คอเคล็ด

ความหมาย คอเคล็ด

คอเคล็ด คืออาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณคอซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่พบสาเหตุการบาดเจ็บใด ๆ ที่เห็นได้ชัด หรือในบางกรณีอาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือแรงกระทบอย่างฉับพลัน ทำให้คอมีการยืดและหดเกร็งเร็วเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บและมีอาการเคล็ดตามมา อาการคอเคล็ดส่วนใหญ่รักษาให้หายได้ด้วยตนเองโดยการประคบเย็นและประคบร้อน หรืออาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดร่วมด้วย

คอเคล็ด

อาการคอเคล็ด

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณคอด้านที่เคล็ด และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวคอหรือศีรษะ บางคนอาจมีอาการคอแข็งและเคลื่อนไหวคอลำบาก รู้สึกปวดบริเวณศีรษะด้านหลังหรือท้ายทอย หลังช่วงบน และไหล่ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • วิงเวียนศีรษะ
  • เจ็บคอ
  • ได้ยินเสียงวี้ดหรือเสียงคล้ายแมลงหวี่ในหู
  • หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
  • อ่อนเพลีย
  • นอนไม่หลับ
  • มีอาการชาบริเวณมือหรือแขน

ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และควรไปพบแพทย์หากเกิดอาการผิดปกติต่อไปนี้ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการบาดเจ็บที่รุนแรงและอันตราย

  • ปวดรุนแรงบริเวณที่มีอาการเคล็ด
  • ขยับคอบริเวณที่บาดเจ็บไม่ได้
  • คอบวมนูนมากผิดปกติ
  • มีอาการชาบริเวณดังกล่าว ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือสีซีด
  • อาการไม่ดีขึ้นแม้จะบรรเทาอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้ว

สาเหตุของคอเคล็ด

อาการคอเคล็ดเกิดจากเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณคอมีแรงตึงมากเกินไปขณะมีการออกแรงโดยไม่ได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อก่อน หรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบาดเจ็บเสียหาย โดยปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเกิดอาการคอเคล็ด มีดังนี้

  • การใช้ร่างกายอย่างหักโหม
  • การเปลี่ยนทิศทางหรือความเร็วในการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน
  • การหกล้มในท่าทางผิดปกติ
  • การชนหรือปะทะกับสิ่งของหรือบุคคลอื่น
  • การขาดการออกกำลังจนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอและยืดหยุ่นได้ไม่ดี
  • การออกกำลังกายอย่างผิดวิธี หรือออกกำลังกายโดยไม่มีการอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอ

การวินิจฉัยอาการคอเคล็ด

อาการปวดและมีปัญหาในการเคลื่อนไหวคอ เป็นอาการของคอเคล็ดที่สังเกตได้ในเบื้องต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์หากมีอาการไม่รุนแรง แต่หากมีอาการค่อนข้างรุนแรงหรือมีอาการผิดปกติดังกล่าวไปข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย

ในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจด้วยการสังเกตท่าทาง การเคลื่อนไหว ตำแหน่งของศีรษะและคางว่าผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งฟังเสียงการไหลเวียนของเลือดบริเวณคอด้วยอุปกรณ์หูฟัง นอกจากนั้น แพทย์อาจตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน อาการกดเจ็บของกล้ามเนื้อ หรือประสาทสัมผัสบริเวณที่ใกล้กับคอ บางกรณีอาจใช้การเอกซเรย์ การทำ CT Scan หรือการทำ MRI หากสงสัยว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บบริเวณคออย่างรุนแรงหรือมีปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการคอเคล็ด เช่น โรคข้ออักเสบ การแตกหักของกระดูกสันหลัง การเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งของกระดูก เป็นต้น

การรักษาอาการคอเคล็ด

ผู้ป่วยที่คอเคล็ดสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยวิธีแก้คอเคล็ดต่าง ๆ โดยควรประคบเย็นในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่มีอาการ หลังจากนั้นจึงประคบร้อน หากมีอาการปวดหรือบวมสามารถรับประทานยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด และอาจรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวจากการบาดเจ็บคลายตัวลง

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบริเวณคอ อาจใส่เฝือกอ่อนช่วยพยุงและลดการเคลื่อนไหวของคอ เพื่อให้อาการเคล็ดหายเร็วขึ้น หรือนำผ้าเช็ดตัวมาม้วนแล้ววางรองใต้คอขณะนอนหลับเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคอเคล็ด

อาการคอเคล็ดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรงอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่ร้ายแรงอย่างไขสันหลังได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่อไปนี้ตามมา

  • แขนหรือขาอ่อนแรง
  • มีปัญหาในการเดิน
  • มีปัญหาในการควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระ

ดังนั้น หากผู้ป่วยรู้สึกปวดคอมากผิดปกติทันทีหรือมีอาการเหล่านี้หลังจากคอเคล็ด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย

การป้องกันอาการคอเคล็ด

คอเคล็ดป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อคอ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายเสมอ และมีการผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีหลังจากออกกำลังกาย นอกจากนี้ ควรหมั่นฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย รวมทั้งจัดท่าของร่างกายให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการคอเคล็ดได้