โปลิโอ (Poliomyelitis)

ความหมาย โปลิโอ (Poliomyelitis)

โปลิโอ (Poliomyelitis) เป็นโรคติดต่อที่สามารถทำให้เกิดอาการร้ายแรง สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอาจไปทำลายระบบประสาทจนส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีภาวะอัมพาต หายใจลำบาก หรือถึงแก่ความตายได้ โดยส่วนใหญ่เชื้อโปลิโอจะแพร่กระจายจากคนไปสู่คนผ่านการรับเชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระเข้าสู่ทางปาก

ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่เด็กทุกคนยังคงต้องได้รับวัคซีนป้องกันโปลิโอ เนื่องจากโปลิโออาจทำให้เป็นอัมพาต หรือร้ายแรงถึงชีวิต และปัจจุบันประเทศไทยยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคจากต่างประเทศ ทั้งจากเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติ และเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์

โปลิโอ

สาเหตุของโรคโปลิโอ

โรคโปลิโอเกิดจากไวรัสโปลิโอเชื้อสายพันธุ์ธรรมชาติ (Wild-type Poliovirus: WPV) มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, 2 และ 3 ที่จะอาศัยอยู่แต่ภายในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น โดยไวรัสชนิดนี้ติดออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโปลิโอ การสัมผัสกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง หรือเมื่อไอ จาม และแพร่กระจายผ่านการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมาในอาหารหรือน้ำที่รับประทานเข้าไป

ไวรัสโปลิโอจะเดินทางเข้าไปภายในปาก ผ่านลำคอ ลำไส้ แล้วจึงเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น หรือในบางกรณียังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังระบบประสาทในที่สุด โดยสามารถแพร่กระจายจากผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนเริ่มแสดงอาการไปจนถึงหลายสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏเลยก็ยังสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโปลิโอได้

นอกจากนี้ มีเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ (VDPVs) ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้เหมือนสายพันธุ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโปลิโอ ซึ่งยังพบในหลายประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น เมียนมา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ การให้วัคซีนจึงเป็นวิธีช่วยป้องกันโรคโปลิโอที่มีประสิทธิภาพ แม้ในประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคนี้แล้วก็ตาม 

โปลิโอพบบ่อยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แต่ก็อาจพบได้ในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโปลิโอ และมีภาวะต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะมีความไวต่อการได้รับเชื้อโปลิโอ
  • เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโปลิโอหรือเพิ่งเกิดการระบาดของโรคเมื่อไม่นานมานี้
  • เป็นผู้ดูแลหรืออาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อโรคโปลิโอ
  • ทำงานในห้องปฏิบัติการที่สัมผัสใกล้ชิดกับเชื้อไวรัส
  • ผู้ที่ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกไป
  • มีความเครียดมากเกิน หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนักหลังมีการสัมผัสกับไวรัส ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง

อาการโรคโปลิโอ

ผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอประมาณ 70–95% มักไม่มีอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการสามารถแบ่งกลุ่มตามอาการที่ปรากฏได้ดังนี้

1. กลุ่มไม่แสดงอาการหรือมีอาการคล้ายโรคหวัด (Abortive Polio)

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแสดงอาการเล็กน้อยคล้ายอาการหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 3–7 วัน และอาจมีอาการอยู่เพียง 2–3 วัน โดยร่างกายสามารถต่อสู้และกำจัดเชื้อออกไป เช่น 

2. กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic Polio)

ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคหวัด ร่วมกับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส โดยอาจมีอาการประมาณ 3–21 วัน โดยนอกจากมีอาการคล้ายไข้หวัด อาจแสดงอาการต่อไปนี้

  • คอแข็ง
  • รู้สึกชาหรือปวดแปลบเหมือนมีเข็มทิ่มที่แขนและขา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ไวต่อแสง

3. กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic Polio)

การติดเชื้อโปลิโอชนิดนี้พบได้น้อย โดยสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ เช่น โปลิโอไขสันหลัง (Spinal Polio) โปลิโอก้านสมองส่วนท้าย (Bulbar Polio) หรือชนิดที่เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างโปลิโอไขสันหลังและก้านสมองส่วนท้าย (Bulbospinal Polio)

อาการเบื้องต้นของโรคโปลิโอในกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักปรากฏในลักษณะคล้ายโปลิโอกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเริ่มแสดงอาการรุนแรงกว่า ดังนี้

  • สูญเสียการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรง
  • กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงแบบปวกเปียก บางครั้งมีอาการแย่ลงเพียงข้างใดข้างหนึ่ง
  • ภาวะอัมพาตเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร
  • บางคนอาจมีปัญหาด้านการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร

ทั้งนี้ อาการของโรคในผู้ป่วยกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักไม่พัฒนาเป็นภาวะอัมพาตอย่างถาวร แต่กรณีที่ไวรัสจะเข้าจู่โจมกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กหรือผู้ที่เป็นโปลิโอก้านสมองส่วนท้าย

4. อาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Post-polio Syndrome)

อาการกลุ่มนี้เป็นอาการที่อาจกลับมาเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อโปลิโอไปแล้วหลายสิบปี บางคนอาจเพิ่งมีอาการนี้หลังจากเวลาผ่านไปนานถึง 30–40 ปี โดยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • กล้ามเนื้อหรือข้อต่ออ่อนแรงลงเรื่อย ๆ
  • กล้ามเนื้อหดตัวหรือลีบลง
  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าหลังการทำกิจกรรมเล็กน้อย
  • มีปัญหาในการกลืนหรือหายใจ
  • ความผิดปกติของการหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • อดทนต่ออากาศหนาวได้น้อยลง

อาการโรคโปลิโอที่ควรไปพบแพทย์

เนื่องจากอาการโปลิโออาจคล้ายไข้หวัดใหญ่ จึงทำให้สังเกตได้ยาก หากพบว่าอาการไข้หวัดไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่น ๆ  ที่บ่งชี้โรคโปลิโอร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคโปลิโอมาก่อน หากกลับมามีอาการโปลิโอซ้ำ หรือมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคโปลิโอ

แพทย์จะวินิจฉัยโรคโปลิโอด้วยการสอบถามอาการ และตรวจร่างกายเบื้องต้นว่ามีอาการคอแข็งหรือไม่ มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนหรือหายใจหรือไม่ ตรวจดูปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย และภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจหาเชื้อไวรัสโปลิโอด้วยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอ อุจจาระ หรือน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างสารคัดหลั่งในลำคอจะตรวจหาเชื้อเจอเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกที่มีอาการเท่านั้น ส่วนการเจาะน้ำไขสันหลังจะช่วยตัดสาเหตุของโรคระบบประสาทอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

การรักษาโรคโปลิโอ

ปัจจุบันโรคโปลิโอยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามอาการ เร่งการฟื้นตัวและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น

อาการหลังการรักษาโรคโปลิโอจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่ร่างกายได้รับจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจมีผลการรักษาที่ดี แต่กรณีที่เกิดปัญหาระยะยาวจากการติดเชื้อโปลิโอ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาและการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีรักษาโรคโปลิโอ มีดังนี้

  • ให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ประคบร้อน และใช้ยา เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ออกกำลังกายเบา ๆ และทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อสูญเสียการทำงานและผิดรูปร่างไป และแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
  • ใช้อุปกรณ์ เช่น เฝือก หรืออุปกรณ์ช่วยพยุงแขนขาที่อ่อนแรง
  • บางรายที่มีปัญหาด้านการหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโปลิโอ

โรคโปลิโออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • ภาวะอัมพาตถาวร
  • อาการเจ็บปวดเรื้อรัง
  • กล้ามเนื้อหดสั้น (Muscle Shortening) ซึ่งอาจทำให้ข้อต่อและกระดูกผิดรูป
  • เกิดกลุ่มอาการหลังเกิดโปลิโอ

การป้องกันโรคโปลิโอ

การป้องกันโปลิโอแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

การฉีดวัคซีน

โรคโปลิโอป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีทั้งชนิดหยอด (Oral Polio Vaccine: OPV) และชนิดฉีด (Inactivated Poliomyelitis Vaccine (IPV) ซึ่งเดิมประเทศไทยใช้วัคซีนแบบหยอดชนิด 3 สายพันธ์ุ (tOPV) 

แต่ในปี พ.ศ. 2559 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกเลิกใช้วัคซีนโปลิโอแบบหยอดชนิด 3 สายพันธ์ุ เนื่องจากในวัคซีนนี้มีไวรัสโปลิโอชนิดหนึ่งที่มักพบว่ามีการกลายพันธุ์ จึงเปลี่ยนมาใช้วัคซีนชนิดฉีด (IPV) จำนวน 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน ร่วมกับรับวัคซีนหยอดชนิด 2 สายพันธ์ุ (bOPV) จำนวน 5 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปีตามลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อโปลิโอจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศได้ ในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มนำร่องการให้วัคซีนชนิดฉีด IPV เป็น 2 เข็ม เพื่อรองรับการระบาดของโปลิโอจากสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ โดยแนะนำให้เด็กฉีดวัคซีนสูตร 2 IPV + 3 OPV ดังนี้

  • ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) จำนวน 2 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน 
  • ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) จำนวน 3 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี

นอกจากนี้ ควรรับวัคซีนกระตุ้นเมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของโรค รวมถึงในกรณีที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 

การรักษาสุขอนามัย

นอกจากการฉีดวัคซีน การป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยรักษาสุขอนามัย เช่น

  • ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกฮอล์ล้างมือก่อนรับประทานอาหารเป็นประจำ และล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ถูกสุขลักษณะ และดื่มน้ำสะอาด 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่มีอาการไข้หวัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ