ถาม-ตอบเรื่องโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

ฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Orthopoxvirus ที่ทำให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (Smallpox) คนที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมักมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และตุ่มแดงที่ผิวหนังทั่วร่างกาย โรคนี้พบครั้งแรกในสัตว์ตระกูลลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลอง และอาจพบในสัตว์อื่นด้วย เช่น กระรอก หนู และแพรี่ด็อก ก่อนจะเริ่มมีการติดเชื้อในคน

การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงพบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ตามด้วยพบผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบยุโรป และหลายพื้นที่มากขึ้น ทั้งจากคนที่เดินทางกลับจากแอฟริกา และคนที่ไม่มีประวัติไปแอฟริกามาก่อน

ถาม-ตอบเรื่องโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

1. ฝีดาษลิงแพร่กระจายอย่างไร

ฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายจากสัตว์จำพวกหนูและสัตว์ฟันแทะสู่คน โดยการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่ง การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน การกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก หรือติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

ขณะเดียวกันยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสเลือด หนอง ตุ่มที่ผิวหนัง น้ำลาย แผลในปาก และการหายใจเอาสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ที่สิ่งของ อย่างผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้าผู้ติดเชื้อ

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายผ่านน้ำอสุจิหรือของเหลวในช่องคลอดได้หรือไม่ แต่การสัมผัสใกล้ชิดขณะมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ไวรัสยังสามารถแพร่กระจายจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก หรือจากพ่อแม่ไปยังทารกหลังคลอดจากการสัมผัส 

2. อาการของฝีดาษลิงเป็นอย่างไร

ไวรัสฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวประมาณ 7–14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วันกว่าจะแสดงอาการ ระยะแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต 

หลังจากมีไข้ได้ 1–3 วันจะพบผื่นแดงตามร่างกาย โดยพบมากบริเวณใบหน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางคนอาจมีผื่นขึ้นที่ปาก ดวงตา หน้าอก ช่องคลอด และทวารหนัก ลักษณะของผื่นอาจเป็นผื่นราบ (Macule) หรือตุ่มนูนที่มีหนองด้านในที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด จากนั้นจะตุ่มหนองจะแตกออก และแห้งเป็นสะเก็ด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกัน บางคนอาจมีผื่นก่อนแล้วเกิดอาการอื่นตามมา หรือเกิดผื่นตามร่างกายอย่างเดียวโดยไม่มีอาการอื่น ๆ โดยในช่วงที่มีตุ่มน้ำตามตัวจะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วและง่ายที่สุด

3. ฝีดาษลิงอันตรายไหม รักษาได้หรือไม่

อาการของฝีดาษลิงมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่เด็กแรกเกิด เด็กเล็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อฝีดาษลิง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) และโรคปอดบวมร่วมกับหลอดลมอักเสบ (Bronchopneumonia) ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ฝีดาษลิงมักหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง ในเบื้องต้นอาจทำแผลเพื่อให้ผื่นที่ผิวหนังให้แห้งและหายได้เร็วขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสบาดแผลในปากหรือบริเวณดวงตา และรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ติดตามอาการเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัสในคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอที่อาจเกิดอาการรุนแรง

4. ป้องกันฝีดาษลิงได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงโดยตรง แต่คนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 จะได้รับการปลูกฝี ซึ่งเป็นการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษที่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% ส่วนคนที่เกิดหลังจากปีดังกล่าวจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ระบุว่าโอกาสที่โรคฝีดาษลิงจะแพร่ระบาดมายังประเทศไทยยังมีน้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องรับวัคซีนนี้

นอกจากนี้ การป้องกันโรคฝีดาษลิงทำได้โดยการดูแลสุขอนามัยของตนเองดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยให้คลุมบริเวณจมูกและปากอย่างมิดชิดเมื่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสกับผู้ป่วย สัตว์ที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ สัตว์ป่า หรือซากสัตว์ 
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค  
  • กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
  • ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของในบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะบนพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ผ้าปูที่นอน ลูกบิดประตู และชักโครก
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • ผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นมีการแพร่กระจายของโรค ต้องผ่านการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และกักตัวแยกจากผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

หากพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นขึ้นหรืออาการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายโรคฝีดาษลิง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นและสัตว์เลี้ยง

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่การแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบการระบาดแล้วในกว่า 75 ประเทศทั่วโลก และพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อฝีดาษลิงในไทยแล้วในวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หากมีข้อสงสัยหรือรู้สึกกังวลเกี่ยวกับโรค สามารถปรึกษาแพทย์หรือติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422