รู้จักช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจับลูกเรอ และวิธีจับลูกเรออย่างถูกต้อง

การเรียนรู้วิธีจับลูกเรอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกน้อยยังอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกน้อยมักเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารบ่อย ๆ และหากไม่ได้ถูกขับออกอาจทำให้ลูกเกิดรู้สึกไม่สบายตัว อิ่มไวผิดปกติ หรือแหวะนมออกมาได้

บทความนี้ได้รวบรวมเกี่ยวกับวิธีจับลูกเรอ เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทำตามได้อย่างถูกต้องกัน เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบถึงท่าที่ช่วยให้ลูกเรอที่ถูกต้อง แล้วควรจับลูกเรอตอนไหน และทำนานเท่าไร 

วิธีจับลูกเรอ ทำอย่างไรให้ถูกต้อง

ช่วงอายุและเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มจับลูกเรอ

ช่วงเวลาที่ควรจับลูกเรอคือช่วงที่ลูกอายุยังไม่เกินประมาณ 6 เดือน เนื่องจากหลังจากช่วงนี้ไปแล้ว ร่างกายของทารกจะเริ่มโตขึ้น ระบบทางเดินอาหารจะพัฒนาสมบูรณ์ขึ้นตามวัย และปัญหาแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารก็จะเริ่มลดน้อยลง 

โดยความถี่ที่ควรจับลูกเรอจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีโอกาสเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากกว่า เช่น เด็กที่ดื่มนมผงเป็นหลัก เพราะมักจะดื่มนมเร็วกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เด็กกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้น 

หลัก ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจยึดตามเกณฑ์ต่อไปนี้

  • เด็กที่ดื่มนมแม่ ให้จับลูกเรอทุกครั้งที่คุณแม่เปลี่ยนข้างเต้านมที่ให้นมลูก
  • เด็กที่ดื่มนมผง ให้จับลูกเรอทุกครั้งเมื่อลูกดื่มนมไปได้ประมาณ 60–90 มิลลิลิตร

คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกเรอทุกครั้งหลังจากที่ลูกดื่มนมเสร็จ ทั้งเด็กที่ดื่มนมแม่และนมผง กรณีที่ลูกน้อยหลับไปขณะให้นมสามารถปล่อยให้ลูกน้อยได้หลับตามปกติ โดยไม่ต้องปลุกลูกขึ้นมาให้เรอ นอกจากการจับเรอในช่วงหลังให้นมแล้ว ช่วงเวลาอื่นที่จะจับลูกเรออาจลองสังเกตจากสัญญาณบางอย่าง เช่น เมื่อลูกงอแงขณะดื่มนม บ้วนน้ำลาย  ลูกไม่ยอมดื่มนม หรือขณะที่ลูกดิ้นไปดิ้นมา 

3 วิธีจับลูกเรอที่ถูกต้อง

ก่อนจะอุ้มลูกเรอควรเตรียมผ้าสะอาดไว้รองบริเวณคางลูกน้อย เพราะเด็กอาจแหวะนมออกมาได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถจับลูกเรอได้หลายวิธีตามความถนัดและความสะดวกเป็นหลัก โดยแต่ละครั้งที่จับลูกเรอควรทำนานประมาณ 2–3 นาที 

วิธีที่ 1 

อุ้มลูกขึ้นมาให้คางลูกพาดไหล่คุณพ่อหรือคุณแม่ โดยใช้มือข้างใดข้างหนึ่งคอยประคองลูกเอาไว้ จากนั้นให้ใช้มืออีกข้างตบหรือลูบหลังลูกเบา ๆ

วิธีที่ 2

จับลูกนั่งหันหลังบนตักของคุณพ่อคุณแม่ โดยให้เอนตัวเด็กไปข้างหน้าเล็กน้อย จากนั้นใช้มือข้างใดข้างหนึ่งคอยประคองตัว พร้อมกับใช้นิ้วคอยประคองส่วนคางของลูกเอาไว้เสมอ แล้วใช้มืออีกข้างค่อย ๆ ตบหรือลูบหลังลูกเบา ๆ

วิธีที่ 3 

จับลูกนอนคว่ำบนตักโดยให้ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งคอยประคองที่อกและไหล่ของลูก โดยไม่ให้ศีรษะลูกอยู่ต่ำกว่าระดับลำตัว จากนั้นใช้มืออีกข้างค่อย ๆ ตบหรือลูบหลังลูกเบา ๆ

คุณพ่อคุณแม่อาจพบได้บ้างว่าเด็กอาจจะแหวะนมในระหว่างที่จับลูกเรอ กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากลูกเรอร่วมกับมีอาการอาเจียนพุ่ง อาเจียนเยอะ ท้องเสีย มีไข้สูง หรืออุจจาระปนเลือด ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจดูความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ