ไวรัสเอ็บสไตบาร์

ความหมาย ไวรัสเอ็บสไตบาร์

EBV (Epstein Barr Virus) หรือไวรัสเอ็บสไตบาร์ เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอซิส หรือที่เรียกกันว่าโรคติดต่อจากการจูบ ซึ่งทำให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เป็นต้น EBV เป็นไวรัสในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสเริม ซึ่งพบได้ทั่วไป โดยเชื้อดังกล่าวแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย การไอหรือจาม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ EBV ส่วนมากมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา

2048 EBV rs

อาการของ EBV

ผู้ป่วยหลายคนมักติดเชื้อไวรัส EBV ตั้งแต่ยังเด็กแต่มักไม่มีอาการแสดงออกมา หรืออาจมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ สำหรับผู้ป่วยวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจมีอาการดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลียเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ โดยการติดเชื้อ EBV อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บคอ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวมโตขึ้น ม้ามโต ตับโต มีผื่นขึ้น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อ EBV แล้ว เชื้อดังกล่าวจะแฝงตัวอยู่ในร่างกาย ในบางรายอาจเกิดการกำเริบของเชื้อขึ้นมาได้ แต่มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ยกเว้นแต่จะเป็นผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงจะมีอาการป่วยเกิดขึ้น

สาเหตุของ EBV

EBV มักติดต่อกันได้ง่ายและแพร่กระจายผ่านทางของเหลวในร่างกาย โดยเฉพาะน้ำลายและสารคัดหลั่งอื่น ๆ  โดยจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ EBV ได้จากหลาย ๆ ทาง เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกันกับผู้ป่วย การใช้แก้วน้ำ ช้อนส้อม หรือแปรงสีฟันร่วมกันกับผู้ป่วย การจูบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ การได้รับเลือด และการปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อครั้งแรกอาจแพร่กระจายเชื้อโรคได้นานหลายสัปดาห์โดยที่ไม่ทราบว่าตนเองนั้นติดเชื้อ และหาก EBV ที่อยู่ในระยะแฝงในร่างกายเกิดการกำเริบขึ้นมา ผู้ป่วยก็อาจแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรหลังจากการติดเชื้อก็ตาม

การวินิจฉัย EBV

เนื่องจากอาการของการติดเชื้อ EBV คล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ๆ อย่างไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จึงยากที่แพทย์จะทำการวินิจฉัยการติดเชื้อนี้ได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจตรวจร่างกายหาสัญญาณอาการของโรคโมโนนิวคลิโอซิส เช่น ม้ามหรือตับโต มีแผ่นบาง ๆ หรือจุดสีขาวบนต่อมทอนซิล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดหรือตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจหาสารภูมิคุ้มกันในเลือด โดยแพทย์จะตรวจหาสารภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ตรวจพบสารภูมิคุ้มกันมักกำลังติดเชื้อนี้อยู่หรือเคยติดเชื้อนี้มาก่อน
  • ตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิด แพทย์อาจตรวจจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ EBV ซึ่งอาจวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสจริงหรือไม่

การรักษา EBV

โดยทั่วไปแล้วยังไม่มีการรักษาการติดเชื้อ EBV โดยเฉพาะ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองที่บ้านเพื่อบรรเทาอาการจากการติดเชื้อได้หลายวิธี เช่น ดื่มน้ำให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวด เพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน และยานาพร็อกเซน เป็นต้น แต่ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการรายได้

สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ  EBV เมื่อกลับไปทำงานหรือกลับไปเรียนก็ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จนกว่าตนเองจะรู้สึกดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ EBV

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ EBV โดยส่วนใหญ่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น  ตับอักเสบ ดีซ่าน โลหิตจาง หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ  ม้ามโตมากจนอาจทำให้ม้ามแตกและเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมต่อไป

การป้องกัน EBV

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน EBV และเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่าย ทั้งยังอาจติดต่อกันได้จากผู้ที่มีเชื้อ EBV อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ จึงทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้บ้างหากปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารโดยใช้แก้วน้ำหรือช้อนส้อมร่วมกับผู้ป่วย รวมถึงการจูบหรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวอย่างแปรงสีฟันร่วมกับผู้ป่วย