Exhibitionism โรคชอบโชว์ อาการป่วยที่ควรได้รับการรักษา

Exhibitionism หรือโรคชอบโชว์ เป็นพฤติกรรมหรือความรู้สึกทางเพศที่ผิดปกติ (Paraphilic Disorder) รูปแบบหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมชอบโชว์อวัยวะเพศของตนเองต่อคนแปลกหน้าหรือในที่สาธารณะ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นจากสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้นและเกิดความพึงพอใจทางเพศ บางคนสามารถตระหนักถึงผลลัพธ์ที่ตามมา แต่ควบคุมตนเองไม่ได้ 

ความรู้สึกและพฤติกรรมของโรคชอบโชว์พบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น โดยแรงกระตุ้นและพฤติกรรมอาจค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จากข้อมูลบางส่วนพบว่า ในผู้ชาย 100 คนอาจพบผู้ที่เป็นโรคนี้เฉลี่ย 2–4 คน บทความนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาการทางจิตชนิดนี้และวิธีรับมือกับผู้ป่วยอย่างถูกต้อง

Exhibitionism

ทำความรู้จักกับ Exhibitionism

ลักษณะและอาการที่เห็นได้ชัดของผู้ป่วย Exhibitionism คือ พฤติกรรมการโชว์ของลับให้กับคนแปลกหน้าหรือผู้ที่ไม่ยินยอม ในภาษาอังกฤษจะเรียกพฤติกรรมนี้ว่าเรียกว่าแฟลชชิ่ง (Flashing) ผู้ที่มีพฤติกรรมแฟลชชิ่งมักสวมเสื้อคลุมหรือใช้วัตถุบางอย่างปิดบังอวัยวะเพศเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หากเจอเป้าหมายจะเดินเข้าในไประยะสายตาที่เป้าหมายมองเห็นและโชว์อวัยวะเพศของตน ทั้งนี้ เป้าหมายอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป บางคนอาจเลือกเป้าหมายในกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ หรือเลือกตามลักษณะอื่น ๆ 

หลังจากผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมดังกล่าว เป้าหมายส่วนใหญ่มักแสดงท่าทีและมีอาการตกใจ ทั้งทางสีหน้า ท่าทาง และการส่งเสียงร้อง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้นและเกิดอารมณ์ทางเพศจากการเห็นปฏิกิริยาของเป้าหมาย เนื่องจากผู้ป่วยจะตีความท่าทางของเป้าหมายไปในลักษณะของการตอบสนองทางเพศ 

นอกจากการโชว์ของลับแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจช่วยตนเองหรือสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเป้าหมาย บางรายอาจหลบและไปสำเร็จความใคร่ภายหลังจากโชว์อวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใช่การสัมผัสกับร่างกายของเป้าหมาย แต่ก็อาจพบได้ในบางกรณี

ทั้งนี้ สาเหตุของ Exhibitionism ยังไม่รู้แน่ชัด แต่อาจเกิดร่วมกับปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น

  • โรคเสพติดเซ็กส์ (Sex Addiction)
  • โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)
  • โรคชอบเด็ก (Pedophilia)
  • พฤติกรรมติดแอลกอฮอล์
  • ประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจในช่วงวัยเด็ก

โรคนี้ไม่เพียงส่งผลต่อเป้าหมายเท่านั้น แต่ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเช่นเดียวกัน เพราะผู้ป่วยบางส่วนสามารถตระหนักถึงอาการของตนเองว่าอาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนและเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในด้านชื่อเสียง ความเป็นอยู่ การงาน ความสัมพันธ์ และกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถควบคุมตนเองจากแรงขับทางเพศจากภายในได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงมักเกิดความรู้สึกผิดหลังได้กระทำการดังกล่าว

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น Exhibitionism

บางคนอาจมีความรู้สึกต้องการโชว์อวัยวะเพศต่อหน้าคนแปลกหน้าหรือในที่สาธารณะ จึงอาจสงสัยถึงความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเองว่าเป็นรสนิยมทางเพศหรือเป็นความผิดปกติทางจิต โดยทั่วไปแล้ว จิตแพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคชอบโชว์ หากมีพฤติกรรมและความรู้สึกต้องการทางเพศในรูปแบบดังกล่าวซ้ำ ๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และอาการเหล่านั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อย่างการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด 

แม้ว่าจะไม่มีพฤติกรรมต่อเนื่องตามเกณฑ์ดังกล่าว แต่พฤติกรรมเหล่านั้นก็เข้าข่ายการคุกคามทางเพศซึ่งผิดต่อกฎหมาย หากพบว่าตนเองเริ่มมีความคิดหรือเริ่มแสดงพฤติกรรมเหล่านั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจและทำการรักษา

การรักษา Exhibitionism

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคชอบโชว์ในระดับที่ไม่รุนแรงอาจรับมือด้วยการควบคุมอารมณ์ตนเองต่อแรงกระตุ้น และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา แต่ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนมากไม่สามารถตระหนักถึงอาการและผลลัพธ์ของพฤติกรรม หรืออาจเกิดความรู้สึกกลัวเมื่อต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ด้วยตนเอง ผู้ป่วยจึงมักเข้าสู่กระบวนการรักษาเมื่อถูกจับโดยเจ้าหน้าที่หรือคนในครอบครัวพามารักษา 

อย่างไรก็ตาม หากคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างผู้ป่วยที่สังเกตเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมของโรคนี้ ควรพาผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจและรักษา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา

สำหรับผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรค Exhibitionism แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาลดฮอร์โมนเพศ ยาต้านเศร้า และยารักษาโรคจิตเภทชนิดอื่น เพื่อลดแรงกระตุ้นทางเพศ รวมทั้งอาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการบำบัดต่อไปนี้

  • การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รู้จักตนเอง รูปแบบของความต้องการ ความคิด และพฤติกรรมดังกล่าวได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับอารมณ์ ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา และลดความรุนแรงของโรค
  • จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการพูดคุยกับเพื่อสร้างความเข้าใจของปัญหา เรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ สร้างความเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น ไปจนถึงการปรับรูปแบบความคิด (Cognitive Restructuring) ที่อาจช่วยรับมือกับอาการได้

แม้ว่าจะเป็นอาการของโรค แต่พฤติกรรมดังกล่าวอาจสร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนกต่อผู้พบเห็นได้ไม่น้อย อีกทั้งยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเป้าหมายของผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งการแสดงออกถึงท่าทีตกใจอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำพฤติกรรมดังกล่าวต่อไปหรืออาจรุนแรงขึ้น 

ดังนั้น หากเจอกับผู้ป่วยโรค Exhibitionism ควรทำเป็นมองไม่เห็น ไม่สนใจ และค่อย ๆ เดินออกจากบริเวณนั้น เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ตนต้องการก็จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าว จากนั้นผู้ประสบเหตุควรแจ้งหน่วยงานรัฐให้นำตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเพศอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น