ความรุนแรงในครอบครัว วิธีรับมือและช่วยเหลือให้เหยื่อปลอดภัย

ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์แบบครอบครัว ทั้งระหว่างสามีภรรยา บุตรหลานกับพ่อแม่ หรือญาติมิตร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรงในครอบครัวขึ้น ทุกคนในครอบครัวมักได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การเรียนรู้วิธีรับมือและป้องกันตนเอง รวมถึงหมั่นสังเกตและช่วยเหลือคนรอบข้างจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาจช่วยให้ตนเองหรือผู้ที่กำลังเผชิญความรุนแรงผ่านพ้นปัญหานี้ไปด้วยดี และปรับความเข้าใจใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างปกติสุข

1750 ความรุนแรงในครอบครัว rs

ประเภทของความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงในครอบครัวนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศหญิงและเพศชาย แต่ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย และอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ในหลายรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้

  • ความรุนแรงทางร่างกาย เป็นการทำร้ายโดยใช้กำลัง เช่น ตบ ตี ทุบ ผลัก กัด เตะ หรือใช้กำลังเพื่อข่มขู่ เป็นต้น รวมถึงการขว้างปาข้าวของจนเสียหาย และการทำร้ายสัตว์เลี้ยงด้วย
  • ความรุนแรงทางคำพูด พูดโดยใช้อารมณ์ ตะคอก พูดจาหยาบคาย ใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจ เหยียดหยาม ข่มขู่ ทำให้กลัวหรืออับอาย
  • ความรุนแรงทางเพศ ใช้กำลังหรือข่มขู่เพื่อลวนลามทางเพศ เช่น จับของสงวนหรือสัมผัสร่างกายส่อไปในเรื่องทางเพศโดยผู้ถูกกระทำไม่เต็มใจ ข่มขืน หรือบังคับให้ดูขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
  • ความรุนแรงทางอารมณ์ ผู้กระทำอาจพยายามใช้อารมณ์เพื่อควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว เช่น กล่าวหาว่าคนรักนอกใจ พยายามเช็คโทรศัพท์มือถือของอีกฝ่ายตลอดเวลา ใช้คำว่ากล่าวที่รุนแรงเมื่ออีกฝ่ายทำไม่ได้ดั่งใจ วิพากษ์วิจารณ์การแต่งตัว บุคลิก และลักษณะการใช้ชีวิตโดยห้ามอีกฝ่ายตอบโต้เพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุม เป็นต้น นอกจากนี้ ความรุนแรงทางอารมณ์ยังรวมไปถึงการเพิกเฉยและไม่สนใจจนทำให้คุณภาพชีวิตของอีกฝ่ายแย่ลง เช่น ไม่ดูแล ไม่ให้กินอาหาร ไม่พาไปหาหมอ ไม่ให้ไปโรงเรียนหรือไปทำงาน ห้ามไปพบผู้อื่น และไม่แสดงความรักความห่วงใย เป็นต้น

ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

เหยื่อที่เผชิญความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจเกิดความเครียดอย่างต่อเนื่องจนส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ โดยเฉพาะเด็กที่บางครั้งก็เป็นเหยื่อเอง หรือบางครั้งก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการเห็นพ่อแม่ทะเลาะหรือใช้กำลังทำร้ายกัน ซึ่งมักเป็นผลกระทบในระยะยาวและอาจกินเวลานานจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

การถูกใช้ความรุนแรงหรือเห็นผู้อื่นในครอบครัวเผชิญความรุนแรงอาจทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว เศร้า สับสน และไม่มีความสุข เพราะไม่รู้ว่าจะป้องกันตัวเองและหาทางแก้ไขอย่างไร รวมทั้งอาจรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของคนในครอบครัวที่อาจได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้น และยังมีเด็กอีกหลายคนที่โทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกหดหู่จนมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง หรือร้องไห้อย่างหนัก ไม่รับประทานอาหารหรือไม่รู้สึกอยากอาหาร นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ฝันร้ายจนปัสสาวะรดที่นอน มีปัญหาในการพูดและการจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ไม่อยากไปโรงเรียน รู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องยาก ไม่อยากทำการบ้านและหมดความสนใจในการเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อน บางรายอาจรู้สึกโกรธจนทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ ตลอดจนอาจหันไปพึ่งยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาความทุกข์

สัญญาณของความรุนแรงในครอบครัว

เหยื่อที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวมักไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟังตรง ๆ เนื่องจากกลัวว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงหากผู้ที่กระทำความรุนแรงรู้ว่าตนเองนำเรื่องไปบอกผู้อื่น อีกทั้งบางครั้งเหยื่อก็รู้สึกผิดหรือโทษตัวเองเสียเอง คนรอบข้างจึงควรหมั่นสังเกตสัญญาณของความรุนแรงในครอบครัว หากพบว่าคนใกล้ชิดมีร่องรอยการถูกทำร้ายบนร่างกาย อย่างรอยช้ำ รอยถลอก บาดแผลต่าง ๆ รวมทั้งดูวิตกกังวลหรือซึมเศร้าผิดปกติ และไม่อยากเข้าสังคมหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเหมือนแต่ก่อน ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าบุคคลดังกล่าวกำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอยู่

นอกจากนี้ เหยื่ออาจแสดงอาการหวาดกลัวต่อผู้กระทำความรุนแรง เช่น ไม่กล้าสบตาและไม่กล้าขัดใจคนในครอบครัวหรือคู่ครองของตนเอง เล่าว่าสามีหรือภรรยามักตัดสินใจคนเดียวทุกอย่าง หรือมีนิสัยขี้หึง เจ้าอารมณ์ ชอบบงการ ตนต้องขออนุญาตก่อนจะทำอะไรหรือไปข้างนอก ต้องรายงานให้รู้ตลอดเวลาว่าอยู่ที่ไหน หรือแสดงความกังวลและไม่อยากปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพังกับคู่ครองของตน เป็นต้น

วิธีรับมือเมื่อตนเองหรือคนในครอบครัวเผชิญความรุนแรง

ผู้ที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวหรือสงสัยว่าสมาชิกในครอบครัวกำลังเผชิญปัญหานี้ สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ขอความช่วยเหลือ หากตนเองหรือบุตรหลานถูกทำร้ายร่างกาย ควรขอความช่วยเหลือจากตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เช่น มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี สายด่วนโทร. 1134 เป็นต้น
  • ปฏิเสธและป้องกันตัว พึงระลึกไว้เสมอว่าเราทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตนเอง ผู้อื่นไม่มีสิทธิมาทำร้ายหรือล่วงละเมิดหากเราไม่ได้อนุญาตหรือเต็มใจ โดยเราสามารถปฏิเสธไม่ให้ใครมาสัมผัสในวิธีที่ทำให้รู้สึกไม่ดี และควรป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วย
  • ไม่กล่าวโทษตนเอง การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิดเสมอและถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง แม้คนที่กระทำจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม
  • อย่าเชื่อคำข่มขู่ของผู้ก่อความรุนแรง อย่ากลัวหากถูกข่มขู่ว่าจะถูกทำร้ายหากนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกคนอื่น เพราะมีคนที่พร้อมจะรับฟังปัญหาดังกล่าวและให้ความช่วยเหลือเสมอ การปกปิดเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวจะยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและคนในครอบครัว เพราะเมื่อนานไปก็อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ จึงควรบอกเล่าเพื่อให้คนเข้ามาช่วยเหลือได้ทันการณ์
  • เล่าเรื่องราวให้คนที่เชื่อใจได้และยินดีรับฟัง อาจปรึกษาปัญหากับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท ผู้ปกครองของเพื่อน ครู องค์กรที่ให้คำปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่จะช่วยปกป้องจากความรุนแรงในครอบครัวได้ และพยายามบอกเล่าให้หลาย ๆ คนฟังจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือและมั่นใจได้ว่าตนหรือคนในครอบครัวปลอดภัยแล้ว

ช่วยเหลือผู้ที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร ?

หากพบเห็นหรือสงสัยว่าเพื่อนหรือคนใกล้ชิดกำลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ควรพยายามให้ความช่วยเหลือตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • รับฟังในสิ่งที่เหยื่อเล่าด้วยความเข้าอกเข้าใจและใส่ใจที่จะช่วยเหลือ พยายามไม่แสดงอาการตกใจหรือประหลาดใจเมื่อได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่หากเหยื่อยังไม่พร้อมที่จะเล่า ควรบอกให้รู้ว่าตนยินดีรับฟังและให้ความช่วยเหลือทุกเมื่อ
  • หลีกเลี่ยงการตัดสินหรือตำหนิว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่ปล่อยให้ตนเองถูกกระทำ เพราะการก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องอาจเป็นเรื่องยากและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงควรให้กำลังใจและให้การสนับสนุนจนกว่าเหยื่อพร้อมจะก้าวออกมา
  • อย่าเก็บเรื่องที่ได้ฟังไว้คนเดียว ควรบอกเล่าให้ผู้ใหญ่ที่เชื่อใจรับรู้ เพื่อให้เหยื่อได้รับความช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง โดยสนับสนุนให้เหยื่อบอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงนั้นกับผู้ใหญ่หลาย ๆ คน จนกว่าจะแน่ใจว่าได้รับความช่วยเหลือและปลอดภัยแล้ว
  • สนับสนุนให้เหยื่อแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะบานปลายและเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว

การใช้ความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นสิ่งผิดในทุกกรณี ซึ่งไม่มีข้ออ้างสำหรับความชอบธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ควรมีการกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อโดยตัดสินจากสถานการณ์ในครอบครัวหรือพฤติกรรมของเหยื่อเอง นอกจากนี้ การนำสภาพจิตใจ ประวัติเบื้องหลัง การใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ของผู้ก่อความรุนแรงมาพิจารณาถึงสาเหตุที่ใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้ทำให้บุคคลดังกล่าวพ้นผิดหรือผิดน้อยลงแต่อย่างใด

ดังนั้น ผู้ที่เผชิญความรุนแรงควรถอยห่างและหาทางออกมาจากสถานการณ์อันตรายโดยเร็วที่สุด ส่วนคนรอบข้างที่ทราบเรื่องก็ควรใส่ใจ เชื่อใจ เคารพการตัดสินใจ และพยายามให้ความช่วยเหลือเหยื่ออย่างเต็มที่ อย่าเลิกยุ่งเกี่ยวเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เหยื่อทนอยู่กับความรุนแรงมาได้นานแล้ว หรือเพราะเหยื่อและผู้กระทำความรุนแรงเคยกลับมาคืนดีกันแต่เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นอีก โดยให้ตระหนักไว้ว่าเหยื่อความรุนแรงควรได้รับความช่วยเหลือในทุกกรณี เพราะความรุนแรงเป็นอาชญากรรม หาใช่เป็นเพียงเรื่องของสามีภรรยาหรือคนในครอบครัวเท่านั้น เหยื่อไม่ควรถูกละเลยหรือไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง