหมายใหม่ รวมทั้งรับฟังคำชื่นชมที่ผู้อื่นให้

หากไม่สามารถรับมือกับนิสัยความเป็น Perfectionist ได้ด้วยตัวเอง รู้สึกเครียด หรือมีพฤติกรรมผิดปกติที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้รับฟังปัญหาและแนะนำวิธีรักษาที่อาจช่วยให้คุณปรับความคิดได้อย่างเหมาะสม เช่น การรักษาด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy) และศิลปะบำบัด (Art Therapy) หรือหากมีความคิดทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา