ความหมาย ไข้สมองอักเสบ
ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) คือโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่สมอง หรือปัญหาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยไข้สมองอักเสบจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวและคนรอบข้างด้วย
อาการไข้สมองอักเสบ
อาการไข้สมองอักเสบมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการธรรมมดาทั่วไป และอาการขั้นรุนแรงซึ่งเป็นส่วนน้อย โรคนี้ใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือนค่อยๆ แสดงลำดับอาการรุนแรง โดยสังเกตได้ดังนี้
อาการเบื้องต้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นโรคหวัด ได้แก่
- อ่อนแรง มีไข้สูง ปวดศีรษะ
- ปวดข้อและกล้ามเนื้อ
- มีผื่นหรือตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง
ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนหากมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนี้
- สูญเสียการรับรู้เรื่องบุคคล เวลาและสถานที่ (Disorientation)
- เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือร่างกายบางส่วนเริ่มไร้ความรู้สึก
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ร้อนรน กระวนกระวาย เห็นภาพหลอน เป็นต้น
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพซ้อน หรือการขยับลูกตา ไวต่อแสงจ้า
- มีปัญหาด้านการได้ยินและการพูด พูดลำบาก
- อ่อนเพลีย ง่วงนอน เซื่องซึม คอเคล็ด
- ชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ตื่น
หรือพบอาการเหล่านี้ในผู้ป่วยไข้สมองอักเสบที่เป็นเด็กและทารก
- กระหม่อมทารกโป่งตึง
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ร่างกายแข็งเกร็ง หรือขยับตัวไม่ได้
- อารมณ์ฉุนเฉียว งอแง ร้องไห้ไม่หยุด
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร ซึม ไม่ตื่นตัว
หากพบอาการขั้นรุนแรงของไข้สมองอักเสบทั้งในทารก เด็ก หรือผู้ใหญ่ ซึ่งอาจปวดหัวมากและมีไข้สูงร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
สาเหตุของไข้สมองอักเสบ
สาเหตุของไข้สมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย และปัญหาจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งส่งผลดังนี้
- สมองอักเสบจากการติดเชื้อโดยตรง (Primary Encephalitis) เมื่อสมองติดเชื้อไวรัสหรือเชื้ออื่น ๆ เชื้อจะทำให้สมองอักเสบและทำลายสมองโดยตรง ซึ่งมีทั้งสมองติดเชื้อเฉพาะที่ หรือเชื้อแพร่กระจายไปทั่ว หรือเชื้อโรคที่แฝงตัวอยู่ถูกกระตุ้น
- สมองอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกัน (Secondary (Postinfectious) Encephalitis) คืออาการอักเสบที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ผิดพลาดในการต่อสู้กับเชื้อในร่างกาย โดยแทนที่จะทำลายเชื้อเหล่านั้น กลับทำลายเซลล์สมองไปด้วย มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อครั้งแรก
โดยส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่เชื้อที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ ได้แก่
- ไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) แบ่งได้ 2 ประเภท คือไวรัสเริม HSV-1 เป็นตัวการทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้มีไข้ เป็นแผล หรือตุ่มใสบริเวณปาก และไวรัสเริม HSV-2 เป็นตัวการทำให้เกิดแผลเริมบริเวณอวัยวะเพศ ไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเริม HSV-1 พบได้น้อยแต่ทำให้สมองเสียหายและเสียชีวิตได้
- ไวรัสเริมชนิดอื่น ๆ เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) เป็นสาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอสิส (Infectious Momonucleosis) และไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ หรือไวรัสวีซีววี (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด
- เอนเทอร์โรไวรัส (Enteroviruses) รวมถึงโปลิโอไวรัส (Poliovirus) และค็อกแซกกีไวรัส (Coxsackievirus) เป็นสาเหตุของอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตาแดงอักเสบ และปวดท้อง
- เชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ (Mosquito-Borne Viruses) เช่น ไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังมียุงที่เป็นพาหะนำไวรัสจากสัตว์มาสู่คน เช่น นก กระรอก ม้า เป็นต้น ทำให้ติดเชื้อหลังโดนยุงที่เป็นพาหะกัดในช่วง 2-3 สัปดาห์
- ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) โดนสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากัด
- การติดเชื้อที่พบมากในวัยเด็ก เช่น โรคคางทูมจากไวรัสมัมส์ (Mumps) โรคหัดจากไวรัสมีเซิลส์ (Measles) หรือโรคหัดเยอรมันจากไวรัสรูเบลลา (Rubella) ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน MMR เพื่อป้องกันการเกิดโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมันในเด็กอายุ 9-12 เดือน และ 4-6 ปี ทำให้พบผู้ป่วยไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อเหล่านี้น้อยลง
การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ
การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ ขั้นแรกแพทย์จะดูประวัติของผู้ป่วยว่ามีอาการของไข้สมองอักเสบหรือไม่ อยู่ในภาวะเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหรือไม่ ประวัติการรักษาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และตรวจร่างกายทางระบบประสาทและสมองอย่างละเอียด แล้วจึงทดสอบร่างกาย ดังนี้
- การตรวจสมอง ทำได้ 2 วิธี คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือทีซีสแกน (X-Ray Computerized Tomography) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging) โดยการจำลองภาพขึ้นเพื่อดูลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างสมองของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูว่ามีลักษณะสมองอักเสบหรือมีลักษณะโรคทางสมองอื่น ๆ หรือไม่ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก เนื้องอกในสมอง หรืออาการบวมในสมอง
- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) ผู้ป่วยต้องนอนตะแคงแล้วกอดเข่าเอาไว้ จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณหลังส่วนล่าง แล้วสอดเข็มเข้าไปที่กระดูกสันหลังส่วนล่างเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง ตรวจหาว่ามีลักษณะการติดเชื้อหรือการอักเสบหรือไม่
-
การตรวจในรูปแบบอื่น ๆ เช่น
- การตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือของเหลวอื่นในร่างกาย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือการตรวจอีอีจี (Electroencephalogram) ใช้ขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กวางแนบหนังศีรษะซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ผิดปกติของสมอง
- การผ่าตัดส่งชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา (Brain Biopsy) โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองไปทดสอบการติดเชื้อ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการสมองบวมได้ด้วยวิธีอื่น แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะจะทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง
การรักษาไข้สมองอักเสบ
การรักษาไข้สมองอักเสบ ทำได้โดยรักษาตามสาเหตุของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย และรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงขึ้น
- การใช้ยาต้านไวรัส ใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากไวรัสเริม (Herpes simplex virus) หรือไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ หรือไวรัสวีซีววี (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด โดยฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ตัวอย่างยาต้านไวรัสที่นิยมใช้รักษาไข้สมองอักเสบ ได้แก่ อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แกนซิโคลเวียร์ (Ganciclovir) ฟอสคาเนต (Foscarnet) เป็นต้น การใช้ยาต้านไวรัสอาจส่งผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หรือปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ แม้กระทั่งมีอาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้ตับหรือไตทำงานผิดปกติได้
- การฉีดสเตียรอยด์ ใช้ในกรณีที่มีสาเหตุเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy) เป็นการรักษาโดยให้ยาที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การฟอกเลือด (Plasmapheresis) เพื่อกำจัดพิษออกจากร่างกาย หรือเชื้อที่แฝงอยู่ในเลือดซึ่งจะไปทำลายสมอง วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยการบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin therapy) แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือป้องกันเชื้อรา
ไข้สมองอักเสบทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความเครียด ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด อาการ และความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น
- การใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยการทำงานของปอด
- การให้สารน้ำ (Intravenous Fluids) เพื่อรักษาปริมาณน้ำและระดับแร่ธาตุในร่างกายให้เหมาะสม
- การใช้ยาแก้อักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อช่วยลดความดันและอาการบวมในกระโหลกศีรษะ
- การใช้ยากันชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) เพื่อป้องกันหรือระงับอาการชัก
ไข้สมองอักเสบนอกจากจะส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังส่งผลต่อครอบครัวและคนรอบข้างด้วย เพราะการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยอาจทำได้ช้า ยาก และใช้เวลานานกว่าจะหายกลับมาเป็นปกติ จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำได้ดังนี้
- การฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่สมอง โดยนักประสาทจิตวิทยา (Neuropsychologist)
- การบำบัดเกี่ยวกับการพูด เพื่อช่วยฟื้นฟูการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดและการสื่อสาร
- การทำกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะและนำใช้ในชีวิตประจำวัน
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่่น ความสมดุล รวมไปถึงพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย
- การทำจิตบำบัด เพื่อเรียนรู้วิธีการเผชิญหน้ากับปัญหา สร้างพฤติกรรมใหม่ที่จะช่วยพัฒนาอารมณ์ หรือในบางกรณี อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการใช้ยา
ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบ
ยิ่งตรวจหาสาเหตุของไข้สมองอักเสบและรักษาได้เร็ว จะยิ่งช่วยลดอัตราเสี่ยงต่ออาการที่อาจรุนแรงขึ้น ภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงการเสียชีวิตได้ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของไข้สมองอักเสบที่พบมาก ได้แก่
- ปัญหาด้านความจำ
- ปัญหาด้านบุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเปลี่ยน
- ปัญหาด้านการพูดและการใช้ภาษา
- ปัญหาด้านการกลืน
- ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น เครียด วิตก ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- ปัญหาด้านสมาธิ ความสนใจ การวางแผน การแก้ปัญหา
- ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว การเกร็งของกล้ามเนื้อ ความพิการ การเป็นอัมพาต
- อาการชัก
การป้องกันไข้สมองอักเสบ
การป้องกันไข้สมองอักเสบที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย และวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- มีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า โดยเฉพาะหลังเสร็จธุระในห้องน้ำและก่อนมื้ออาหาร
- ไม่ใช้ช้อน ส้อม หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
- ฉีดวัคซีนเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่อัตราเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของเกิดการติดเชื้อ เช่น
- รับวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ก่อนการเดินทางไปยังประเทศในแถบเอเชีย
- รับวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบจากเห็บ ก่อนเดินทางไปยังประเทศในแถบเอเชียและยุโรป (ยกเว้นประเทศอังกฤษ)
- รับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนเดินทางไปยังประเทศที่มีข้อจำกัดด้านการแพทย์และการรักษา