รับมือกับเด็กร้องไห้อย่างไร ร้องไห้แบบไหนถึงผิดปกติ

การที่เด็กร้องไห้นั้นอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลอยู่ไม่น้อยว่าควรที่จะต้องรับมืออย่างไร จริง ๆ แล้วการร้องไห้ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เด็กทารกใช้สื่อสารคล้ายกับการพูดของผู้ใหญ่ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าการร้องไห้แบบต่าง ๆ มีความหมายอย่างไร และการร้องไห้แบบไหนที่ถือเป็นสัญญาณของความผิดปกติ ก็จะสามารถรับมือเมื่อลูกร้องไห้ได้อย่างเหมาะสม

การร้องไห้ของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไปและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการเติบโตของเด็กทารก เด็กบางคนร้องไห้เป็นเวลานาน บางคนร้องไห้เพียงครู่เดียว บางคนร้องไห้ถี่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจเกี่ยวกับลักษณะการร้องไห้บางประการที่น่าเป็นกังวล เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยหรือภาวะสุขภาพบางอย่างได้

เด็กร้องไห้

เด็กร้องไห้สื่อความหมายถึงอะไรได้บ้าง

เด็กทารกยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ จึงต้องสื่อสารออกมาด้วยการร้องไห้แทนเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าต้องการอะไรหรือมีสิ่งผิดปกติอะไรเกิดขึ้น การที่เด็กทารกร้องไห้อาจสื่อความหมายได้หลายประการ ดังนี้

หิวนม

อาการหิวนมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำให้เด็กร้องไห้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะเด็กแรกเกิด เนื่องจากเด็กแรกเกิดจะมีกระเพาะอาหารขนาดเล็กทำให้อิ่มไวและหิวบ่อย หากเด็กทารกร้องไห้หลังจากการให้นมครั้งล่าสุดประมาณ 3–4 ชั่วโมงแล้ว ให้คุณแม่ลองป้อนนมให้อีกครั้งอาจช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้

อยากให้อุ้ม

ในบางครั้งเด็กทารกก็ร้องไห้เพียงเพราะอยากให้คุณแม่อุ้ม เนื่องจากความอบอุ่นจากคุณแม่เป็นสิ่งที่เด็กทารกสัมผัสได้และคุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้อง หากคุณแม่ช่วยโอบกอดลูกในตอนที่กำลังร้องไห้ ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจและหยุดร้องไห้ได้

เหนื่อยและเพลีย

การที่เด็กทารกรู้สึกเหนื่อย เพลีย หรือง่วงนอน ก็อาจทำให้ร้องไห้โยเยได้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกร้องไห้ ไม่มีทีท่าสนใจของเล่นหรือสิ่งของรอบตัว รวมถึงมีอาการตาปรือหรือหาวบ่อย การกล่อมลูกให้หลับก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้ลูกน้อยของคุณหยุดร้องไห้ได้

ไม่สบายตัว

การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างอากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป หรือความเปียกชื้นของผ้าอ้อม ก็สามารถทำให้เด็กทารกไม่สบายตัวและร้องไห้ได้ หากลูกร้องไห้คุณพ่อคุณแม่อาจลองตรวจสอบเสื้อผ้าที่ลูกใส่อยู่ว่าทำให้อึดอัดหรือเกิดความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงควรตรวจอุณหภูมิภายในห้องให้เหมาะสมด้วย

ถูกกระตุ้นมากเกินไป

การที่เด็กร้องไห้อาจเป็นเพราะมีสิ่งรบกวนหรือสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เช่น อยู่ในบรรยากาศที่เสียงดัง หรือผู้คนรุมล้อมจะเล่นด้วย ทำให้เด็กทารกรู้สึกถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากเกินไปและเริ่มร้องไห้โยเย การพาเด็กทารกออกจากสถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึกโครมครามก็อาจช่วยให้เด็กรู้สึกดีขึ้นได้

ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ 

หลังออกมาจากท้องแม่ เด็กทารกจะต้องเจอกับสภาพแวดล้อมใหม่ รวมถึงสัมผัสจากคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้เด็กทารกรู้สึกกลัวและร้องไห้ออกมาได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรต้องให้เวลากับลูกในการปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกและกับบุคคลในครอบครัวทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ต่าง ๆ ด้วย

เกิดอาการเจ็บป่วย

อาการเจ็บป่วย เช่น ท้องอืด เป็นไข้ ตัวร้อน หรือมีบาดแผล ก็สามารถทำให้เด็กร้องไห้โยเยเพื่อสื่อสารอาการเจ็บป่วยออกมาได้เช่นกัน หากลูกร้องไห้ไม่ยอมหยุด คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบดูว่าร่างกายของลูกมีอาการบาดเจ็บใดหรือไม่ และหากมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นควรพาไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาป้อนให้ลูกรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้

เด็กร้องไห้แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ

หากเด็กทารกมีอาการร้องไห้รุนแรงและร้องไห้เป็นเวลานานในช่วงอายุตั้งแต่ประมาณ 2–3 สัปดาห์ไปจนถึงอายุ 3 เดือน อาจเป็นสัญญาณของอาการโคลิค (Colic) ซึ่งเด็กทารกที่มีอาการโคลิคอาจร้องไห้เป็นเวลามากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ร้องไห้ถี่มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และร้องไห้นานติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนเลยทีเดียว 

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการโคลิคได้ดังนี้

  • เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ยอมหยุด โดยอาจนานมากกว่า 3 ชั่วโมง
  • เด็กร้องไห้อย่างรุนแรง แผดเสียง หน้าแดง กำหมัด หรืองอขาเข้าหาหน้าท้อง
  • เด็กอาจมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ผิวคล้ำหรือผิวซีดร่วมด้วย
  • เด็กไม่ยอมกินนมตามปกติ หรือกินนมได้น้อยลงเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ
  • เด็กไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

สาเหตุที่ทำให้เด็กทารกมีอาการโคลิคนั้นอาจเป็นเพราะเด็กรู้สึกไม่สบายตัวจากการทำงานของระบบย่อยอาหาร แต่สาเหตุที่แท้จริงยังไม่สามารถสรุปได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตและแยกแยะให้ออกว่าอาการร้องไห้ของลูกไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ เช่น หิวนม ไม่สบายตัว หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป และควรพาไปพบแพทย์หากลูกมีสัญญาณของการอาการโคลิคเกิดขึ้น

รับมือกับเด็กร้องไห้อย่างไรให้อยู่หมัด

คุณพ่อคุณแม่แต่ละคนอาจมีวิธีปลอบเมื่อลูกน้อยร้องไห้แตกต่างกันออกไป เพราะเด็กแต่ละคนย่อมชอบวิธีการปลอบที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าหากปลอบด้วยวิธีที่ใช้ทั่วไปแล้วยังไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้วิธีการเหล่านี้ในการปลอบก็ได้เช่นกัน

  • กล่อมด้วยการอุ้มแล้วโยกไปมาเบา ๆ ขณะเดินหรือขณะนั่งบนเก้าอี้โยก รวมถึงการวางลงในเปลแล้วแกว่งเบา ๆ อาจช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้
  • เปลี่ยนท่าทางการให้นมเพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและสบายตัวขึ้น รวมถึงควรจับให้ลูกเรอหลังจากกินนมโดยการอุ้มพาดบ่าแล้วลูบหลัง เพื่อไล่ลมออกจากท้องและช่วยไม่ให้เกิดอาการท้องอืดด้วย  
  • ดึงดูดความสนใจของลูก ด้วยการเปลี่ยนบรรยากาศหรือทำกิจกรรมใหม่ ๆ หลังจากการร้องไห้ เช่น พาไปเดินนอกบ้าน เต้นหรือร้องเพลงให้ฟัง เพื่อช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นนั่นเอง
  • ใช้เสียงเพลงแบบไวท์ นอยซ์  (White Noise) ซึ่งเป็นเสียงที่ราบเรียบ มีความถี่สม่ำเสมอ คล้ายกับเสียงของไดร์เป่าผมหรือเสียงฝน เนื่องจากเด็กทารกจะคุ้นเคยกับเสียงหัวใจของแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การใช้เพลงจังหวะประมาณนี้อาจช่วยให้ลูกเงียบลงหรือเคลิ้มหลับได้
  • ร้องเพลงหรือฮัมเพลงเบา ๆ คลอไประหว่างการปลอบให้ลูกหยุดร้องไห้ เนื่องจากเด็กทารกจะคุ้นเคยและชอบได้ยินเสียงของแม่ รวมถึงอาจลองเปิดเพลงหลากหลายแนวให้ลูกฟัง เพื่อหาแนวเพลงที่ลูกชอบ ก็อาจเป็นอีกตัวช่วยที่ดีในการกล่อมเด็กร้องไห้ให้เงียบลงได้

และสิ่งสำคัญในการปลอบลูกให้หยุดร้องไห้นั่นก็คือ การเรียนรู้ว่าวิธีไหนที่ใช้ได้ผลกับลูกของคุณมากที่สุดและสามารถใช้กับสถานการณ์ใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถรับมือได้อย่างอยู่หมัดเมื่อลูกร้องไห้ในครั้งต่อไป

ปรับตนเองอย่างไรไม่ให้หัวเสียเมื่อลูกร้องไห้

การดูแลเด็กร้องไห้อาจเป็นเรื่องที่ยากและน่าหงุดหงิดใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่บางคน คุณพ่อคุณแม่จึงควรต้องรู้จักควบคุมอารมณ์เพื่อให้สามารถรับมือเมื่อลูกร้องไห้ได้อย่างเหมาะสม และสิ่งที่สำคัญคือไม่ควรเขย่าตัวอย่างรุนแรงเมื่อลูกร้องไห้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองหรือเกิดความพิการไปตลอดชีวิตได้ 

นอกจากนี้ เคล็ดลับบางอย่างอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้สึกหงุดหงิดหรือหัวเสียเมื่อลูกร้องไห้ เช่น

  • ทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กทารก ว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงอายุ 4 เดือน และหลังจากนั้นเด็กจะค่อย ๆ ร้องไห้น้อยลงเมื่อโตขึ้นเอง
  • ทำความเข้าใจว่าการร้องไห้ของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เด็กบางคนอาจร้องไห้นานหรือร้องไห้บ่อยกว่าเด็กคนอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกรณีที่ลูกของคุณงอแงบ่อย
  • ดูแลตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมรับมือเมื่อลูกร้องไห้อยู่เสมอ เช่น ไม่ปล่อยให้ตัวเองหิวหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะอาจส่งผลให้สภาพจิตใจไม่มั่นคงและเกิดอารมณ์โมโหได้ง่าย
  • อาจลองอยู่ห่างจากลูกน้อยในบางเวลาหรือหาเวลานอนกลางวัน เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
  • อาจขอความช่วยเหลือจากสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ให้ช่วยดูแลลูกน้อยบ้างเป็นครั้งคราวหากคุณเริ่มรู้สึกหงุดหงิด

อีกทั้งในปัจจุบันยังมีศูนย์ให้คำปรึกษาและคำแนะนำด้านการเลี้ยงดูบุตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสายด่วนของโรงพยาบาล องค์กร หรือมูลนิธิต่าง ๆ เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสายด่วนโรงพยาบาลเด็ก โทร. 1415 ดังนั้นหากเด็กร้องไห้งอแงแล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าจะต้องรับมืออย่างไร ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถขอรับคำปรึกษาได้