เจลหล่อลื่น ใช้อย่างไร จำเป็นหรือไม่ ?

เจลหล่อลื่นอาจเป็นตัวช่วยกระตุ้นความรู้สึกและเพิ่มความสุขทางเพศ ซึ่งอาจช่วยให้กิจกรรมทางเพศเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หากเลือกใช้เจลหล่อลื่นที่ไม่เหมาะสม หรือใช้โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดชัดเจนก่อน ก็อาจเสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน

1604 Resized เจลหล่อลื่น

เจลหล่อลื่นมีกี่แบบ และเลือกอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน ?

แม้ว่าเจลหล่อลื่นอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยให้กิจกรรมทางเพศเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละรูปแบบด้วย เพราะเจลหล่อลื่นแต่ละชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป รวมทั้งการใช้งานผิดประเภทก็อาจส่งผลให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพหรือฉีกขาดได้

ประเภทและข้อดีข้อเสียของเจลหล่อลื่นแต่ละชนิด มีดังนี้

เจลหล่อลื่นชนิดน้ำ

  • ข้อดี มีส่วนผสมจากธรรมชาติ มักผลิตจากว่านหางจระเข้ มีความลืื่นสูง และล้างออกได้ง่าย จึงสามารถใช้ได้กับกิจกรรมทางเพศทุกรูปแบบ และใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งช่วยป้องกันถุงยางแตกได้ด้วย
  • ข้อเสีย เนื่องจากเจลหล่อลื่นชนิดนี้มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำ จึงไม่สามารถนำไปใช้กับการมีเพศสัมพันธ์ในน้ำหรือใช้ตอนอาบน้ำได้ อีกทั้งยังระเหยได้ง่าย ทำให้ต้องใช้บ่อยครั้งกว่าเจลหล่อลื่นชนิดอื่น

เจลหล่อลื่นชนิดซิลิโคน

  • ข้อดี ตัวเจลมีความลื่นสูง ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และใช้ได้กับถุงยางอนามัยทุกแบบ อีกทั้งตัวเจลซิลิโคนไม่สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้ เจลนี้จึงทำหน้าที่คล้ายแผ่นฟิล์มบาง ๆ ที่เคลือบอวัยวะไว้ ส่งผลให้ตัวเจลคงอยู่ได้นานและไม่ระเหยไวเหมือนชนิดน้ำแม้จะใช้ในขณะมีเพศสัมพันธ์ในน้ำหรือตอนอาบน้ำก็ตาม โดยเจลหล่อลื่นชนิดนี้มักเหมาะกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ทางช่องคลอด
  • ข้อเสีย เนื่องจากตัวเจลไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ หากล้างเจลออกไม่หมดก็อาจกลายเป็นคราบเหนียวติดอยู่ตามร่างกายหรือพื้นผิวต่าง ๆ ได้ จึงอาจต้องใช้เวลาในการล้างทำความสะอาดนาน

เจลหล่อลื่นชนิดน้ำมัน

  • ข้อดี ตัวเจลคงอยู่ได้นานกว่าเจลหล่อลื่นชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมีความชุ่มชื้นในตัว และไม่เจือจางไปกับน้ำ จึงสามารถใช้ได้กับการมีเพศสัมพันธ์ในน้ำเช่นเดียวกับชนิดซิลิโคน และยังใช้นวดได้ด้วย
  • ข้อเสีย ทำความสะอาดได้ค่อนข้างยากหากเจลติดอยู่ตามผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้า และไม่สามารถใช้กับถุงยางอนามัยที่ผลิตจากยางพาราได้ เพราะตัวเจลจะทำให้ถุงยางชนิดดังกล่าวเสื่อมสภาพลง และเสี่ยงเกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

การใช้เจลหล่อลื่น

ตามปกติสามารถใช้เจลหล่อลื่นได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น ช่องคลอด อวัยวะเพศชาย หรือรูทวาร เป็นต้น โดยใช้ได้ในปริมาณมากน้อยตามต้องการ หากต้องการใช้เจลหล่อลื่นเพื่อเพิ่มความรู้สึกทางเพศในบริเวณช่องคลอดก็อาจเลือกใช้เจลหล่อลื่นกับปุ่มกระสันและบริเวณหัวนมของผู้หญิง หรืออาจหยดเจลหล่อลื่นเพิ่มลงไปในถุงยางอนามัย 2-3 หยด เพื่อช่วยเพิ่มความสุขทางเพศให้แก่ฝ่ายชายด้วยเช่นกัน

ข้อควรระวังในการใช้เจลหล่อลื่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบและระคายเคือง เช่น สารกลีเซอรีน (Glycerine) สาร Nonoxynol-9 ปิโตรเลียม โพรพิลีนไกลคอล (Propylene Glycol) และคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) เป็นต้น
  • ควรใช้เจลหล่อลื่นที่มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับค่าที่วัดได้บริเวณช่องคลอด ซึ่งสามารถหาซื้อเครื่องมือวัดค่ากรดด่างได้ตามร้ายขายยาทั่วไป
  • ควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ โดยนำตัวอย่างเจลจากผลิตภัณฑ์ทาบริเวณข้อศอกแล้วทิ้งไว้สักครู่ เพื่อสังเกตอาการแพ้ต่าง ๆ อย่างอาการแดง และหากพบความผิดปกติใด ๆ ควรหยุดใช้เจลดังกล่าวทันที แต่หากอาการที่ปรากฏนั้นไม่ยอมทุเลาลงหรือทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ควรไปปรึกษาแพทย์

เจลหล่อลื่น จำเป็นหรือไม่ ?

หลายคนอาจเข้าใจว่า เจลหล่อลื่นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นหากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะคิดว่าน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดของผู้หญิงขณะมีเพศสัมพันธ์แต่ละครั้งก็เพียงพอต่อการมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ในความเป็นจริง แม้ขณะนั้นฝ่ายหญิงอาจรู้สึกมีอารมณ์ทางเพศมาก แต่น้ำหล่อลื่นของผู้หญิงบางคนก็อาจมีไม่มากพอที่จะทำให้กิจกรรมทางเพศดำเนินไปอย่างราบรื่นได้

ดังนั้น เจลหล่อลื่นอาจเป็นตัวช่วยเสริมสำหรับผู้หญิงในทุกช่วงอายุด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ร่างกายผลิตน้ำหล่อลื่นออกมาไม่มากพอหรือประสบปัญหาช่องคลอดแห้งจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ขาดการปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ
  • ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดบ่อยครั้ง
  • สัมผัสสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมีในสระว่ายน้ำ สารเคมีในสบู่ หรือสารเคมีจากการรักษาทางการแพทย์บางชนิดอย่างการรักษาด้วยความเย็น เป็นต้น
  • ผ่านการผ่าตัดมดลูกมาก่อน
  • ทำเคมีบำบัด ซึ่งอาจทำให้รังไข่เกิดความเสียหายและยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง
  • อยู่ในวัยหมดประจำเดือน โดยครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในช่วงอายุ 51-60 ปี มักประสบปัญหาช่องคลอดแห้ง เนื่องจากมีการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงน้อยลง