เสพติดการมีเพศสัมพันธ์ ผิดปกติหรือไม่ รักษาอย่างไร ?

เพศสัมพันธ์เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ ทว่าการเสพติดทางเพศ (Sex Addiction) ซึ่งเป็นความต้องการทางเพศที่มากเกินไปและไม่สามารถควบคุมได้นั้น จัดเป็นอาการผิดปกติอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและต้องเข้ารับการรักษาเช่นเดียวกับการติดยาเสพติดหรือสุรา เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ก่ออาชญากรรมอันตรายต่อบุคคลอื่นได้ด้วย

Sex (Sex Addiction)

เสพติดเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร ?

การเสพติดเพศสัมพันธ์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลายด้าน ไม่ว่าจะการทำงาน การเรียน หรือครอบครัว เพราะผู้ป่วยจะหมกมุ่นในเรื่องเพศ จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการในด้านนี้ด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ การดูสื่อลามกอนาจาร หรือการซื้อบริการทางเพศ ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าผู้เสพติดทางเพศอาจมีคู่นอนหลายคน โหยหาความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืน สำเร็จความใคร่กับสัตว์หรือสิ่งของ หรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ที่เสพติดเพศสัมพันธ์อาจไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ได้ แม้รู้ว่าการกระทำบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อตนเอง หรือกระทั่งผิดหลักศีลธรรมและผิดกฎหมายก็ตาม

อาการของผู้ที่เสพติดเพศสัมพันธ์

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักหลีกเลี่ยงการเปิดเผยอาการผิดปกติของตนเองกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนรัก ทำให้ยากต่อการสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น อย่างไรตาม พฤติกรรมดังกล่าวอาจสร้างปัญหาและความทุกข์ทรมานได้ ซึ่งอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณของการเสพติดทางเพศ ดังนี้

  • มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนหลากหลาย รวมถึงคนแปลกหน้า
  • มีความคิดหมกมุ่นในเรื่องเพศอยู่เสมอ
  • หมกมุ่นกับการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม
  • รู้สึกกระวนกระวายหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางเพศได้
  • ละเลยการเข้าสังคม การทำงาน หรือการเรียนหนังสือ เพราะความหมกมุ่นทางเพศ
  • ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมความต้องการทางเพศได้
  • มีพฤติกรรมทางเพศที่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเป็นอันตราย
  • แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดกฎหมาย เช่น การซื้อบริการทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
  • รู้สึกละอายหรือรู้สึกผิดหลังจากมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองความต้องการทางเพศก็ไม่ได้ช่วยให้อาการเสพติดลดลงไป แต่ผู้ป่วยมักมีความต้องการในระดับที่มากขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการผิดปกติชนิดนี้จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดเช่นเดียวกับการเสพติดรูปแบบอื่น

สาเหตุของการเสพติดเพศสัมพันธ์

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้บางคนเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างแน่ชัด แต่นักวิจัยคาดว่าอาจมีบางปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวได้ เช่น

  • สารเคมีในสมองบางชนิดที่ถูกหลั่งออกมาระหว่างมีเพศสัมพันธ์อาจส่งผลให้เกิดความต้องการทางเพศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคล้ายกับสาเหตุที่ทำให้คนติดสุราหรือบุหรี่
  • ผู้ที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่ มีภาวะซึมเศร้า มีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบต่อสภาวะจิตใจอย่างมากในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเสพติดทางเพศมากกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ชายที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introverted) และมีระดับการศึกษาสูง รวมถึงผู้หญิงวัยกลางคนที่ไม่ได้ทำงานและอยู่บ้านเป็นประจำ ซึ่งอาจมีโอกาสเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเสพติดเพศสัมพันธ์จากการใช้สื่อออนไลน์
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ รวมถึงผู้ที่เคยมีอาการเสพติดชนิดอื่น ๆ มาก่อน

เสพติดเพศสัมพันธ์ รักษาอย่างไร ?

ผู้ที่มีสัญญาณบ่งชี้หรือมีอาการเสพติดเพศสัมพันธ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยในขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติ สอบถามข้อมูลครอบครัว และอาการผิดปกติที่พบ จากนั้นอาจให้ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะนี้หรืออาการผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้มีพฤติกรรมผิดปกติคล้ายคลึงกัน

ในด้านการรักษา การบำบัดอาการเสพติดทางเพศต่างกับการบำบัดอาการติดสุราหรือติดบุหรี่ เนื่องจากความต้องการทางเพศและการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างความต้องการทางเพศที่มากผิดปกติกับความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นทั่วไปให้ได้ ซึ่งแนวทางการรักษาจึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ป่วยเรียนรู้การตอบสนองความต้องการทางเพศอย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีต่อไปนี้

  • การบำบัดทางพฤติกรรมและการรู้คิด เป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อให้รับมือกับอาการเสพติดได้อย่างเหมาะสม โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะชี้แนะให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพื่อเรียนรู้การควบคุมอาการดังกล่าวได้ด้วยตนเองในที่สุด
  • โปรแกรมบำบัดอาการเสพติดเพศสัมพันธ์ เป็นหลักการปฏิบัติที่ช่วยให้ผู้ป่วยลดการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมทีละน้อย คล้ายกับหลักการเลิกเหล้าที่แพทย์นิยมใช้กับผู้ป่วยที่ติดสุรา
  • การรับประทานยา อาการเสพติดทางเพศที่อาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตบางชนิดอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้า เป็นต้น

ปัญหาจากการเสพติดเพศสัมพันธ์

หากการเสพติดเพศสัมพันธ์ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนรักได้ด้วย เนื่องจากผู้เสพติดทางเพศมีแนวโน้มมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน จึงเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และอาจแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนได้ ส่วนความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยตอบสนองความต้องการอย่างไม่เหมาะสม หรือเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายได้ เช่น ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าตนเสพติดเพศสัมพันธ์ควรรีบไปปรึกษาแพทย์