โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)

ความหมาย โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)

PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง คือภาวะทางจิตที่เกิดจากการเผชิญกับเหตุการณ์ตึงเครียด น่ากลัว หรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์โดยตรงหรือการพบเห็นเหตุการณ์นั้น ๆ จนทำให้ผู้ป่วยอาจเห็นภาพในอดีต ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกวิตกกังวลโดยไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้นอนไม่หลับและไม่มีสมาธิด้วย โดยอาการเหล่านี้จะค่อนข้างรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

ผู้ป่วย PTSD

อาการของโรค PTSD

PTSD อาจมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมักแสดงอาการในช่วงเดือนแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นหลังจากนั้นหลายเดือนไปจนถึงปี

อาการของ PTSD อาจแตกต่างกันในแต่ละคน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการ ดังนี้

1. เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำ ๆ

ผู้ป่วยอาจเห็นภาพหลอน ฝันร้ายและนึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่เสมอ อาจรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากหากถูกสิ่งใดกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์ หรือหากเป็นวันครบรอบของเหตุการณ์นั้น

2. มีความคิดในแง่ลบและมีอารมณ์ขุ่นมัว

ผู้ป่วยอาจมีความคิดที่บั่นทอนจิตใจเกี่ยวกับตัวเองหรือผู้อื่น เช่น เกิดความรู้สึกผิด มีความกระวนกระวายใจ ตำหนิตัวเอง รู้สึกอาย รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกแปลกแยกจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่ร่าเริงแจ่มใส รู้สึกไม่มีความสุข หรืออาจรู้สึกเฉยชา เป็นต้น บางกรณีผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำด้วย และไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดได้ดีเหมือนก่อน

3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ

ผู้ป่วยอาจพยายามหลีกเลี่ยงคนหรือสถานที่ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์หรือการบาดเจ็บในครั้งนั้น และพยายามไม่คิดหรือไม่พูดถึงเหตุการณ์นั้นอีก บางคนอาจจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้โดยการพยายามไม่รู้สึกอะไรเลย ซึ่งผู้ป่วยอาจแยกตัวออกมาหรือละทิ้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำ

4. ไวต่อสิ่งกระตุ้น

ผู้ป่วยอาจแสดงอารมณ์ต่าง ๆ มากเกินไป นอนหลับยาก หงุดหงิด โมโหรุนแรง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมทั้งมีอาการตื่นตัวมากเกินไป รู้สึกหวาดระแวงและตกใจง่าย อาจทำให้เกิดภาวะกายใจไม่สงบได้ ทั้งยังอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือการขับรถเร็ว เป็นต้น

5. อาการทางร่างกายอื่น ๆ

ผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด เป็นลม มีเหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องเสีย ตัวสั่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และกล้ามเนื้อเกร็ง เป็นต้น

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรค PTSD อาจพบว่ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะรดที่นอน รู้สึกแปลกแยกจากพ่อแม่และผู้ใหญ่คนอื่น ๆ นึกถึงเหตุการณ์นั้น ๆ ขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจมีปัญหาด้านพัฒนาการ อย่างการฝึกเข้าห้องน้ำ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้ภาษา เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ควรรีบไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตเพื่อขอคำปรึกษาทันที เพราะผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันอาการรุนแรงขึ้น

สาเหตุของโรค PTSD เกิดจากอะไร

แม้แพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ PTSD แต่โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันเช่นเดียวกับภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ทั้งปัจจัยทางร่างกายและสภาวะเหตุการณ์ในชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างการตกงาน การสอบไม่ผ่าน หรือการหย่าร้าง แต่อาจเป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียด น่ากลัว หรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก

โดยปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของ PTSD มีดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพจิตที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น
  • ลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การทำงานของสมองที่ควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนของร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด
  • เคยเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง เช่น รถชน เครื่องบินตก เป็นต้น
  • เคยถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง
  • เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเคยมีคนพยายามล่วงละเมิดทางเพศ
  • เคยถูกลักพาตัว เคยถูกจับเป็นตัวประกัน หรือเคยถูกโจรกรรม
  • มีบุคคลที่ใกล้ชิดบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต หรือเคยพบเห็นคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เช่น ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อหรืออยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรมและอาชญากรรม เป็นต้น
  • เคยผ่านการสู้รบในสงคราม เช่น ทหารผ่านศึก หรือคนที่อยู่ในพื้นที่สงคราม เป็นต้น
  • เคยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว เป็นต้น
  • เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต

ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงเผชิญโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเวลานาน ผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก ผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตหรือมีคนในครอบครัวประสบปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่ขาดการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนฝูง และการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค PTSD

ในการวินิจฉัย PTSD จิตแพทย์อาจตรวจร่างกาย ประเมินอาการทางร่างกายและทางจิตวิทยา และอาจใช้หลักเกณฑ์จากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วย

ทั้งนี้ การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรค PTSD ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และอาการของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยต้องเคยประสบกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงที่อาจกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างมาก อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงจนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ของผู้ป่วยโดยตรง หรือผู้ป่วยเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์นั้น ๆ ในบางกรณีอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว โดยผู้ป่วยจะต้องมีอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาการต่าง ๆ จะต้องมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ

วิธีการรักษาโรค PTSD เบื้องต้น

ในเบื้องต้น ผู้ป่วย PTSD อาจดูแลตัวเองและจัดการกับความเครียดได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

1. เรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียด

ผู้ป่วยอาจเรียนรู้เกี่ยวกับโรค PTSD และทำความเข้าใจถึงความรู้สึกหรืออาการของตนเอง เพื่อหาวิธีรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น หางานอดิเรกทำในยามว่างหรือเมื่อรู้สึกเครียด พบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือพูดคุยกับคนในครอบครัว เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นต้น

2. รักษาสุขภาพและดูแลตัวเอง

ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และรู้จักหาเวลาผ่อนคลาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่หรือยาสูบทุกชนิด และห้ามผู้ป่วยรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์

การรักษาโรค PTSD โดยแพทย์

แพทย์มักให้ความสำคัญกับการบรรเทาอาการต่าง ๆ ทางอารมณ์และร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันและรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

1. การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า เพื่อควบคุมความรู้สึกเศร้าและวิตกกังวลของผู้ป่วย เช่น ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ ยากลุ่มไตรไซคลิก ยาควบคุมอารมณ์ และยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจใช้ยาลดความดันโลหิตเพื่อควบคุมอาการบางอย่างด้วย เช่น ยาพราโซซินที่ใช้ลดอาการฝันร้าย และยาโพรพราโนลอลที่ใช้รักษาความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น เป็นต้น โดยแพทย์มักไม่นิยมให้ใช้ยากล่อมประสาท เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดยาได้

2. การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม เป็นจิตบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนความคิด โดยแพทย์อาจพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
  • การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว เป็นการบำบัดโดยให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว โดยอาจมีการใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ VR ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับเหตุการณ์นั้น อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยบางคนเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงตามมาได้
  • ครอบครัวบำบัด เป็นการบำบัดโดยวิธีการปรับบทบาทหน้าที่และปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้เหมาะสมกับการอยู่ร่วมกับผู้ป่วย PTSD
  • การบำบัดแบบกลุ่ม เป็นวิธีการบำบัดโดยให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้แบ่งปันเรื่องราว ความคิด ความกลัว และความรู้สึกกับผู้ที่มีประสบการณ์คล้ายกัน
  • การบำบัดแบบไดนามิค เป็นการบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ในอดีตที่มีผลต่อพฤติกรรมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรค PTSD

PTSD อาจมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทั้งในด้านการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว สุขภาพ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ อย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวแบบจำเพาะได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเอง เช่น การใช้ยาเสพติด หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดหน้าอก ปวดท้อง หรือมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติด้วย

ในกรณีที่อาการค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตาย ควรรีบขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากบุคคลใกล้ชิด หรือผู้ที่พบเห็นอาการควรรีบพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ทันที ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ โดยโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีการป้องกันโรค PTSD

PTSD เป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อาจดูแลตนเองและเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดได้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ เช่น หากประกอบอาชีพซึ่งเสี่ยงเผชิญสถานการณ์อันตรายอย่างทหารอาจต้องเข้ารับการฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์อันตราย และปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อันตรายหรือเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เป็นต้น

สำหรับผู้ที่เพิ่งประสบเหตุการณ์ที่ร้ายแรง อาจมีวิธีการจัดการกับความเครียดเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • หลังจากเผชิญสถานการณ์ร้ายแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น
  • พูดคุยเปิดใจกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่สามารถรับฟังปัญหาได้
  • ฝึกหายใจลึก ๆ ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือนวด เพื่อเป็นการผ่อนคลาย
  • หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังป่วยเป็น PTSD ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษาต่อไป

ทั้งนี้ หากผู้ที่เพิ่งประสบเหตุการณ์ที่ร้ายแรงได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจช่วยบรรเทาอาการบางอย่างหรือป้องกันการเกิด PTSD ได้