ไซโคพาธ อาการทางจิต สาเหตุ และวิธีรักษา

ไซโคพาธ (Psychopath) คือคนที่มีอาการผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีนิสัยต่อต้านสังคม เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และไม่รู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเอง ทั้งนี้ ไซโคพาธไม่จัดเป็นโรคโดยตรงตามคู่มือวินิจฉัยสำหรับความผิดปกติทางจิต โดยจัดเป็นความผิดปกติที่อยู่ในกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder: ASPD)

นิสัยของไซโคพาธมีแนวโน้มก่ออาชญากรรมร้ายแรง นักนิติจิตวิทยา (Forensic Psychologists) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจึงใช้ลักษณะอาการของไซโคพาธเพื่อประกอบการสืบสวนเมื่อเกิดคดีอาชญากรรม บทความนี้ได้รวบรวมลักษณะของคนที่เข้าข่ายไซโคพาธ สาเหตุ และวิธีที่อาจใช้ในการรักษาไซโคพาธเอาไว้แล้ว

ไซโคพาธ อาการทางจิต สาเหตุ และวิธีรักษา

ไซโคพาธมีลักษณะอย่างไร

อาการของไซโคพาธมักเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งพบได้บ่อยเมื่อมีอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่บางคนอาจเกิดอาการได้หลังจากโตขึ้น โดยลักษณะของคนที่เข้าข่ายไซโคพาธแต่ละคนอาจแตกต่างกัน โดยลักษณะที่พบมักคล้ายกับผู้ที่เป็นรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม เช่น

  • มีท่าทีแข็งกระด้าง เย็นชา ไม่ค่อยแสดงอารมณ์
  • แสดงความผิดปกติทางอารมณ์และความคิดที่ขัดต่อระเบียบแบบแผนของสังคม
  • ไม่สามารถแยกแยะความถูกต้องและความผิดได้
  • ชอบโกหกคนอื่นและหลอกตัวเอง
  • หลงตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำตามความต้องการของตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น
  • เบื่อง่าย ฉุนเฉียวง่าย แสดงอารมณ์โมโหร้ายบ่อยโดยไม่สามารถควบคุมได้
  • ชอบบังคับควบคุมหรือทำร้ายผู้อื่น 
  • กล้าเสี่ยงอันตรายโดยไม่สนใจเรื่องความปลอดภัย
  • ชอบความตื่นเต้นและความแปลกใหม่ เบื่อง่าย ชอบแหกกฎ 
  • ไม่มีคนที่สนิทสนม และมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เช่น หย่าร้างบ่อย
  • ใช้สารเสพติด มีพฤติกรรมรุนแรงซ้ำ ๆ เช่น ทำร้ายเด็ก ทำร้ายสัตว์ และมีประวัติก่ออาชญากรรม เช่น ลักขโมย หลอกลวง 

ทั้งนี้ ไซโคพาธบางคนอาจมีเสน่ห์ดึงดูดภายนอก (Superficial Charm) เช่น พูดคุยเก่ง และมีอารมณ์ขัน และบางคนอาจไม่ได้มีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งผลการศึกษาพบว่าไซโคพาธบางกลุ่มประสบความสำเร็จในชีวิตและมีแนวโน้มที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้นำ

ไซโคพาธเกิดจากอะไร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้คนคนหนึ่งมีลักษณะนิสัยของไซโคพาธหรือมีอาการผิดปกติในกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม โดยอาจเป็นผลจากปัจจัยภายในของผู้ป่วยร่วมกับปัจจัยภายนอก อย่างสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยเติบโตมา เช่น

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีลักษณะอาการของไซโคพาธ อาจส่งต่อลักษณะนี้ไปยังสมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้
  • ความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ที่เกี่ยวข้องกับการคิด การตัดสินใจ และการวางแผน และสมองส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ที่เกี่ยวข้องกับการสื่ออารมณ์ เช่น ความกลัว รวมทั้งความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่อาจเกิดจากพันธุกรรม และการได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง
  • ปัญหาครอบครัวและประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทอดทิ้ง การถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือจิตใจ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่หย่าร้าง พบเห็นการก่ออาชญกรรมจากคนในครอบครัวและคนในชุมชน คบเพื่อนที่มีพฤติกรรมรุนแรง
  • ลักษณะบุคลิกภาพบางอย่างในวัยเด็ก เช่น มีนิสัยฉุนเฉียวง่าย หุนหันพลันแล่น
  • โรคทางจิตเวช เช่น พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder) และสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการของโรคกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม

ไซโคพาธรักษาได้หรือไม่

เนื่องจากไซโคพาธไม่ได้จัดเป็นโรคตามคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) โดยตรง จิตแพทย์จะประเมินความคิด ความรู้สึก รูปแบบพฤติกรรม และความสัมพันธ์ของผู้ป่วย และนำมาเทียบกับเกณฑ์ของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมจะมีอาการอย่างน้อย 3 อาการจากเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมและทำสิ่งผิดกฎหมาย
  • หงุดหงิด ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น มักทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น
  • ไม่สนใจความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น
  • มีพฤติกรรมโกหกซ้ำ ๆ โดยอาจใช้นามแฝงหลอกลวงผู้อื่นเพื่อความสุขหรือผลประโยชน์ส่วนตัว
  • ขาดความสำนึกผิด ไม่ใส่ใจหรือไม่คิดถึงเหตุผลเมื่อทำร้ายหรือปฏิบัติตัวไม่ดีต่อผู้อื่น
  • มีปัญหาด้านความรับผิดชอบในหน้าที่การงานและการเงิน

ไซโคพาธและโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมรักษาได้ยาก การลงโทษตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวมักไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีความด้านชาทางอารมณ์ จึงควรเข้ารับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรง การก่ออาชญากรรม และพฤติกรรมที่ทำร้ายผู้อื่น โดยอาจใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น

การปรับพฤติกรรมในเชิงบวก

หากวินิจฉัยพบอาการไซโคพาธตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น อาจรักษาด้วยการฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น เช่น การฝึกความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น การพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว การจัดการความเครียด และการให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมดี

การใช้ยา

การใช้รักษาโรคทางจิตเวชที่เกิดร่วมกับไซโคพาธ เช่น ยารักษาโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แม้จะยังไม่มียาที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) รับรองให้ใช้รักษาโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมโดยตรง แต่ยารักษาโรคทางจิตเวช เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI ยาต้านอาการทางจิต และยากันชัก อาจช่วยปรับสภาวะอารมณ์ในเชิงลบ และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

จิตบำบัด

การพูดคุยกับนักจิตบำบัด การปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) และการบำบัดแบบแผนความคิด (Schema Therapy: ST) ควบคู่กับการใช้ยาอาจช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น โดยนักจิตบำบัดจะช่วยวิเคราะห์สาเหตุของพฤติกรรม และให้คำแนะนำในการปรับอารมณ์และพฤติกรรมให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ไซโคพาธที่มีภาวะใช้สารเสพติดผิดปกติ (Substance Used Disorders) เช่น สุราและยาเสพติดอาจให้เข้ารับบำบัดการใช้สารเสพติด โดยสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงผลเสียของการใช้สารเสพติดที่อาจกระตุ้นให้อาการไซโคพาธรุนแรงขึ้น

คนที่มีลักษณะไซโคพาธมักมีนิสัยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โมโหร้าย ไม่ทำตามกฎระเบียบของสังคม จึงมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมได้ โดยจัดอยู่ในกลุ่มโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมที่ควรได้รับการรักษา จิตแพทย์และนักจิตบำบัดจะวินิจฉัยอาการและให้การรักษา เพื่อลดความรุนแรงของอาการ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และป้องกันคนใกล้ตัวได้รับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาการของไซโคพาธ