พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder)

ความหมาย พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder)

Conduct Disorder (พฤติกรรมเกเรรุนแรง) คือ โรคความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ในเด็กหรือวัยรุ่น โดยเด็กหรือวัยรุ่นที่ป่วยมักมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายข้าวของ โกหกเป็นนิสัย หรือมีปัญหาในการปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบต่าง ๆ 

โดยปกติแล้วพฤติกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นอาจพบได้ในเด็กวัยกำลังเจริญเติบโตเป็นบางครั้ง ผู้ปกครองหรือคนรอบข้างส่วนใหญ่จึงอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จริง ๆ แล้วมีความเป็นไปได้ที่เด็กอาจกำลังป่วยเป็น Conduct Disorder ซึ่งหากพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อเป็นเวลานานและมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือการดำเนินชีวิตของตัวเด็กและคนในครอบครัว ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิดควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจเกิดพฤติกรรมรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้

พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder)

อาการของ Conduct Disorder

อาการของ Conduct Disorder อาจแตกต่างกันตามอายุของเด็กและความรุนแรงของโรค โดยกลุ่มพฤติกรรมที่มักพบ ได้แก่

  • พฤติกรรมก้าวร้าว คุกคามหรือรังแกผู้อื่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทารุณสัตว์ หรือล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น
  • ทำลายข้าวของ หรือลอบวางเพลิงโดยเจตนา
  • โกหกบ่อย ๆ ลักขโมย ย่องเบา หรือปลอมแปลงสิ่งของ
  • ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่น หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้าน ก่อกวนผู้อื่น มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการของ Conduct Disorder ส่วนใหญ่อาจพบได้ในเด็กทั่วไป แต่หากพบพฤติกรรมดังกล่าวอยู่บ่อย ๆ จนผิดปกติ ผู้ปกครองอาจพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหรือรับการตรวจโดยเร็ว เนื่องจากการรักษา Conduct Disorder ตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยชะลอการดำเนินของโรคและลดความรุนแรงของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

สาเหตุของ Conduct Disorder

ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดพฤติกรรมเกเรรุนแรงที่แน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • พันธุกรรม เด็กที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยทางจิตอาจมีแนวโน้มในการเกิดพฤติกรรมเกเรรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคทางอารมณ์ (Mood Disorder) โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) โรคทางจิตเวชจากการใช้สารเสพติด (Substance Use Disorder) หรือโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder) เป็นต้น
  • ความผิดปกติทางสมอง พฤติกรรมเกเรรุนแรงอาจเป็นผลจากสมองส่วนหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม แรงกระตุ้น อารมณ์ หรือกระบวนการคิดและการรับรู้มีความผิดปกติจากพันธุกรรม หรือถูกทำลายจากการกระทบกระเทือนบริเวณสมอง 
  • สภาพแวดล้อมและสังคมที่อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเกเรรุนแรง เช่น การเลี้ยงดูในครอบครัว ประวัติการถูกทารุณในเด็ก เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ประวัติการใช้สารเสพติดในครอบครัว การไม่ถูกยอมรับจากสังคมหรือคนใกล้ตัว เป็นต้น

นอกจากนี้พฤติกรรมเกเรรุนแรงอาจพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น เด็กที่ป่วยเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) เด็กที่มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติด เด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เป็นต้น

การวินิจฉัย Conduct Disorder

หากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของ Conduct Disorder แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นโดยการสอบถามประวัติโรคประจำตัวและอาการทางจิตเวชของผู้ป่วย หากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีสาเหตุการเกิด Conduct Disorder มาจากโรคทางกายอื่น ๆ แพทย์อาจตรวจร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan: CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจหาภาวะหรือโรคอื่นที่มักเกิดร่วมกับ Conduct Disorder อย่างภาวะซึมเศร้า หรือโรคสมาธิสั้นด้วย 

หากไม่พบความผิดปกติทางร่างกายใด ๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางอย่าง จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ซึ่งจะประเมินและวินิจฉัยอาการจากการพูดคุยกับผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดอย่างผู้ปกครองหรือคุณครู หรืออาจสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยร่วมด้วย

การรักษา Conduct Disorder

แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษา Conduct Disorder ที่เหมาะสมต่อเด็กแต่ละคนจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อายุของผู้ป่วย หรือความรุนแรงของอาการ โดยวิธีที่แพทย์มักใช้ในการรักษา ได้แก่

จิตบำบัด (Psychotherapy)

แพทย์จะพูดคุยและให้คำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ของตัวเอง การแสดงออกที่เหมาะสม การใช้หลักเหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เหมาะสม

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อรักษาอาการหรือโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดร่วมกับ Conduct Disorder เช่น โรคสมาธิสั้น หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจพูดคุยกับผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวของผู้ป่วยเพิ่มเติมเพื่อแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม หรือการสื่อสารเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและผู้ป่วยให้มากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Conduct Disorder

หากเด็กที่ป่วยเป็น Conduct Disorder ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การใช้ความรุนแรงต่อตัวเองหรือผู้อื่น การใช้สารเสพติด การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การทำผิดกฎหมาย และการฆ่าตัวตาย หรืออาจเกิดโรคความผิดปกติทางจิต อย่างโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โรคทางอารมณ์ (Mood Disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

การป้องกัน Conduct Disorder

เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิด Conduct Disorder การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่ผู้ปกครองอาจลดความเสี่ยงได้โดยการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อย่างสภาพแวดล้อมและสังคมของเด็กได้ เช่น สร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว ดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างเหมาะสม หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและเด็ก เป็นต้น