โรคฝีดาษ

ความหมาย โรคฝีดาษ

โรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) สามารถติดต่อกันได้ผ่านการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย

โรคฝีดาษ

โรคฝีดาษพบการระบาดครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2301 สำหรับในประเทศไทย การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่า 15,000 คน และการระบาดครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 มีผู้ป่วยเสียชีวิต 5 คน โดยตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ทำการกวาดล้างและป้องกันอย่างจริงจังจนอัตราการติดเชื้อลดลง เป็นผลให้พบการติดเชื้อตามธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2520 และในปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคฝีดาษถูกกวาดล้างจนหมดแล้ว จึงหยุดการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคนับแต่เป็นต้นนั้นมา โรคฝีดาษถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ต้องมีการแจ้งความต่อหน่วยงานสาธารณสุข โดยโรคนี้แบ่งเป็น 4 ชนิด แต่ที่มักพบในบ่อยในอดีต ได้แก่

  • วาริโอลา เมเจอร์ (Variola Major) เป็นโรคฝีดาษชนิดรุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะป่วยด้วยโรคฝีดาษชนิดนี้
  • วาริโอลา ไมเนอร์ (Variola Minor) เป็นโรคฝีดาษที่ไม่รุนแรง และพบได้น้อย มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าชนิดแรก

ส่วนโรคฝีดาษอีก 2 ชนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้น้อยในอดีต และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักได้แก่ โรคฝีดาษชนิดมีเลือดออก (Hemorrhagic Smallpox) ซึ่งทำให้มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ กับฝีดาษชนิดผื่นไม่นูน (Malignant Smallpox) เป็นฝีดาษชนิดที่จะไม่มีผื่นหรือตุ่มน้ำนูนให้เห็น แต่ก็มีความรุนแรงเช่นเดียวกับฝีดาษอื่น ๆ

ปัจจุบันยังคงมีตัวอย่างเชื้อไวรัสดังกล่าวที่เก็บไว้สำหรับการศึกษาและเฝ้าระวังการระบาดในอนาคต โดยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการเพียงไม่กี่แห่งในโลก

อาการของโรคฝีดาษ

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสวาริโอลาแล้ว เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7-17 วัน หลังจากนั้นจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • มีไข้สูง
  • รู้สึกไม่สบายตัว หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • ปวดหลังอย่างรุนแรง
  • อาเจียน

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียง 2-3 วันแล้วจึงทุเลาลง จากนั้นจะเริ่มมีผื่นสีแดงเรียบขึ้นที่บริเวณใบหน้า มือ และปลายแขน แล้วค่อย ๆ ลามไปที่ลำตัว ต่อมาผื่นสีแดงจะค่อย ๆ นูนขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 8-9 วันแผลจึงเริ่มตกสะเก็ด แล้วค่อย ๆ หลุด เหลือเพียงแผลเป็นในที่สุด ทว่าเชื้อมักจะสามารถแพร่กระจายได้ตั้งแต่เริ่มมีผื่นขึ้นจนกระทั่งสะเก็ดแผลหลุดร่วงไปจนหมด หากผู้ป่วยไม่มีอาการที่รุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายก็สามารถหายเป็นปกติได้ในเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ และอาจมีเพียงแผลเป็นให้เห็น

สาเหตุของโรคฝีดาษ

โรคฝีดาษมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือหายใจเอาละอองสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเข้าไปในร่างกาย นอกจากนี้การสัมผัสกับผื่นหรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยตรง ๆ โดยไม่ป้องกัน และการใช้เครื่องนอน เสื้อผ้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วยก็ทำให้ติดเชื้อได้

การวินิจฉัยโรคฝีดาษ

หลังจากได้รับเชื้อแล้ว เมื่ออยู่ในระยะฟักตัว จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่จะเริ่มเห็นความผิดปกติได้เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะแสดงอาการ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายภายนอก จากนั้นจะเก็บตัวอย่างเลือด ของเหลวจากตุ่มน้ำ เนื้อเยื่อบริเวณที่มีผื่นขึ้น และเสมหะในคอไปเพาะเชื้อ หรือทำการตรวจหารอยโรค หากพบว่าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสวาริโอลาในร่างกาย แพทย์จะรีบทำการรักษาทันที เพื่อไม่ให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น และจะต้องรีบแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุข เพราะถือเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินและร้ายแรงที่ต้องมีการรับมืออย่างเร่งด่วน

การรักษาโรคฝีดาษ

เนื่องจากในปัจจุบันโรคนี้ถูกกำจัดไปจนหมดแล้ว การรักษาจึงถูกจำกัดและใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อโดยตรง ซึ่งในการรักษาจะทำการรักษาตามอาการ และป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ต้องแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติและผู้ป่วยคนอื่น ๆ เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อกันได้ง่าย นอกจากนี้ ในการรักษา แพทย์อาจสั่งใช้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย และควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงมากขึ้น ระยะเวลาในการรักษาจะกินเวลาไปจนกว่าแผลตกสะเก็ดจะหายหมด  อีกทั้งยังควรให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวในสถานที่ที่สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย รวมถึงควรระมัดระวังรอยโรคที่จะเกิดขึ้นบริเวณดวงตา เพราะหากเกิดแผลหรือตุ่มน้ำอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

หากได้รับการฉีดวัคซีนภายใน 3 วันหลังจากรับเชื้อจะช่วยป้องกันการเกิดโรคฝีดาษได้ แต่หากไม่ทัน การได้รับวัคซีนภายใน 4-7 วันก็อาจป้องกันการติดเชื้อได้บ้าง แต่หากป่วยเป็นโรคฝีดาษก็จะไม่รุนแรงเหมือนคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีดาษ

มีเพียงน้อยรายที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่หายจากโรคนี้มักจะมีแผลเป็นที่ผิวหนัง ทว่าในผู้ป่วยบางรายก็เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • โรคปอดบวม (Bronchopneumonia)
  • โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
  • โรคกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)

หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการก็อาจรุนแรงมากจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ และหากเกิดตุ่มน้ำฝีดาษขึ้นที่บริเวณดวงตา ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้เช่นกัน

การป้องกันโรคฝีดาษ
เนื่องจากในปัจจุบันมีการประกาศว่าเชื้อไวรัสวาริโอลาได้ถูกกำจัดไปจนหมดสิ้นแล้ว จึงทำให้การป้องกันเหลือเพียงการเฝ้าระวังการระบาดที่อาจเกิดจากอาวุธชีวภาพ หรือการรั่วไหลของเชื้อจากห้องปฎิบัติการ แต่ก็ยังมีการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษหรือการปลูกฝีดาษเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มคนที่ต้องทำงานกับเชื้อโดยตรง และคนในหน่วยทหารที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากอาวุธชีวภาพ